Lifestyle

นกกิ้งโครงแกลบหัวเทา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นกกิ้งโครงแกลบหัวเทา : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว

               เดือนตุลาคมของทุกปีถือเป็นเดือนแห่งการดูเหยี่ยว ด้วยภูมิประเทศบริเวณคอคอดกระบีบให้นกอพยพต้องบินผ่าน ประเทศไทยจึงมีจุดดูเหยี่ยวอพยพที่เรียกได้ว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ที่จุดชมวิวเขาดินสอ จ.ชุมพร และเขาเรดาร์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จุดแรกนั้นมีศูนย์ศึกษาเหยี่ยวอพยพชุมพร (Chumphon Raptor Center) ซึ่งก่อตั้งมาเป็นจวนจะครบ 1 ปีแล้ว นอกจากเหยี่ยว ตัวเมืองชุมพรยังขึ้นชื่อเรื่องนกกิ้งโครง (starlings) ด้วย ชนิดหายากก็พบได้เป็นประจำทุกปี โดยอาศัยต้นไทรสุกตามสวนสาธารณะและสนามกีฬากลางเป็นแหล่งอาหารสำคัญ

               สัปดาห์นี้จะพาไปรู้จักกับนกกิ้งโครงอพยพที่พบได้ง่ายที่สุดในประเทศไทย ชื่อว่า นกกิ้งโครงแกลบหัวเทา (Chestnut-tailed Starling) ชอบหากินเป็นคู่หรือเป็นฝูงใหญ่ หากินลูกไม้และน้ำหวานดอกไม้ กรณีหลังนี้มักมีนกกิ้งโครงชนิดอื่นๆ ที่หายากกว่ามารวมฝูงผสมโรงด้วย ปกติจะมีจำนวนหลักร้อยอพยพมาอาศัยอยู่ในตัวเมืองชุมพร ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดที่เจอได้เป็นจำนวนมาก รายงานใต้ที่สุดเท่าที่มีการพบน่าจะเป็นที่ อช.แหลมสน จ.ระนอง

               คำว่า “แกลบ” หมายความว่ามีขนาดเล็ก “นกกิ้งโครงแกลบ” ใช้เรียกนกกิ้งโครงขนาดเล็ก ส่วนใหญ่หากินตามต้นไม้ กินน้ำหวานดอกไม้และผลไม้เป็นหลัก มีไม่กี่ชนิดที่ชอบหากินตามพื้นดินเหมือนนกเอี้ยงและนกกิ้งโครงขนาดใหญ่ จริงๆ แล้วนกกิ้งโครงแกลบหัวเทาไม่ได้มีหัวเป็นสีเทา ออกไปทางสีขาวนวลมากกว่า นกส่วนใหญ่ที่พบในไทยเป็นชนิดย่อย nemoricolaซึ่งมีอกสีน้ำตาลอ่อน แต่ก็มักพบปะปนกับชนิดย่อยหลัก (malabaricus) ซึ่งมีท้องสีส้มอมน้ำตาล แต่นกจำนวนมากก็เป็นลูกผสมที่มีลักษณะก้ำกึ่งระหว่างสองชนิดย่อย

               ลักษณะเด่นที่ใช้จำแนกนกกิ้งโครงแกลบชนิดนี้ยามพบปะปนกับชนิดอื่นๆ คือ สีจงอยปาก มันมีปากสองสี ด้านในเป็นสีฟ้า แต่บริเวณปลายปากจะสีเหลืองสด ม่านตาสีฟ้าอ่อน หลังสีเทา มีโคนขาและใต้หางสีน้ำตาลแดง

               แม้ส่วนใหญ่จะมีสถานภาพเป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ที่พบได้ง่ายทั่วประเทศยกเว้นภาคใต้ แต่ทางภาคเหนือก็มีบางส่วนเป็นนกประจำถิ่นด้วย ด้วยความที่เป็นนกปรับตัวง่าย จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ทำรังวางไข่ลงมาจนถึงภาคกลางตอนล่าง โดยมันใช้โพรงรังที่นกหัวขวานและนกโพระดกขนาดเล็กเจาะไว้ การเพิ่มจำนวนขึ้นของมันอาจมีผลให้นกอื่นๆ ที่ทำรังในโพรงอย่าง นกหัวขวานด่างอกลายจุด (Freckle-breasted Woodpecker) และนกกระจอกตาล (Plain-backed Sparrow) ลดจำนวนลง

 

นกกิ้งโครงแกลบหัวเทา 

ชื่ออังกฤษ Chestnut-tailed Starling, Grey-headed Starling 
ชื่อวิทยาศาสตร์ Sturnia malabarica (Gmelin, 1789)
วงศ์ (Family) Sturnidae (วงศ์นกเอี้ยงและนกกิ้งโครง)
อันดับ (Order) Passeriformes (อันดับนกเกาะคอน)

 

..........................

 

(นกกิ้งโครงแกลบหัวเทา : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ