Lifestyle

นกปรอดคอลาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นกปรอดคอลาย : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว

                 วันที่ 21-22 กันยายน นี้จะมีโครงการ “อบรมดูนกเบื้องต้น” จัดโดยสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (BCST) ที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและท่องเที่ยวเชิงนิเวศเจ็ดคต-โป่งก้อนเส้า จ.สระบุรี มีวิทยากรระดับเกจิของวงการดูนกมาร่วมถ่ายทอดความรู้กันอย่างคับคั่ง ไม่ควรพลาดสำหรับคนที่สนใจกิจกรรมดูนก ไม่ว่าจะเป็นมือใหม่หรือคนดูนกที่ต้องการความรู้พื้นฐานให้แน่นปึ้กยิ่งขึ้น รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้ทางเว็บไซต์ของสมาคมฯ (www.bcst.or.th) หรือแฟนเพจ (facebook.com/bcst.or.th)

                ศูนย์ศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ตั้งอยู่ทางขอบด้านตะวันตกของผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ในการอบรมภาคสนาม นักดูนกมือใหม่จะได้พบกับนกป่ามากมายหลายชนิด ซึ่งที่นี่เหมาะมากในการเป็นสนามฝึกดูนก ด้วยสภาพป่าดิบแล้งที่ค่อนข้างโปร่งรอบๆ บ้านพัก “นกสามัญประจำป่า”ที่เปรียบเสมือนแบบฝึกหัดสำหรับดูนกภาคสนามล้วนพบได้ไม่ยาก แม้ส่วนใหญ่จะเป็นนกหาง่าย แต่หลายชนิดก็มีเสน่ห์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา เสียงร้อง หรือพฤติกรรมที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ สัปดาห์นี้ขอแนะนำ นกปรอดคอลาย (Stripe-throated Bulbul)“นกสามัญประจำป่า”ตัวสีน้ำตาลๆ ที่มีลายสีเหลืองสดที่คอและใบหน้าโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

                นกปรอดคอลายเป็นนกปรอดที่พบได้บ่อยที่สุดชนิดหนึ่งตามชายป่าและป่าแทบทุกประเภท โดยปกติมันหากินในพุ่มไม้รกๆ ในระดับกลางต้นหรือไม่สูงจากพื้นดินมากนัก ไม่ค่อยออกมาเกาะกิ่งไม้โล่งๆ แต่ก็มักส่งเสียงร้องเซ็งแซ่ให้ได้ยินตลอดเวลา ลำตัวสีน้ำตาลอมเทา ส่วนปีก หาง และขนคลุมใต้หางสีน้ำตาลอมเหลือง

                นกปรอดเป็นนกกลุ่มที่เป็นที่นิยมในวงการเลี้ยงนก ส่วนหนึ่งเพราะการเลี้ยงดูไม่ซับซ้อน อาหารหลักของพวกมันคือผลไม้ แต่ก็สามารถกินอาหารสำเร็จรูปได้ สีสันและเสียงร้องก็น่าสนใจพอตัว แม้นกปรอดทุกชนิดจะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมาย ต้องมีใบอนุญาตในการครอบครอง แต่การเลี้ยงนกป่าอย่างผิดกฎหมายก็ยังพบเห็นได้ทั่วไป โดยเฉพาะทางภาคใต้ คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่าชื่อ“นกกรง”นั้นหมายถึงกลุ่มนกปรอดโดยตรง

               เสียงร้องของนกปรอดคอลายไพเราะและซับซ้อนเมื่อเทียบกับเครือญาตินกปรอดด้วยกัน จึงถูกจับมาเลี้ยงและรู้จักกันในชื่อ“นกกรงคอลาย” หากยังคงถูกจับมาเลี้ยงอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ก็มีแนวโน้มจะหายไปจากภาคใต้เช่นเดียวกับนกปรอดหัวโขน ซึ่งน่าเศร้าที่คนส่วนใหญ่รู้จักปรอดหัวโขนในชื่อ “นกกรงหัวจุก” มากกว่าเสียอีก!

 

...................................

(นกปรอดคอลาย : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ