Lifestyle

นกอีเสือสีน้ำตาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นกอีเสือสีน้ำตาล : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว

               เป็นเรื่องน่ายินดีที่การคัดค้านโครงการเขื่อนแม่วงก์ ได้กลายมาเป็นที่พูดถึงในวงกว้างในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนหวังว่ากระแสนี้จะช่วยนำพาสังคมไปสู่ความตระหนักในภัยคุกคามต่อระบบนิเวศของโครงการอื่นๆ มากขึ้นด้วย สัปดาห์ที่แล้วได้พานกเฉี่ยวดงธรรมดามาแนะนำให้รู้จักในคอลัมน์ เนื่องจากเป็นนกที่อาศัยอยู่เฉพาะตามป่าผลัดใบในที่ต่ำ ป่าประเภทที่จะจมอยู่ใต้น้ำหากเขื่อนแม่วงก์ถูกสร้าง นกเฉี่ยวดงนั้นมีชื่ออังกฤษว่า woodshrike เพราะมีหน้าตาละม้ายคล้ายคลึงกับ shrike (นกอีเสือ) และชอบอาศัยอยู่ตามป่ามากกว่าที่โล่ง

               โดยทั่วไปแล้ว ทั้งสองกลุ่มเป็นนกตัวสีน้ำตาลๆ ที่มีแถบหนาสีดำคาดตา ปากมีปลายงุ้มช่วยในการฉีกเหยื่อซึ่งมักเป็นแมลงหรือสัตว์เล็กๆกินเป็นอาหาร นกเฉี่ยวดงนั้นจะล่าเหยื่อขนาดใหญ่ เช่น สัตว์เลื้อยคลาน เฉพาะช่วงที่เลี้ยงลูก แต่นกอีเสือถือเป็นนกล่าเหยื่อที่ขึ้นชื่อเรื่องการล่าสัตว์ตัวขนาดไล่เลี่ยกับมันได้

               สัปดาห์นี้ขอแนะนำให้รู้จักกับ นกอีเสือสีน้ำตาล (Brown Shrike) หนึ่งในสัญญาณบ่งบอกถึงฤดูกาลอพยพ เป็นนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์ชุดแรกๆ ที่จะมาถึงเมืองไทยให้เห็นตัวกันตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม ตามทุ่งโล่ง สวนสาธารณะ และชายป่าทั่วประเทศ

                นกส่วนใหญ่ที่พบเป็นนกโตไม่เต็มวัย จำแนกจากแถบคาดตาที่เป็นสีน้ำตาลแทนที่จะเป็นสีดำ และลายเกล็ดที่อกและสีข้าง แลดูคล้าย นกอีเสือลายเสือ (Tiger Shrike) นกโตเต็มวัยเพศผู้มีแถบคาดตาเข้มกว่าเพศเมียและมีสีเข้มสดกว่า นอกจากนี้เพศเมียก็มีลายเกล็ดที่สีข้างมากกว่าเพศผู้ด้วย แต่น้อยกว่านกวัยเด็ก

               นกอีเสือสีน้ำตาลถูกแบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย แบบที่มีลำตัวด้านบนสีน้ำตาลที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดคือชนิดย่อยหลัก (cristatus)ที่พบบ่อยรองลงมาคือชนิดย่อย lucionensis ซึ่งมีกระหม่อมสีเทาไล่ไปเป็นสีน้ำตาลที่หลัง มักสร้างความสับสนในการจำแนกกับ นกอีเสือหลังเทา (Grey-backed Shrike)ชนิดย่อยที่หายากที่สุดคือ superciliosusซึ่งมีลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแดง อีกแบบที่พบได้บ่อยมากในไทยคือนกที่มีกระหม่อมสีน้ำตาลอมเทา (บางครั้งแยกเป็นชนิดย่อย confusus) ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่าง cristatus และ lucionensis

                สุดสัปดาห์หน้ายามเช้า แนะนำให้ลองไปร่วมกิจกรรม Bird walk วันที่ 5-6 ตุลาคม ครับ วันเสาร์ที่สวนรถไฟ ส่วนวันอาทิตย์ที่สวนหลวง ร.9 ลองสังเกตรายละเอียด จะพบว่ามีอะไรให้เรียนรู้อีกมากเกี่ยวกับนกชนิดนี้

...........................

 (นกอีเสือสีน้ำตาล : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ