พระเครื่อง

‘ธนารักษ์’จัดสร้างเหรียญที่ระลึก'พระคลังเพชรยอดมงกุฎ'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘ธนารักษ์’จัดสร้างเหรียญที่ระลึก'พระคลังเพชรยอดมงกุฎ'

            ประเทศไทย มีประวัติศาสตร์สืบเนื่องมายาวนาน   โดยเฉพาะเรามีสมบัติทางศิลปะของแผ่นดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีค่า อันสะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองในอดีต และถือเป็นความภาคภูมิใจในรากเหง้าทางศิลปกรรม ตลอดจนวัฒนธรรมอันดีงาม

            ทรัพย์สินที่มีค่าของแผ่นดินไทยซึ่งถือเป็นตัวแทนการบอกเล่าทางประวัติศาสตร์ไทยได้เป็นอย่างดี เหล่านี้ได้รับการสืบทอดกันมาแต่ละยุคจนกระทั่งถึงปัจจุบัน จนสามารถให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสพบเห็นกัน ซึ่งรูปแบบของการจัดเก็บและดูแลรักษาอย่างเป็นรูปธรรม อาจจะกล่าวได้ว่า เริ่มในรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๕ ได้จัดตั้ง “กรมเก็บ” ขึ้นมาเพื่อดูแลทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน

             และสิ่งที่น่าสนใจอันเกี่ยวกับคติความเชื่อของไทยมาแต่โบราณ คือ การมี “เทพยดาอารักษ์” ในการช่วยปกปักรักษาสิ่งอันมีค่าของแผ่นดินนี้ไว้ ดังปรากฏเป็น “เทวรูป” ผู้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาทรัพย์สมบัติ หรือที่เรียกว่า “พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ” ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วยเช่นกัน

            “พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ” มีลักษณะเป็น “เทวดายืน พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว” ประดิษฐานอยู่ที่ตึกกองคลัง อันเป็นที่ตั้งของ “พระคลังมหาสมบัติ” เปรียบเสมือนมีเทวดาปกปักรักษาทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินที่ดำรงอยู่ ณ ที่นั้น

            ตามประวัติ ในรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๔ ได้มีการสร้าง “พระสยามเทวาธิราช”  ขึ้นเพื่อปกปักรักษาประเทศให้รอดพ้นจากภยันตรายต่างๆ ดังเป็นพระราชดำริว่า “ประเทศไทยมีเหตุการณ์ที่ต้องเสียอิสรภาพหลายครั้ง แต่รอดพ้นภยันตรายมาได้เสมอ คงมีเทพยดาที่ศักดิ์สิทธิ์คอยอภิบาลรักษาอยู่” จึงโปรดให้จัดสร้าง “พระสยามเทวาธิราช” ขึ้น มีลักษณะเป็น “เทวดายืน พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นจีบเสมอพระอุระ” ประดิษฐานอยู่บนพระบรมมหาราชวัง

            ครั้นในรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๕ “สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์” ซึ่งทรงกำกับดูแลกรมพระคลังมหาสมบัติ ได้ทรงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” สร้าง “เทวรูปพระคลัง” เพื่อให้เป็นที่คุ้มครองปกปักรักษาพระราชทรัพย์ของแผ่นดินที่รวมเก็บไว้ในพระคลังมหาสมบัติ และให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวแก่ข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่รับราชการในกรมพระคลังมหาสมบัติ ให้มีขวัญกำลังใจยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต โดยขอพระบรมราชานุญาตทำรูปปั้น “เทวรูปพระคลัง” ลักษณะคล้าย “พระสยามเทวาธิราช” เป็นบางส่วน ซึ่งมีการสันนิษฐานกันว่า การสร้าง “พระคลัง  ในพระคลังมหาสมบัติ” ขึ้นก็เพื่อคอยปกป้องรักษาทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน   เฉกเช่น “พระสยามเทวาธิราช” ที่คอยปกป้องแผ่นดินนั่นเอง

            ประกอบกับเมื่อพิจารณาเทวลักษณะของ “พระสยามเทวาธิราช” กับ “พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ” ซึ่งมีความ “คล้าย” กันอยู่มาก กล่าวคือ พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ลักษณะคล้ายกัน  พระหัตถ์ขวา “พระสยามเทวาธิราช” เป็นจีบเสมอพระอุระ ในขณะที่พระหัตถ์ขวา “พระคลัง  ในพระคลังมหาสมบัติ” ถือดอกบัว  เปรียบเสมือนความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ  ทรัพย์สินและสิ่งของมีค่า ที่มีเทพยดาคอยปกป้องคุ้มครอง

            “พระคลังมหาสมบัติ” ยังมีศิลปะในการสร้างที่งดงามแบบไทยโบราณ ด้วยฝีมือช่างหลวงในสมัยรัชการที่ ๕ โดยมีลักษณะเป็น “เทวรูป” ประทับยืนบนฐานปัทม์ กายวิภาคเจ็ดส่วนครึ่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลผสมผสานจากไทยโบราณและตะวันตก พระเศียรทรงพระชฎา แต่เครื่องทรงแบบกษัตราธิราช ทรงพระภูษานุ่งจีบ ในขณะเดียวกันมีลักษณะทรงผ้าโรยเชิงด้านหลัง พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ ซึ่งหมายถึงอำนาจในการปกป้องอาณาเขต และลงโทษผู้ที่ล่วงละเมิดเข้ามา 

            พระหัตถ์ซ้ายทรงดอกบัว ซึ่งหมายถึงสุดยอดแห่งทรัพย์สมบัติ นั่นก็คือ ทรัพย์สมบัติในพระคลังหลวง

            การสร้าง “เหรียญพระคลังในพระคลังมหาสมบัติ”  ครั้งแรกของกรมธนารักษ์

            หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของ “กรมธนารักษ์” ตั้งแต่ในสมัย “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่  ๕ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "กรมเก็บ" ขึ้นในเขตพระบรมมหารราชวังเพื่อดูแลและจัดเก็บทรัพย์สินแผ่นดิน ต่อมาในรัชสมัย “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๖ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น  "กรมพระคลัง มหาสมบัติ" และภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พ.ศ. ๒๔๗๖ ในรัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมพระคลังมหาสมบัติ, กรมเงินตรา, กรมรักษาที่หลวงและกัลปนา และกรมกระษาปณ์สิทธิการ เข้าด้วยกันเรียกว่า  “กรมพระคลัง” และเปลี่ยนชื่อมาเป็น “กรมคลัง” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “กรมธนารักษ์” เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๙๕ และเป็นที่มาว่า เหตุใด ข้าราชการของ “กรมธนารักษ์” จึงมีความเชื่อถือและเคารพในองค์ “พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ” กับสืบต่อกันมา

            “กรมธนารักษ์” ในฐานะที่ได้ดูแลทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินมาตั้งแต่สมัยอดีต ซึ่งทรัพย์สินที่อยู่ในความดูแลแต่ละชิ้นล้วนทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทยและแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมผ่านงานศิลปกรรมชั้นครูที่งดงามยิ่ง ซึ่งเป็นช่างฝีมือในพระราชสำนัก โดยมีมากถึงกว่า ๙๐,๐๐๐ รายการ

            ในปัจจุบัน ทรัพย์สินส่วนหนึ่งได้นำมาจัดแสดงที่ศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จัดแสดง “ฉลองพระองค์ครุย"  ทำด้วยผ้ากรองทองยาวถึงเข่าปักดิ้นทองเป็นลวดลายที่มีความวิจิตรงดงาม ที่ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้น

            นอกจากนั้นยังมี "เงินตราโบราณ" ที่มีคุณค่าจำนวนมหาศาลทุกสกุล และครบทุกยุคตั้งแต่อาณาจักรฟูนัน เป็นต้นมา
ในโอกาสที่ “กรมธนารักษ์” ครบรอบการสถาปนา ๘๐ ปี เมื่อพ.ศ.๒๕๕๕ และเพื่อเป็นการเผยแพร่เรื่องราวประวัติศาสตร์ทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ และการครบรอบ ๘๐ ปี กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จึงได้ดำเนินการจัดสร้าง “เหรียญที่ระลึกพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ“ ขึ้นเพื่อนำรายได้ไปดูแลรักษาทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ให้คงอยู่สืบไปให้คนรุ่นหลังทั้งคนไทยและชาวต่างชาติได้มีโอกาสศึกษา และรายได้อีกส่วนหนึ่งจะนำไปสนับสนุนด้านการศึกษาในโครงการ “เพชรยอดมงกุฎ” ซึ่งเป็นโครงการที่ พระธรรมภาวนาวิกรม (เจ้าคุณธงชัย) วัดไตรมิตรวรวิหาร ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างนักเรียนเพื่อให้เกิดความเป็นเลิศในด้านการศึกษา ๑๐ สาขาวิชา  เพื่อให้สามารถแข่งขันทัดเทียมกับต่างประเทศได้ โดยดำเนินการมากว่า ๑๐ ปี อาทิ สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณิตศาสตร์  ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และอีก ๖  สาขา  รายได้อีกส่วนหนึ่งจะเป็นสวัสดิการของกรมธนารักษ์

            ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้นหลังจากที่เรื่องราวขององค์พระคลังในพระคลังมหาสมบัติ ได้รับการถ่ายทอดออกสู่สาธารณชน “เหรียญที่ระลึกพระคลังในพระคลังมหาสมบัติ” ที่มีการจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก  เป็นที่ต้องการของประชาชนจำนวนมาก จนเหรียญพระคลัง รุ่น ๘๐ ปีธนารักษ์ หมดลงในเวลาอันรวดเร็ว และสร้างประวัติศาสตร์ยอดผลิตและยอดจำหน่ายเหรียญที่ระลึกของกรมธนารักษ์อีกด้วย

            พระธรรมภาวนาวิกรม  (เจ้าคุณธงชัย)  วัดไตรมิตรวรวิหาร  : ความเกี่ยวข้องกับนิมิตเรื่องพระคลัง
ในการทำพิธีศักดิ์สิทธิ์ “เทวาภิเษกเหรียญพระคลังในพระคลังมหาสมบัติ” ครั้งนั้น พระธรรมภาวนาวิกรม (เจ้าคุณธงชัย) วัดไตรมิตรวรวิหาร ได้ตอบรับเป็นประธานในพิธีอธิษฐานจิต เนื่องด้วยอธิบดีกรมธนารักษ์ ดร.นริศ ชัยสูตร ได้เล่าให้ฟังถึงการดูแลรักษาทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน  ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ ที่คอยปกปักรักษาทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ซึ่งตรงกับสิ่งที่ท่านได้คิดอยู่พอดี (มีนิมิตว่าเห็นพระเกตุส่องรัศมีที่จะมาช่วยบ้านเมืองด้านเศรษฐกิจในช่วงนี้ ซึ่งท่านก็หาอยู่นานว่าจะเป็นเทพองค์ใด ด้วยว่าไม่เคยทราบเรื่องพระคลังในพระคลังมหาสมบัติมาก่อน จนกระทั่งทราบจากดร.นริศ อธิบดีกรมธนารักษ์ซึ่งต้องตรงกันพอดี)

            การออกแบบและการจัดสร้างเหรียญพระคลัง  ในพระคลังมหาสมบัติ รุ่น ๘๐ ปีกรมธนารักษ์

            “พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ” เป็นรูปปั้นมีลักษณะเป็นเทวดาหล่อยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช สวมมงกุฎยอดชัย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว เปรียบเสมือนมีเทวดาปกปักรักษาทรัพย์สมบัติทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน โดยผู้อำนวยการสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน “นางพุทธชาติ อรุณเวช” ได้ปั้นแม่พิมพ์โดยอัญเชิญแบบฉบับจากองค์จริงเต็มองค์มาประทับบนเหรียญ โดยได้ทำแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นเหรียญรูปไข่ ด้านหน้า กลางเหรียญมีรูป “เทวรูปพระคลัง” เต็มองค์ ประทับยืนบนแท่นทรงเครื่องกษัตริยาธิราชสวมมงกุฎยอดชัยพระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงดอกบัว เบื้องหลังเทวรูปพระคลังเป็นรูปพระวิมานเก๋งจีนที่เทวรูปพระคลังสถิตอยู่

            ด้านหลัง กลางเหรียญมีตราสัญลักษณ์กรมธนารักษ์ เบื้องบนรูปตราสัญลักษณ์มีข้อความว่า “พระคลัง” “ใน” “พระคลังมหาสมบัติ” เบื้องล่างมีข้อความว่า “ ครบ ๘๐ ปี”  “กรมธนารักษ์” “กระทรวงการคลัง” “พ.ศ.๒๕๕๕” ตามลำดับ ภายในชิดขอบเหรียญโดยรอบประดับด้วยลายไทย สะท้อนถึงศิลปะและความเป็นไทย เมื่อดูโดยองค์รวมทั้งหมดของเหรียญจะสมบูรณ์ทุกส่วน ทั้งมิติของความงามของงานศิลปะ ความศักดิ์สิทธิ์ ความสงบ และความศรัทธา

            ในส่วนของการผลิตเหรียญ จะมีกรรมวิธีการทำที่ละเอียดทุกขั้นตอน โดยเฉพาะในขั้นตอนการผลิต เหรียญขัดเงา  เหรียญพ่นทรายรมดำพิเศษ ซึ่งจะผลิตโดยกรรมวิธีทำด้วยมือทุกเหรียญ เพื่อให้เหรียญออกมาดูมีมิติในทุกๆ ด้าน
 

            กรมธนารักษ์สร้างเหรียญพระคลังเพชรยอดมงกุฎ ตอบสนองความศรัทธาสาธารณชน

            ล่าสุดเพื่อเป็นการตอบสนองพลังความศรัทธาของประชาชนที่ยังมีความต้องการบูชาเหรียญที่ระลึกพระคลังฯ กรมธนารักษ์จึงได้จัดสร้าง “เหรียญพระคลังเพชรยอดมงกุฎ” ที่มีการออกแบบทางด้านศิลปะที่สวยงาม ด้านหน้าเป็นรูปพระคลังมหาสมบัติ เทวดาผู้ปกปักรักษาทรัพย์สินของประเทศในกรมพระคลังหลวงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งถือเป็นเทพทางด้านเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ และด้านหลังเป็นรูปยันต์เกราะเพชร  ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักรักษาภยันตรายไม่ให้กร้ำกรายต่อผู้ครอบครอง จึงกล่าวได้ว่า เหรียญพระคลังฯ รุ่นนี้เป็นครั้งแรกที่รวมสิ่งพิเศษที่มีคุณสมบัติทั้งการปกปักรักษาทรัพย์สินและภยันตรายต่อผู้ที่มีไว้บูชา

            “เหรียญที่ระลึกพระคลังเพชรยอดมงกุฎ” มี ๓ เนื้อ  คือ เนื้อทองคำ ขนาดสูง ๓๐ มิลลิเมตร ราคา ๕๕,๐๐๐ บาท, เนื้อเงินรมดำพ่นทรายพิเศษขนาดสูง ๓๐ มิลลิเมตร ราคา ๒,๕๐๐บาท และเนื้อทองแดงรมดำพ่นทรายธรรมดาขนาดเดียวกันราคา ๒๐๐ บาท รายได้ส่วนหนึ่งของการจัดจำหน่ายมอบให้ “โครงการเพชรยอดมงกุฎ” รวมทั้งนำไปปรับปรุงขยายศาลาเครื่องราชอิสริยยศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเหรียญกษาปณ์ เพื่อให้เป็นสถานที่จัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน และเพื่อสวัสดิการข้าราชการกรมธนารักษ์

            ผู้สนใจติดต่อได้ที่สำนักการคลัง กรมธนารักษ์ ซอยอารีสัมพันธ์ พระราม ๖ กทม. โทร.๐-๒๒๗๘-๕๔๔๕, ๐-๒๒๗๘-๕๖๔๑ หรือที่www.treasury.go.th หรือที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น...(รับเหรียญตั้งแต่วันที่ ๑๕ พ.ย. เป็นต้นไป)
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ