Lifestyle

'กาบกล้วย'ไร้ค่าสู่สินค้าพรีเมียม!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำมาหากิน : 'กาบกล้วย' ไร้ค่าสู่สินค้าพรีเมียม แบรนด์ 'ปันกันแล' ทำเงินชายแดนใต้ : โดย...สุพิชฌาย์ รัตนะ

 

                               นาทีนี้ใครจะเชื่อว่าจาก "กาบกล้วย" ไร้ค่า จะกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ ชนิดที่กำลังมาแรงในชุมชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากที่ทีมผู้เชี่ยวชาญจากรั้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) นำทีมโดย "ฮัตสัน ศิริสุวพงษ์"  หัวหน้าโครงการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ CLC (Creative Lab Center) ร่วมกันจัดโครงการยกระดับงานฝีมือหัตถกรรมจากแดนใต้สู่สากลด้วยความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ปันกันแล” ปูทางสร้างอาชีพ โครงการดีๆ เพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟู เรียกความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

                               ทำให้วันนี้ผลิตภัณฑ์มากมายไม่ว่าจะเป็นแพ็กเกจกล่องบรรจุภัณฑ์ขนาดต่างๆ และสมุดบันทึก ที่ถูกผลิตจากกาบกล้วยได้นำมาแปรรูปเป็นสินค้าเด่น ภายใต้แบรนด์ "ปันกันแล" วางจำหน่ายอยู่ในร้านค้าชื่อดังทั่วประเทศ อาทิ ห้างสรรพสินค้าดิเอ็มโพเรี่ยม ร้านภัทรพัฒน์ มูลนิธิชัยพัฒนา มหาวิทยาลัยเปอร์ลิส มาเลเซีย (UniMAP) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

                               "ฮัตสัน ศิริสุวพงษ์" เจ้าของไอเดียและผู้ร่วมก่อตั้งโครงการปันกันแล เล่าให้ฟังว่า โครงการปันกันแลเกิดจากแนวคิดที่ต้องการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะกลุ่มสตรีที่ต้องการอาชีพและมีรายได้ที่มั่นคง โดยอาศัยองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชุมชนในพื้นที่ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น หลากหลายรูปแบบที่ง่ายต่อการใช้งานและมีคุณภาพที่ดีขึ้น จึงนำร่องจากผลิตภัณฑ์กาบกล้วยซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาง่ายและมีอยู่ในท้องถิ่น อีกทั้งชาวบ้านมีความเชี่ยวชาญด้านงานฝีมือและหัตถกรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงง่ายต่อการนำมาพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบในการยกระดับจากสินค้าพื้นบ้านให้เป็นผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมได้ชัดเจน

                               "สินค้าบางชนิดมีอยู่ในชุมชนอยู่แล้วแต่ขาดรูปแบบ สีสันและคุณภาพที่ยังไม่มาตรฐานทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายและที่สำคัญยังขาดโอกาสและช่องทางการตลาด ดังนั้น หากมีการจัดการที่เหมาะสมบวกกับทักษะฝีมือด้านหัตถกรรมที่เป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตแล้วเชื่อว่าสามารถพัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้เป็นสินค้าระดับพรีเมียมที่สร้างสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้ไม่ยาก" ฮัตสัน กล่าว

                               ฮัตสันเล่าอีกว่า จากแนวคิดดังกล่าวปัจจุบันมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้สร้างเครือข่ายพันธมิตรกับทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแผนงานให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ และเทศบาลนครยะลาเพื่อสร้างแบรนด์ให้แก่สินค้าท้องถิ่นเป็นการเพิ่มศักยภาพของคนในท้องถิ่นโดยการพัฒนาฝีมือ เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ หรือการนำของเหลือกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และแสดงถึงอัตลักษณ์ที่สำคัญของท้องถิ่นอย่างชัดเจน และน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง 

                               โดยปัจจุบันสินค้าขายดีที่ชุมชนผลิตกันแทบไม่ทันคือ แพ็กเกจกล่องบรรจุภัณฑ์ที่มีการนำเอากล่องที่ผลิตจากกาบกล้วยที่มีรูปแบบสวยงามเหมาะนำไปเป็นของฝากในเทศกาลต่างๆ โดยภายในบรรจุผ้าบาติกคุณภาพดีจากกลุ่มแม่บ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนงานฝีมือจากกลุ่มแม่บ้านในพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย

                               "วันนี้สินค้าได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ โดยเฉพาะแพ็กเกจกล่องบรรจุภัณฑ์ของฝากที่มีออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่องจนผลิตแทบไม่ทัน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจในข้อจำกัดเพราะทุกขั้นตอนการผลิตเราเน้นคุณภาพที่ออกมาคุ้มค่ากับการรอคอย" ฮัตสัน กล่าวปลื้ม

                               "ดรุณี แวยามา" ประธานกลุ่มชุมชนกาบกล้วย กรือเซะ บาราโหม จ.ปัตตานี หนึ่งในแนวร่วมกลุ่มผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ "ปันกันแล" กล่าวว่า หลังจากได้รับองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำให้สินค้าหัตถกรรมจากกาบกล้วยของกลุ่มมีคุณภาพ สวยงามและที่สำคัญสามารถยกระดับสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย  โดยเฉพาะการช่วยเหลือในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น แก้ปัญหาความชื้น และเชื้อราจากกาบกล้วยทำให้สินค้าคงทนและได้รับการตอบรับที่ดี จากที่เคยผลิตสินค้าจำหน่ายในราคาหลักร้อยกลายเป็นหลักพัน ทำให้ช่วยให้สตรีในพื้นที่มีกำลังใจในการผลิตงานออกมาอย่างต่อเนื่อง

                               "วันนี้สินค้าของเราสวยและมีคุณภาพทำให้มีลูกค้าสนใจอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญชาวบ้านไม่ต้องกังวลเรื่องช่องทางการจำหน่ายอีกต่อไปเพราะสินค้าที่ผลิตนั้นจะถูกนำไปจำหน่ายในโครงการปันกันแลที่มีผู้รับผิดชอบด้านการจัดจำหน่ายให้ทั้งหมด ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ที่แน่นอนสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวได้" ประธานกลุ่มกล่าว

                               อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจอยากอุดหนุนสินค้าผลิตภัณฑ์แบรนด์ท้องถิ่นที่มีคุณภาพคับแก้ว ที่สำคัญช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนภาคใต้ สามารถติดต่อผ่านเฟซบุ๊กปันกันแล ได้เลยเพราะมีผลิตภัณฑ์ชั้นดีจากฝีมือคนปลายด้ามขวานโทร.08-9508-8192 พร้อมจัดส่งถึงบ้านทุกคนตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

-------------------------

(ทำมาหากิน : 'กาบกล้วย' ไร้ค่าสู่สินค้าพรีเมียม แบรนด์ 'ปันกันแล' ทำเงินชายแดนใต้ : โดย...สุพิชฌาย์ รัตนะ)

 

 


 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ