Lifestyle

ถั่วฝักยาวพันธุ์ใหม่-ผลผลิตสูง!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถั่วฝักยาวพันธุ์ 'พิจิตร 84-3' อายุเก็บเกี่ยวสั้น-ผลผลิตสูง : โดย...ทีมข่าวเกษตร

 

                         "ถั่วฝักยาว" เป็นผักชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกทั่วทุกภาคของไทย ปัจจุบันการปลูกถั่วฝักยาวไม่ใช่เพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น แต่เป็นการผลิตเชิงการค้าและเพื่อการส่งออก โดยมีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี เป็นต้น ซึ่งนับเป็นข่าวดีของเกษตรกรที่กรมวิชาการเกษตรประสบความสำเร็จในการปรับปรุงและคัดเลือกสายพันธุ์ถั่วฝักยาวพันธุ์ใหม่เพิ่มอีก 1 พันธุ์ คือ “พิจิตร 84-3” โดยคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ได้ประกาศเป็นพันธุ์แนะนำเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับเกษตรกรแล้ว

                         จรัญ ดิษฐไชยวงศ์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ถั่วฝักยาวพันธุ์พิจิตร 84-3 เดิมชื่อสายพันธุ์ (พิจิตร 2xYB 15)-1-32-138-25-21 คัดได้จากการผสมข้ามระหว่างถั่วฝักยาวพันธุ์พิจิตร 2 กับพันธุ์ YB 15 โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ได้ปรับปรุงพันธุ์แบบจดประวัติ (Pedigree method) ในช่วงปี 2545-2547 และปี 2550 ซึ่งได้ผสมพันธุ์และคัดเลือกลักษณะประจำพันธุ์บางลักษณะ อาทิ คัดเลือกต้นที่ให้ผลผลิตสูง ออกดอกและเก็บเกี่ยวเร็ว ฝักสดสีเขียว ความยาวฝักมากกว่า 40 เซนติเมตร และความหนาเนื้อฝักกว่า 2.4 มิลลิเมตร เป็นต้น จนถึงรุ่นที่ 5 และเก็บรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ไว้

                         "ปี 2553 ได้ปลูกทดสอบสายพันธุ์ (พิจิตร 2xY B15)-1-32-138-25-21 ร่วมกับพันธุ์พิจิตร 2 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรอุตรดิตถ์ พร้อมปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกร 12 แปลง ในพื้นที่ อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ซึ่งพบว่าเกษตรกรพึงพอใจในศักยภาพของถั่วฝักยาวพันธุ์ใหม่นี้มาก โดยเฉพาะปริมาณการให้ผลผลิต อายุเก็บเกี่ยวที่สั้นลง ความยาวฝัก และสีฝักสด" นายจรัญ กล่าว

                         พร้อมระบุถึงลักษณะเด่นของถั่วฝักยาวพันธุ์พิจิตร 84-3 คือ ให้ผลผลิตสูงถึง 3,861 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าพันธุ์พิจิตร 2 คิดเป็น 6.3% มีอายุเก็บเกี่ยวฝักสดหลังปลูกเฉลี่ย 43 วัน ซึ่งสั้นกว่าพันธุ์พิจิตร 2 ประมาณ 3 วัน และมีความหนาเนื้อฝักเฉลี่ย 3.02 มิลลิเมตร มากกว่าพันธุ์พิจิตร 2 คิดเป็น 25.8%

                         ส่วนความยาวฝักของถั่วนั้น เฉลี่ยอยู่ที่ 45.3 เซนติเมตร น้ำหนักฝักเฉลี่ย 21.3 กรัม และฝักสดสีเขียว (YG 144 A) ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด และถั่วพันธุ์ใหม่นี้ยังมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ด้วย อาทิ มีเส้นใยอาหารเฉลี่ย 2.88 กรัมต่อน้ำหนักฝักสด 100 กรัม และมีโปรตีน 2.59 กรัมต่อน้ำหนักฝักสด 100 กรัม เป็นต้น ถือเป็นถั่วฝักยาวที่เหมาะสำหรับการผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศและส่งออกได้อีกพันธุ์หนึ่ง

                         นายจรัญ กล่าวอีกว่า ถั่วฝักยาวที่เกษตรกรปลูกในแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด อนาคตคาดว่าถั่วพันธุ์นี้จะเป็นหนึ่งพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก และน่าจะได้รับการตอบรับดีจากผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ โดยพื้นที่แนะนำให้ปลูกพันธุ์นี้ คือ เขตภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะ จ.พิจิตรและอุตรดิตถ์ ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตรมีเมล็ดพันธุ์ถั่วฝักยาวพันธุ์พิจิตร 84-3 ประมาณ 25 กิโลกรัม สามารถนำไปปลูกขยายพันธุ์ได้ในพื้นที่กว่า 30 ไร่

                         หากเกษตรกรท่านใดสนใจติดตามได้ในงาน “เปิดบ้านงานวิจัย เกษตรก้าวไกลสู่ เออีซี” ซึ่งกำหนดจัดขึ้นวันที่ 29-31 พฤษภาคมนี้ ที่กรมวิชาการเกษตร (ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) กรุงเทพฯ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร จ.พิจิตร โทร.0-5699-0040 และ 0-5699-0035

 

 

--------------------

(ถั่วฝักยาวพันธุ์ 'พิจิตร 84-3' อายุเก็บเกี่ยวสั้น-ผลผลิตสูง : โดย...ทีมข่าวเกษตร)

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ