Lifestyle

'พินัยกรรมยุคดิจิตอล'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'พินัยกรรมยุคดิจิตอล'

               เมื่อนึกถึงเรื่อง "พินัยกรรม" เราคงคิดกันว่าเป็นเรื่องของผู้สูงอายุวัยไม้ใกล้ฝั่งที่มีทรัพย์สินศฤงคารจำนวนมหาศาลและมีลูกหลานมากมาย ทำให้ผู้ใกล้วายชนม์ต้องขวนขวายทบทวนความจำจัดทำบัญชีทรัพย์สินและจัดแบ่งให้ลูกหลานตามที่ต้องการ มากน้อยก็ว่ากันไปตามความพอใจ

                ที่จริงแล้ว คำว่า "พินัยกรรม" นั้น ที่กฎหมายให้คำนิยามไว้ว่า "นิติกรรมซึ่งบุคคลแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตน หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายแล้ว" มีความสำคัญมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของผู้สูงอายุวัยไม้ใกล้ฝั่ง ยิ่งในปัจจุบันที่ประชากรโลกกว่า 1,000 ล้านคนใช้ชีวิตส่วนหนึ่งในโลกคู่ขนานอย่าง "โซเชียลมีเดีย" หรือ ใช้ "อีเมล" ที่เป็นบริการของบริษัทเอกชน พินัยกรรมยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นมาก และสำคัญสำหรับคนทุกวัย

                เพราะหากผู้ใช้ที่เป็นสมาชิกของเว็บไซต์สังคมออนไลน์ หรืออีเมลสาธารณะเหล่านั้นเสียชีวิตไป บัญชีเฟซบุ๊ก หรืออีเมลของกูเกิล ก็จะถูกปิดตายตามไปด้วย โดยไม่มีใครสามารถเปิดดูข้อมูลภายในนั้นได้อีกต่อไป เนื่องจากผู้อื่นจะไม่รู้ชื่อผู้ใช้ (Username) กับ รหัสผ่าน (Password) ที่ถูกต้อง ทำให้ข้อมูลในบัญชีพวกนั้นถูกปกปิดจากสายตาผู้อื่นตามนโยบายการรักษาความเป็นส่วนตัวของบริษัทผู้ให้บริการ

                ตัวอย่างเมื่อเร็วๆ นี้เกิดขึ้นกับครอบครัวของเด็กชายอีริค แรช ชาวอเมริกันวัย 15 ปี ที่ก่อเหตุอัตวินิบาตกรรมจนเสียชีวิตเมื่อปี 2554 โดยที่พ่อแม่และเพื่อนฝูงไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง บรรดาญาติจึงพยายามค้นหาคำตอบต่อสาเหตุในการตัดสินใจของเด็กชายแรช ในบัญชีเฟซบุ๊กและอีเมล กูเกิล แต่ก็ไม่ทราบรหัสผ่านที่ถูกต้อง จนร้อนถึงศาลต้องรับเรื่องร้องเรียนของพ่อแม่เด็กชายแรช เพื่อพิจารณาและมีคำสั่งให้บริษัทเฟซบุ๊กอิงค์ เปิดเผยข้อมูลภายในบัญชีของผู้เสียชีวิต

                เฟซบุ๊กก็ยืนยันกระต่ายขาเดียวว่า "ไม่สามารถเปิดเผยได้" เนื่องจากขัดต่อนโยบายการรักษาความเป็นส่วนตัวของสมาชิก ขณะที่ศาลก็ระบุว่า กรณีนี้ "อยู่นอกเหนือเขตอำนาจ" เพราะกฎหมายไม่ครอบคลุมถึงทรัพย์สินในรูปแบบดิจิตอล

                คำว่าทรัพย์สินในรูปแบบดิจิตอล หมายถึงข้อความ หรือสื่อใดๆ ที่อยู่ในรูปแบบไบนารี (0 กับ 1) และสิทธิ์ในการใช้งานข้อความหรือสื่อนั้นๆ เช่น ข้อความ รูปภาพ และสื่อมัลติมีเดีย

                ทุกๆ วันที่เราๆ ท่านๆ ใช้เฟซบุ๊กหรือเขียนอีเมลก็เป็นการสร้างทรัพย์สินในรูปแบบดิจิตอล โดยจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

                ข้อความเหล่านั้นอาจจะมีความสำคัญในกรณีที่จำเป็น เช่นเรื่องของเด็กชายแรช ที่ตำรวจและญาติต้องการค้นหาสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่ใช่กรณีของเด็กชายแรชเพียงคนเดียวที่ทำให้เกิดปัญหาเช่นนี้ ต่อมาก็มีกรณีที่เกิดขึ้นคล้ายๆ กันในสหรัฐอเมริกาอีกมาก

                จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า มีความจำเป็นหรือไม่ที่เราๆ ท่านๆ จะทำ "พินัยกรรม" เพื่อการเปิดเผย "ทรัพย์สินดิจิตอล" เผื่อไว้ในกรณีที่เสียชีวิตโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องขัดแย้งกับความรู้สึกของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไปที่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุน้อย จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลต่อเรื่องการเสียชีวิตในวัยอันควร แต่ในปัจจุบันประชากรที่อยู่ในโลกออนไลน์นั้นเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น

                จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประเทศอังกฤษพบว่า ประชากรสูงอายุวัยระหว่าง 65-74 ปี จำนวน 70% ต่างใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์ด้วยเช่นกัน และประชากรกลุ่มนี้เป็นผู้มีกำลังซื้อ จึงมักจะสมัครสมาชิกเพื่อรับบริการของเว็บไซต์หรือธุรกิจบริการอื่นๆ ผ่านระบบออนไลน์ และจะมีเพียงผู้ใช้ที่ลงทะเบียนเท่านั้นที่รู้ชื่อผู้ใช้ และรหัสผ่านที่ถูกต้อง

                บริษัทเซอร์รัส เลกาซี ผู้ให้บริการออนไลน์ในการจัดเก็บชื่อผู้ใช้ และรหัสผ่านของเว็บไซต์และบริการต่างๆ ให้สมาชิกที่สมัครเข้าใช้บริการ เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2555-2556 พบว่ามีการลงทะเบียนใช้บริการออนไลน์เพิ่มมากขึ้นนับหมื่นบัญชี ซึ่งถ้าจะตีเป็นมูลค่าเงินที่ใช้ซื้อบริการเหล่านั้นก็อยู่ในระดับหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

                ซึ่งหากผู้ใช้เสียชีวิตไป บัญชีเหล่านั้นก็จะสูญเปล่าโดยไม่มีผู้รับผลประโยชน์ เพราะไม่มีผู้รับรู้และรับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินดิจิตอล (โดยชอบธรรม) เหล่านั้น

                ทำให้ได้ข้อสรุปประการหนึ่งว่าการทำพินัยกรรมสำหรับทรัพย์สินดิจิตอลนั้นทวีความสำคัญขึ้นทุกวัน และการทำพินัยกรรมไว้ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร โดยมีวิธีการทำง่ายๆ เพียง 3 ขั้นตอน คือ

                1.บันทึกจำนวนทรัพย์สินในระบบออนไลน์ทั้งหมดไว้เพื่อให้ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับรู้จำนวนทรัพย์สินทั้งหมด

                2.บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการและทรัพย์สินดิจิตอลทั้งหมด (เช่น ชื่อผู้ใช้ และรหัสผ่าน รวมทั้งเว็บไซต์ที่ให้บริการ)

                3.บันทึกเจตนารมณ์ของตนเองที่จะมอบทรัพย์สินดิจิตอลให้ผู้ใดบ้าง หรือต้องการให้ทำลาย หรือส่งทรัพย์สินดิจิตอลให้บุคคลที่สาม

                ด้วยวิธีการเช่นนี้ ทรัพย์สินดิจิตอลของเรา ก็จะไม่เป็นเพียงแค่ตัวเลข 0 กับ 1 ที่ไร้ค่าเมื่อเราเสียชีวิต.. อีกต่อไป

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ