Lifestyle

นกอีแพรดคิ้วขาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นกอีแพรดคิ้วขาว : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว

               เป็นที่รู้กันว่าฤดูหนาวเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการดูนกที่สุด ไม่ว่าจะเป็นนกน้ำ นกสวน หรือนกป่า ถิ่นอาศัยตามธรรมชาติของนก นอกจากสภาพอากาศจะเป็นใจแล้ว ความหลากหลายของชนิดนกก็เพิ่มขึ้นมากจากนกอพยพที่เข้ามาสมทบ แต่หากจะแนะนำสถานที่ที่เหมาะแก่การไปดูนกในช่วงฤดูฝน ควรจะหาโอกาสไปป่าเต็งรังกันดูครับ เพราะจะได้พบกับความร่มรื่นเขียวขจี คนละอารมณ์กับช่วงฤดูแล้งที่ป่าผลัดใบจนโล่งโจ้งโดยสิ้นเชิง แม้จะไม่มีนกอพยพให้ดู ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญแต่อย่างใด เพราะนกเด่นของป่าเต็งรังล้วนเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ตลอดทั้งปี และจับคู่ทำรังในช่วงฤดูฝน ทำให้เรามีโอกาสเห็นลูกนกออกมาหากินกับครอบครัวด้วย

               ในอดีต ป่าเต็งรังเคยปกคลุมเชิงเขาและที่ราบทางภาคตะวันตก ภาคเหนือ และภาคอีสาน ก่อนจะถูกแปรสภาพเป็นชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมจนแทบไม่เหลือ โดยเฉพาะป่าในที่ราบ นกหลายชนิดก็หายไปด้วย สำหรับประเทศไทย นกป่าเต็งรังที่ปัจจุบันกลายเป็นนกหายาก มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่สุด น่าจะเป็นนกหัวขวานเขียวท้องลาย (Streak-throated Woodpecker) และนกอีแพรดคิ้วขาว (White-browed Fantail)

               ชนิดแรกไม่มีรายงานเป็นทางการหลายปีแล้ว ส่วนชนิดหลังยังพบได้บ้างในป่าเต็งรังระดับต่ำในพื้นที่อนุรักษ์ เช่น อช.แม่ปิง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ปัจจุบันเป็นที่รู้กันดีในวงการดูนกว่า ถ้าต้องการจะเห็นนกสองชนิดนี้ ต้องไปที่หน่วยพิทักษ์ป่าซับสะเดา อช.ทับลาน ซึ่งนกอีแพรดคิ้วขาวยังคงพบเห็นได้ไม่ยาก

               จริงๆแล้วทั้งสองชนิดยังเป็นนกที่พบเห็นได้ง่ายในป่าเต็งรังของประเทศเพื่อนบ้าน ทางตอนเหนือของพม่าเคยมีการเก็บข้อมูลพฤติกรรมการรวมฝูงหากินแบบต่างชนิด หรือที่เรียกกันติดปากในวงการดูนกว่า bird wave พบว่านกอีแพรดคิ้วขาวเป็นนกที่มีพฤติกรรมชอบหากินรวมฝูงกับนกอื่นมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง น่าจะเป็นเพราะมันมีโอกาสหาอาหารได้มากขึ้น จากการโฉบจับแมลงที่บินหนียามที่ฝูงเคลื่อนพลหากินไปตามต้นไม้ ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ร้องเตือนภัยยามที่สังเกตเห็นสัตว์ผู้ล่าที่จะมาจับพวกมันกินด้วย

               การอยู่รวมกันเป็นฝูงนั้นมีส่วนในการสร้างความสับสนให้สัตว์ผู้ล่า จะว่าไปนกอีแพรดคิ้วขาวเองก็มีสีสันและลักษณะเด่น (แถบคิ้วหนาสีขาว) ละม้ายคล้ายนกเฉี่ยวดงธรรมดา (Common Woodshrike) ที่ชอบหากินด้วยกัน ยิ่งสร้างความสับสนหนักขึ้นไปอีก น่าจะเป็นผลจากการวิวัฒนาการพึ่งพาอาศัยมาเป็นเวลานาน

 

................................................

(นกอีแพรดคิ้วขาว : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ