Lifestyle

เลตองคุ ตอน หมู่บ้านสุดชายแดน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลตองคุ ตอน หมู่บ้านสุดชายแดน : คอลัมน์ถิ่นไทยงาม

                เอ่ยชื่อ "เลตองคุ" หลายคนถามว่าอยู่ที่ไหน แม้จะคุ้นๆ ชื่อ แต่หาพิกัดค่อนข้างยาก เพราะเป็นหมู่บ้านที่อยู่ในจังหวัดตาก แต่ติดกับจังหวัดกาญจนบุรี และอยู่ตะเข็บชายแดนประเทศพม่า มีลำน้ำสุริยะกั้นขวางไว้ หมู่บ้านที่ยังมีวิถีของตัวเองที่ค่อนข้างเหนียวแน่น โดยเฉพาะการนับถือ ฤาษี

                เมื่อก่อนคนที่เข้าไปถึงหมู่บ้านแห่งนี้ มักใช้วิธีเดินเท้า แต่ปัจจุบัน มีทางรถเข้าถึง โดยต้องไปเข้าทางอำเภออุ้มผาง จ.ตาก แล้วใช้เส้นทางไปทางน้ำตกทีลอซู เลยไปจนเกือบสุดชายแดนที่หมู่บ้านเปิ่งเคลิ่ง จะมีทางแยกไปหมู่บ้านเลตองคุ  ถนนตัดแล้วก็จริง แต่ทั้งดิ่ง ชัน หักโค้ง สารพัดจะเจอ ถนนยังเป็นลูกรังแข็งๆ กว้างพอรถผ่านไปได้ 

                ระยะทางจากกรุงเทพฯ เกือบ 800 กม. ใช้เวลาเดินทางราวๆ 14-15 ชั่วโมง ไม่นับเวลาหยุดนอน 

                บ้านเลตองคุ ปรากฏในสายตาเมื่อเวลาสายๆ ของอีกวัน สายหมอกลอยเลาะทิวเขาสลับซับซ้อน หมู่บ้านนี้อยู่บนที่สูง แต่มีสภาพเป็นแอ่งกระทะ มีธารน้ำหล่อเลี้ยง และดูจะชุ่มชื่น มีชีวิตชีวากว่าเส้นทางที่ผ่านมา  

                สภาพหมู่บ้านเหมือนลักษณะของหมู่บ้านชายขอบทั่วๆ ไป หากแต่บ้านเรือนมีความมั่นคงแข็งแรงขึ้น ถนนภายในหมู่บ้านยังเป็นดินลูกรัง เพียงแค่รถแล่นผ่านก็เป็นเป้าสายตา เพราะความที่หมู่บ้านนี้ มีรถใช้เท่าที่เห็นไม่เกิน 3 คัน พาหนะหลักเป็น รถอีแต๊ก ที่ใช้ขนพืชผลทางการเกษตร และขนคนเดินทางไปที่ต่างๆ เนื่องจากมีความเหมาะสมกับสภาพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีรถจักรยานยนต์อยู่บ้าง

                ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านนับถือฤาษีอย่างเคร่งครัด เลยมีกฎข้อห้ามทั้งเรื่องอาหารการกิน ที่นี่ห้ามดื่มสุรา เล่นการพนัน และเสพยาเสพติด 

                เอกลักษณ์ที่เห็นได้ชัดของกระเหรี่ยงเลตองคุ ก็คือ การแต่งกาย เพราะผู้ชายห้ามใส่เสื้อยืด ใส่ได้แต่เสื้อแขนยาวธรรมดาและโสร่งสีพื้น ส่วนผู้หญิงใส่ชุดกระเหรี่ยงสีขาว แต่ถ้าแต่งงานแล้วก็ต้องเป็นชุดแม่บ้านที่มีสีสัน ส่วนผมห้ามตัดเป็นทรง ยกเว้นโกนหรือไว้ยาวและขมวดปมเป็นจุกไว้กลางกระหม่อมหรือหน้าผาก ซึ่งเราจะเห็นเอกลักษณ์ของกระเหรี่ยงที่หมู่บ้านแห่งนี้ และเลยไปถึงอีกบางหมู่บ้านที่นับถือฤาษี ใน ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง

                ก่อนนี้เคยมีข่าวของความรุนแรง และมีภาพของชายไว้จุกแบบกะเหรี่ยง หากแต่เมื่อไปถึงเลตองคุ ต้องบอกว่า จริงๆ แล้ว พวกเขาเป็นคนใจดี ยิ้มแย้มทักทาย ใครมาถึงเรือนชานเป็นต้อนรับ ฉันไปแบบคนต่างถิ่น เขายังเชื้อเชิญขึ้นบ้าน หาข้าวปลามารับรอง แน่นอนว่าเป็นอาหารแบบมังสวิรัติ และมาจากผลผลิตที่ปลูกได้ เช่น ข้าว และถั่วบด ของหวานก็เป็นน้ำอ้อยก้อน ร้านค้าเริ่มมีเมื่อความเจริญเข้าถึง แต่ก๋วยเตี๋ยวที่นี่ชามละแค่ 10 บาท แต่อิ่มตื้อไม่ต้องเบิ้ลเลยจริงๆ ดูค่าครองชีพเอาเถอะ

                 ด้วยความเป็นหมู่บ้านชายแดนสุดขอบประเทศไทย แถมเป็นที่เชิงเขา พื้นที่ทำกินของชาวเลตองคุ เลยต้องไปเช่าพื้นที่ชายแดนพม่าที่มีเพียงลำน้ำสุริยะกั้นขวาง โดยจ่ายค่าเช่าเป็นรายปีให้กับทหารพม่า

                แต่วันนี้ คณะกรรมการหมู่บ้าน  และ ไบโซ คีรีดุจจินดา ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน ต้องร่วมกันทำความเข้าใจกับชาวบ้าน หลังมีจดหมายจากทหารพม่า เรียกให้ไปเจรจาเรื่องค่าเช่าที่ ก่อนจะมีการสับเปลี่ยนกำลัง ที่อาจจะทำให้ชาวบ้านต้องเสียส่วยถึง 2 รอบถ้าจะข้ามไปทำไร่ ไม่เช่นนั้นก็อาจจะไม่ปลอดภัยเหมือนกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ที่ถูกลอบยิงหลังจากกลับจากเจรจากับทหารพม่าเมื่อก่อนหน้านี้

                นอกจากเรื่องของที่ทำกินแล้ว  ความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นี่ดูไม่เดือดร้อน บ้านเรือนไม่ต้องมีรั้วรอบขอบชิด ไม่มีปัญหาลักขโมย เพราะความที่มีทั้งกฎหมายและกฎของหมู่บ้าน กฎของฤาษีในการดูแล ตกเย็นวัยรุ่นหรือเด็กๆ จะจับกลุ่มเล่นทอยสะบ้า ตกค่ำก็ไปรวมตัวที่บ้านใดบ้านหนึ่งดูละครทีวีด้วยกัน ก่อนจะแยกย้ายบ้านใครบ้านมันเมื่อละครจบ รุ่งขึ้นก็ออกไปทำมาหากิน

                นี่แหล่ะ ... สุขแบบง่ายๆ ของชาวบ้านเลตองคุ 

 

 ..........................................

(เลตองคุ ตอน หมู่บ้านสุดชายแดน : คอลัมน์ถิ่นไทยงาม)

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ