พระเครื่อง

'ญาณสังวร'แห่งกรุงรัตนโกสินทร์(6)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ญาณสังวร'แห่งกรุงรัตนโกสินทร์(6) : มนสิกุล โอวาทเภสัชช์รายงาน

             "วิสัยโลก จะต้องมีรัก แต่ให้มีสติควบคุมใจ มิให้ความรักมีอำนาจเหนือสติ"

             ฆราวาสธรรมจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นหลักใจที่นำมาใช้ได้ตลอดชีวิตของคฤหัสถ์เพื่อความสงบเย็นในการครองเรือน ด้วยเหตุนี้ รศ.สุเชาวน์ พลอยชุม อาจารย์พิเศษประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จึงได้นำหลักธรรมจากพระพุทธศาสนาเป็นธงชัยนำหน้าการดำเนินชีวิตยิ่งกว่าสิ่งใด โดยเฉพาะการได้ใกล้ชิดอุปัฏฐากเจ้าพระคุณสมเด็จฯ มาตลอดชีวิต ตั้งแต่บวชอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์กว่า 20 พรรษาตั้งแต่เป็นเณรน้อยจนกระทั่งเป็นพระภิกษุหนุ่ม แล้วในที่สุดก็ลาสิกขาในวัย 32 ปี หลังจากพบรักจนมีชีวิตคู่ก็ยังมาถวายงานรับใช้เจ้าพระคุณสมเด็จฯ จนกระทั่งพระองค์ท่านสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา ท่ามกลางความโศกเศร้าเช่นเดียวกับประชาชนไทยที่ต้องสูญเสียพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีพระชนมายุยืนนานถึง 100 ปี และอยู่เกื้อกูลชาวไทยและชาวโลกจนถึงพรรษาที่ 80   

             "เจ้าพระคุณสมเด็จฯ พยายามสอนให้ชาวบ้านเข้าใจว่า การปฏิบัติธรรม มันไม่ใช่เรื่องพิเศษ หรือเป็นเรื่องอะไรที่นอกเหนือไปจากชีวิต เพราะชีวิตคนเราต้องมีธรรมะทั้งนั้น ถ้าไม่มีธรรมะ มันเป็นชีวิตอยู่ไม่ได้ เช่น มันต้องรู้จักทำมาหากิน มีความขยัน มีความหมั่นเพียร รู้จักอดกลั้นความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง อย่างนี้ ถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านี้ ชีวิตคงไม่เป็นอย่างที่เป็นอยู่ ทำอย่างไรให้คุณธรรมได้รับการเพิ่มพูนพัฒนามากขึ้น เท่านั้นเอง แล้วความมีสติ รวมไปถึง ความเอาใจใส่ ความมีระเบียบก็จะตามมา"

             รศ.สุเชาวน์ รำลึกถึงสิ่งที่เจ้าพระคุณสมเด็จฯ มอบให้แก่ชีวิตของท่านอย่างใหญ่หลวงก็คือธรรมโอสถนี่เอง ที่ช่วยให้การครองเรือนของท่านราบรื่น สงบเย็นจนถึงทุกวันนี้แม้ว่าไม่มีทายาทสืบสกุล

             "สิ่งที่ผมได้จากเจ้าพระคุณสมเด็จฯ คือกิริยาวัตร กลายมาเป็นสิ่งที่เราซึมซาบ อยู่ในความรู้สึกนึกคิด จนเป็นนิสัยของเราไปด้วย ยี่สิบกว่าปีที่เป็นพระเป็นเณรอยู่กับท่าน จะเรียกว่าใกล้ชิด หรือไม่ใกล้ชิดก็สุดแล้วแต่ ท่านทำให้ผม ซึ่งเรียกได้ว่าโง่ๆ พอจะรู้อะไรขึ้นมาบ้าง จากสิ่งที่ท่านสอน ท่านทำให้ดู แนะนำเราในโอกาสต่างๆ จนซึมซาบเข้าสู่นิสัยแล้วนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน"

             การลาสิกขา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกของนักบวชที่เมื่อชัดเจนว่าไม่สามารถก้าวเดินต่อไปในร่มกาสาวพัสตร์ได้ก็สึกออกมาครองเรือน เช่น อาจารย์สุเชาวน์ เป็นต้น

             "ตามธรรมเนียมของวัดบวรนิเวศวิหาร ที่เจ้าอาวาสท่านปฏิบัติสืบต่อกันมา ท่านพระคุณสมเด็จฯ เคยรับสั่งให้ฟังว่า วัดนี้ไม่มีธรรมเนียมว่าไม่ให้ใครสึก ใครอยากสึกก็สึก ท่านไม่ว่าอะไร ที่วัดมีกติกาว่า ปีหนึ่งมีวันให้ลาสิกขาได้ 3 ครั้ง ประมาณแรม 1 ค่ำเดือน 11 ครั้งหนึ่ง แรม 8 ค่ำ เดือน 12 อีกครั้ง และ แรม 8 ค่ำเดือนอ้าย เท่านี้เอง ถ้าลาวันอื่นก็ไม่รับลา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครก็แล้วแต่มาลาสิกขา เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ก็ไม่ห้าม อย่างดีท่านก็รับสั่งว่า เอาไปคิดดูให้ดีๆ ซะก่อนว่าตั้งใจหรือตัดสินใจดีหรือยัง

             "หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย แล้วพระองค์ก็โปรดให้ไปเรียนต่อที่ประเทศอินเดียอีก 2 ปี กลับมาก็มารับใช้พระองค์ท่านอยู่อีกปีกว่าๆ เกือบสองปีก็สึก พระองค์ท่านก็ไม่รับสั่งว่าอะไร ให้ตัดสินใจเอาเองว่าจะอยู่หรือจะสึก ท่านก็ไม่ห้าม หลังจากสึกแล้วก็ยังรู้สึกว่าเป็นลูกศิษย์พระองค์ท่าน ยังมารับใช้ท่านในเรื่องที่เราพอจะรับใช้ได้มาตลอด ตอนลาสิกขาอายุ 32 ปี สึกแล้วก็ไปเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แต่ก็ยังมารับใช้งานพระองค์ท่านอยู่ตลอดจนถึงปัจจุบัน "

             หลักการครองเรือนของ อ.สุเชาวน์ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้เรานำมาเป็นตัวอย่างได้ว่านี่คือความงดงามของพระธรรมที่นำไปใช้ได้ในทุกเรื่องจริงๆ

             "คนเราจะครองเรือนกันไปได้ก็มาจากเหตุสองอย่าง คือ เหตุจากอดีต ที่เรียกว่า บุพเพสันนิวาส กับเหตุปัจจุบัน คือการอยู่ใกล้ชิดกัน ได้ทำงานร่วมกัน มีมิตรไมตรีต่อกัน มันก็กลายเป็นความคุ้นเคย หรือจะเรียกว่าความรักก็ได้ ผมไม่มีลูก อายุตอนนี้ก็ 68 ปี เกษียณมา 8 ปีแล้ว และผมไม่ใช่คนที่เรียกว่าปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง น่าจะเป็นนักปริยัติมากกว่า เรียนเพื่อสอน

             "การปฏิบัติธรรมในทางพุทธศาสนา ไม่ได้หมายความว่าต้องไปวัดนั่งสมาธิ ไม่จำเป็น เป็นการนำเอาธรรมะมาใช้ในชีวิต แม้ว่าจะเข้าวัดนั่งสมาธิ แต่ไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตก็ไม่เรียกว่าผู้ปฏิบัติธรรม เพราะในชีวิตของแต่ละคน โอกาสที่จะเข้าวัดมีไม่ได้ทุกวัน แต่ธรรมะจำเป็นสำหรับชีวิตทุกวัน ไม่ว่าจะอยู่นอกวัดหรือในวัดมันต้องมีธรรมะ ใช่ไหม ถ้าคนเข้าใจแบบนี้ ก็จะเข้าใจว่า การนำธรรมะมาใช้ในชีวิตไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องยาก ที่สำคัญก็คือ ธรรมะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับชีวิต เพราะธรรมะ คือแนวทางดำเนินชีวิตที่ดี สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นธรรมะทั้งนั้น

             "ธรรมะ หรือที่เราเรียกว่า คุณธรรม ก็หมายถึงการที่ก่อให้เกิดสิ่งที่ดีๆ ขึ้นในชีวิต มันเป็นเรื่องธรรมชาติของชีวิต เป็นเรื่องที่มีเป็นพื้นฐานของชีวิตอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรมก็คือการกระตุ้นและการพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้พัฒนามากขึ้น เจริญมากขึ้น"

             การสืบเนื่องทางธรรมนั้นเป็นดั่งสายน้ำ หลังจากอาจารย์สุเชาวน์ลาสิกขา พระอาจารย์แครอล กนฺตสีโล ชาวอเมริกันก็บินข้ามน้ำข้ามทะเล ข้ามภูเขามาประเทศไทยถึงสามครั้งเพื่อขอบวช และในที่สุดก็ได้บวช และได้อยู่ถวายงานเป็นหนึ่งในผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชจนถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่อายุยี่สิบกว่าปีต้นๆ 

             "เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เคยพูดไว้ในหนังสือ 'ชีวิตนี้น้อยนัก' ว่า ชีวิตนี้สำคัญในเชิงปฏิบัติ เพราะเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ สำหรับช่วงต่อไป ถ้าเราทำดีก็ดีไป ถ้าเราทำไม่ดีก็จะไม่ดีไป เพราะฉะนั้นการฝึกฝนตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าเราจะเป็นนักบวชหรือฆราวาส เราควรเห็นว่า ณ ขณะนี้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก ถ้ามันผ่านพ้นไปแล้ว ก็จะเรียกมันกลับคืนมาไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราทำอะไร ควรทำด้วยสติ เพราะสติสัมปชัญญะมีคุณแก่เรามาก เจ้าพระคุณสมเด็จฯ สอนอย่างนี้"

             สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก จึงได้ชื่อว่าเป็นเสาหลักในบวรพระพุทธศาสนา แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่สืบเนื่องสายธารธรรมจากพระพุทธองค์อย่างไม่ขาดสายมาจนถึงทุกวันนี้ เพื่อความผาสุกของพุทธบริษัทและสหธรรมมิกต่างศาสนา ดังราชธรรมกับการพัฒนาสังคมที่พระองค์ท่านได้มอบไว้ว่า...

             "ทุกคนที่รวมอยู่ในหมู่คณะ หรือประเทศชาติเดียวกัน ต่างต้องรับผิดชอบต่อความผาสุกของกันและกันด้วยกันทั้งนั้น  แต่สำหรับผู้นำ ในฐานะที่เป็นผู้นำ จำต้องปฏิบัติตนให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ดี แก่ผู้ตามหรือผู้อยู่ในปกครองเป็นอันดับแรก จึงจะสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำ ฉะนั้น ผู้นำจึงอยู่ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบหนักกว่าผู้อื่นในหมู่เดียวกัน ด้วยเหตุนี้เอง ในทางพระพุทธศาสนาจึงเน้นการปฏิบัติธรรมของผู้ที่เป็นผู้นำหรือผู้ปกครองหมู่คณะ หรือประเทศชาติมาก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ