Lifestyle

เยือนถิ่นปกากะญอ'บ้านผาหมอน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เยือนถิ่นปกากะญอ บ้านผาหมอน : คอลัมน์ถิ่นไทยงาม

                หากเอ่ยถึงทุ่งนาขั้นบันได ถิ่นชาวไทยภูเขา แห่งดอยอินทนนท์ หลายคนรู้จักดีกับชื่อของบ้านแม่กลางหลวง ที่อยู่ระหว่างทางขึ้นอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ แต่ขณะเดียวกัน ชื่อชั้นของ บ้านผาหมอน ก็ตามมาติดๆ จากความงามบริสุทธิ์ของธรรมชาติ และบรรยากาศของนาขั้นบันไดในช่วงฤดูฝน ระหว่างพฤษภาคม ถึงราวๆ พฤศจิกายน ขณะที่อ่านกันอยู่นี่ นาบางแปลงก็เริ่มเก็บเกี่ยวกันแล้ว แต่ก่อนจะมาถึงวันนี้ ที่นี่บ่มเพาะพัฒนาจนเกิดเป็นชุมชนเข้มแข็ง

                บ้านผาหมอน อยู่ระหว่าง กม.ที่ 23 เส้นทางขึ้นดอยอินทนนท์ จากถนนเข้าไปอีกราวๆ 7 กม. เส้นทางลาดยางบ้าง ดินแดงบ้าง ฝั่งหนึ่งของถนนเป็นหุบเหว ธารน้ำไหล สายน้ำตกเล็กๆ สะท้อนความร่มเย็น ขณะที่อีกฝั่งติดเขา ต้นไม้ใหญ่ริมทางสะท้อนความร่มรื่น จนผ่านบ้านหนองหล่ม (ที่เริ่มพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเช่นกัน) ไปอีกราวๆ 2 กม. จะเห็นภาพของท้องทุ่งนาขั้นบันได และแปลงดอกไม้ กว้างใหญ่ในหุบเขา มีบ้านสีชมพู และบ้านเล็กๆ อีกสองหลัง อยู่ใกล้กัน มุมนี้เองเป็นตัวดึงนักท่องเที่ยวมาเยือนไม่เว้นวาย

                หมู่บ้านเล็กๆ แห่งนี้ มีประชากรไม่น้อยกว่า 500 คน หรือ 150 กว่าครัวเรือน เป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงปกากะญอ อพยพมาจาก อ.แม่สะเรียง และอ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อร่วม 200 ปีก่อน แต่การปกครองคืบคลานเข้าไปถึงหลังจากมีการตั้งถิ่นฐานชุมชนร่วม 40 ปี

                การท่องเที่ยวของบ้านผาหมอน เริ่มมาเมื่อปี 2549 ถึงวันนี้ก็ยังเปรียบเสมือนเมืองปายที่เพิ่งแตกเนื้อสาว เพราะการดูแลจัดการอย่างเป็นระบบและการสร้างความเข้าใจของชุมชน

                "ที่นี่เราใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและจัดการชุมชน และเราต้องทำก่อนที่การท่องเที่ยวจากภายนอกจะเข้ามาจัดการ จนชุมชนเสียหายหรือเกิดปัญหา" สุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์ ผู้ประสานงานบ้านผาหมอนบอกเล่าให้ฟัง

                การท่องเที่ยวของบ้านผาหมอน จึงเริ่มจากการวิจัยการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่จัดทำโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) เพื่อให้ชุมชนได้ประโยชน์สูงสุด ภายใต้การใช้ทรัพยากรชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปจนถึงขีดจำกัดของชุมชน แล้วเริ่มดำเนินการท่องเที่ยวกับบริษัททัวร์ต่างชาติที่ทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจ นักท่องเที่ยวกรุ๊ปแรกๆ ที่มาเยือนบ้านผาหมอนแห่งนี้ เลยเป็นชาวต่างชาติเสียส่วนใหญ่ โดยเฉพาะฝรั่งเศส ก่อนที่ชื่อเสียงของที่นี่จะแพร่มาสู่หมู่นักท่องเที่ยวคนไทย ที่เริ่มสนใจการท่องเที่ยวตามวิถีชุมชน และโหยหาความสงบและธรรมชาติ

                บ้านพักเพียง 1 หลังใหญ่ ที่เรียกขานว่า แบมบูพิงก์เฮ้าส์ กับหลังเล็กที่สำรองไว้ เสมือนเป็นที่จัดการท่องเที่ยวร่วมกันของหมู่บ้าน เมื่อนักท่องเที่ยวมาพัก นอกจะเสียค่าที่พักแล้ว ยังต้องบำรุงสมทบกองทุนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชุมชน เป็นจำนวนเงิน 20 บาทต่อครั้งต่อคน แต่เท่าที่ดูจากสมุดเยี่ยมและสมุดบริจาคจะเห็นว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่ร่วมกันสมทบเงินบริจาคเพิ่มเติม จนปัจจุบันชุมชนได้นำเงินส่วนนี้มาสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนหลากหลายกิจกรรม เช่น ทุนการศึกษา การทำแนวกันไฟ ฯลฯ

                ทุกวันนี้ ชาวบ้านแต่ละครอบครัวมีงานการทำของตัวเอง ทำนาบ้าง หมดหน้านาก็หันมาปลูกซูกินี่ หรือแตงกวาญี่ปุ่น ปลูกดอกไม้บ้าง เป็นความสุขสงบของชุมชน นักท่องเที่ยวอย่างฉันก็มีความสุขที่เห็นนกตัวเล็กๆ มาบินเล่นกันเหนือยอดข้าว หรือยอดหญ้า

                "ชาวบ้านส่วนใหญ่เขาพอใจนะ บอกพอแล้ว ที่การท่องเที่ยวของบ้านผาหมอนไม่โตเร็วไปกว่านี้" สุรสิทธิ์บอก แม้ช่วงแรกต้องอธิบายความกับชาวบ้านในการจัดการท่องเที่ยวร่วมกัน และเมื่อใครๆ ก็พูดถึงบ้านผาหมอน บ้านผาหมอน ก็ต้องอธิบายเพิ่มขึ้นให้ชาวบ้านเข้าใจ เพื่อไม่ให้ทรัพยากรชุมชน ไปจนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น ความเป็นชนเผ่าปกากะญอต้องเสียไป

                 เพราะการท่องเที่ยวของบ้านผาหมอนไม่ใช่รายได้หรือกิจกรรมหลัก แต่เป็นเพียงเครื่องมือของการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืนนั่นเอง

 

หมายเหตุ : ติดต่อ : สุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์  ฝ่ายประสานชุมชน 09-1858-2043

 

 .........................

(เยือนถิ่นปกากะญอ บ้านผาหมอน : คอลัมน์ถิ่นไทยงาม)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ