Lifestyle

เครื่องหลวม แรงตก1

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เครื่องหลวม แรงตก1: คอลัมน์มอเตอร์เวิลด์

                 เครื่องหลวมทำให้กำลังตก แต่กำลังนั้นตกไม่ได้เกิดจากเครื่องหลวมเสมอไป เครื่องหลวมทำให้กำลังอัดในห้องเผาไหม้หายไปตามสัดส่วนของการหลวมของเครื่อง เมื่ออัตราส่วนกำลังอัดที่ถูกสร้างให้คงที่สูญหายไปกับการสึกหรอของเครื่องประกอบกับอัตราส่วนผสมของเชื้อเพลิงกับอากาศที่คงที่

                เมื่อเครื่องหลวม (อากาศเข้าเท่าเดิมแต่อัดแล้วได้อัตราส่วนที่ต่ำกว่าเดิม) การฉีดจ่ายน้ำมันคงเดิมประกายไฟจุดระเบิด (ในเครื่องเบนซิน) คงเดิม การเผาไหม้ที่จะทำให้อากาศ (ที่ถูกอัด) ระเบิดเป็นกำลังงานก็น้อยลงไป เรี่ยวแรงที่จะไปขับเคลื่อนรถก็น้อยลงไป

                ต้องย้ำกันอีกครั้งว่า เครื่องแรงตก มีสาเหตุอื่นๆ อีกมากมายแม้เครื่องจะไม่หลวม สาเหตุของเครื่องหลวมก็เกิดจากการสึกหรอภายในเครื่องยนต์ การสึกหรอในตัวเครื่องยนต์ที่ทำให้แรงตกน่าจะแบ่งออกได้เป็น 2 อย่าง

                 อย่างแรก กำลังอัดรั่วขึ้นบน และอย่างที่สอง รั่วลงล่าง ก็จะว่ากันให้ละเอียดเท่าที่สติปัญญาและความทรงจำจะทำได้ กำลังอัดรั่วขึ้นบนก็หมายถึง อากาศ ที่ถูกอัดไว้รอการจุดระเบิดนั้นรั่วผ่านลิ้น (Valve) บ่าลิ้น (Valve seat) ปลอกวาล์ว (Valve guide) และหรือปะเก็นฝาสูบ (Cylinder head gasket) ช่างในยุคโบราณ(รุ่นผม) ที่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือพิเศษ เมื่อเริ่มค้นหาสาเหตุว่า เครื่องแรงตกก็จะเริ่มกันที่วาล์ว หรือลิ้นทั้งไอดีไอเสีย เพราะรู้อยู่ว่า ถ้าวาล์วยัน (เครื่องเงียบแต่เดินเบาแล้วโยน) ก็ทำให้แรงตกได้

                กรรมวิธีก็เริ่มจากวัดหาความห่างระยะกดของตัวกดวาล์วกับตัวก้านวาล์ว เริ่มแรกต้องรู้ก่อนว่า สเปกของรถให้ระยะห่างลิ้นไอดีและลิ้นไอเสียมีระยะห่างกันเท่าไร (ก็เป็นจุดทศนิยมของมิลลิเมตร) และก็ต้องรู้ว่า สเปกที่บอกนั้นวัดตอนเครื่องเย็น (ก่อนติดเครื่อง) หรือเครื่องร้อน ช่างรุ่นใหม่หรือกลางเก่ากลางใหม่มักจะตั้งวาล์วกันเมื่อวาล์วดัง (วาล์วห่าง) เพราะคิดว่าเมื่อเสียงเงียบ(โดยลืมพิจาณาการโยนหรือสั่นของเครื่อง)

                วาล์วไม่มีปัญหาและความคิด (ขี้เกียจ) นั้น ลามปามมาถึงเครื่องที่ใช้ไฮดรอลิกวาล์ว (Hydraulic valve lifter) ในปัจจุบัน

                อาการวาล์วยันเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ต้องไล่กันที่หน้าวาล์วและบ่าวาล์ว วาล์วกับบ่าวาล์วทำด้วยเหล็กล้วนๆ กระแทกกระทบกันตลอดเวลา (ห่างออกเมื่อวาล์วเปิด) กระแทก (เมื่อวาล์วปิด) การกระแทกจากแรงอัดของอากาศ ร้อน เร็วและรุนแรง ชั่วนาตาปี ทั้งวาล์วและบ่าวาล์วก็จะสึกหรอ

                การสึกหรือที่เกิดขึ้นทำให้ตัววาล์วทั้งตัวโผล่ยาวขึ้นไป (ตามการสึกหรอ) ไปยันกับตัวกดวาล์วเอาไว้ทำให้เมื่อวาล์วต้องการปิดให้สนิทก็ทำไม่ได้ วาล์วนั้นจึงปล่อยให้อากาศ (ไอดีผสมเชื้อเพลิง) เล็ดลอดออกไปจากห้องเผาไหม้ก่อนการระเบิด ที่ว่ามาเป็นเรื่องของวาล์วแบบกลไกที่ต้องมีการปรับตั้ง ถ้าเอาเฉพาะเรื่องวาล์วยันอย่างเดียวให้ช่างปัจจุบันแก้ไขให้หายขาดคงจะหาช่างทำยายากเพราะต้องเปิดฝาสูบ ปาดหน้าวาล์ว เจียรบ่าวาล์ว ลบตีนวาล์วออกให้เท่ากับระยะบ่าวาล์วที่เจียรออก (ต้องไม่ลืมว่าเพียงแค่จุดทศนิยมของมิลลิเมตร)

                ช่างทั่วไปทำแค่นี้ก็คงจะพอแล้วแต่ถ้าเป็น มืออาชีพ ต้องมากกว่านี้ ต้องเอา ตัวกดวาล์ว (กระเดื่องวาล์ว - Rocker arm) ไปปาดให้เรียบรวมทั้งปาด (ขัดถู) ลูกเบี้ยวส่วนที่ทำหน้าที่กดวาล์วหรือกดกระเดื่องวาล์ว แต่เมื่อใดที่หน้าลิ้นและบ่าลิ้นสึกมาก (เหลืออยู่บางหรือสึกไม่เท่ากัน) เกินกว่าที่จะเจียรหรือปาดได้ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งบ่าวาล์วและบ่าวาล์ว

                ในเรื่องของวาล์วที่เป็นระบบไฮดรอลิกถ้าเจาะจงมาที่วาล์วและบ่าวาล์วก็ต้องทำเช่นกัน แต่ในวาล์วไฮดรอลิกนี้ เมื่อวาล์วยันต้องดูที่ตัวไฮดรอลิกวาล์วด้วยว่าตัวไฮดรอลิกนั้นค้างหรือไม่ ถ้าค้างบางรุ่นบางยี่ถอดล้างและมีชุดซ่อมเปลี่ยนให้ แต่อีกหลายๆ รุ่น ต้องเปลี่ยนกันอย่างเดียว (สี่สูบสิบหกวาล์วไฮดรอลิกวาล์วก็มีสิบตัวตีซะว่าตัวละพันบาทปาไปเท่าไรแล้ว) นี่ว่ากันอย่างเดียวนะครับแค่วาล์วยันที่ทำให้เป็นสาเหตุของแรงตกจากกำลังอัดรั่ว โควตาหมดสัปดาห์หน้าว่ากันเรื่องวาล์วห่างหรือวาล์วดัง

 

..........................................

(เครื่องหลวม แรงตก1: คอลัมน์มอเตอร์เวิลด์)

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ