Lifestyle

สภาวิจัยแนะปราบเพลี้ยด้วย'ชีวินทรีย์'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สภาวิจัยแนะปราบเพลี้ยด้วย 'ชีวินทรีย์' ทางรอดผู้ปลูกมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

 

                         ต้องยอมรับว่าการระบาดของเพลี้ยแป้งสีชมพูในไร่มันสำปะหลังครั้งใหญ่ในหลายพื้นที่ของ จ.กาญจนบุรี และสุพรรณบุรี เมื่อปี 2551-2552 นั้น ได้สร้างความเสียหายอย่างย่อยยับแก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จนไม่สามารถประเมินค่าได้ บางรายถึงกับต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ผลตอบแทนที่ได้กลับกลายเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น อันเป็นผลเนื่องมาจากมหันตภัยร้ายจากแมลงศัตรูพืชชนิดนี้

                         จากนั้นในปี 2553 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติเร่งหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยทำการทดลองวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังของเกษตรกรในหลายอำเภอของ จ.กาญจนบุรี และสุพรรรบุรี บนเนื้อที่กว่า 2 หมื่นไร่ ภายใต้โครงการใช้ศัตรูธรรมชาติเพื่อการแก้ปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน หรือ "กาญจนบุรี โมเดล"

                         "โครงการนี้เริ่มเมื่อปี 2553 ที่เราเริ่มต้นด้วยมันสำปะหลัง ก็เพราะตอนนั้นเพลี้ยระบาดอย่างหนัก ภาครัฐแก้ไม่ได้แล้ว เกษตรกรที่เคยปลูกมันได้ 4-5 ตันต่อไร่ก็ลดลงเหลือ 2-3 ตัน สภาวิจัยก็อาสารัฐบาลมาทำตรงนี้ เพราะเราทำวิจัยได้ผลสำเร็จมาแล้ว ผ่านมาเกือบ 2 ปี เราไม่เคยได้ยินเพลี้ยแป้งระบาดอีกเลยและเราก็พบว่าชาวบ้านเริ่มมั่นใจการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้แทนการใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและใช้ไม่ได้ผล ซ้ำยังทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มด้วย" ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวระหว่างนำคณะสื่อมวลชนลงไปพื้นที่ดูการแก้ปัญหาเพลี้ยแป้งสีชมพูระบาดในมันสำปะหลังในพื้นที่ ต.วังไผ่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา หลังสภาวิจัยให้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อทำโครงการต่อเนื่องระยะที่ 2 ระหว่างปี 2555-2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ตัดวงจรการระบาดของแมลงศัตรูมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน

                         โดยจากผลการดำเนินงานของโครงการในปี 2553 ที่ผ่านมาในการทดลองนำ "แมลงช้างปีกใส" ปล่อยในแปลงมันสำปะหลังของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ปรากฏว่า สามารถหยุดยั้งการระบาดของเพลี้ยะแป้งสีชมพูได้ 100% และสามารถตัดวงจรเพลี้ยะแป้งได้เกือบทั้งหมด ก่อนจะขยายพื้นที่โครงการเพิ่มเป็น 5 หมื่นไร่ในเวลาต่อมา

                         "ช่วงปี 2551-2552 เกิดเหตุการณ์เพลี้ยแป้งสีชมพูระบาดในมันสำปะหลังอย่างรุนแรง พอปี 2553 เราก็ได้งบจาก วช.มา 10 ล้านเพื่อทำโครงการนี้ตอนนั้นเราสามารถผลิตแมลงช้างปีกใสเดือนหนึ่งประมาณ 2 ล้านฟองแล้วก็ส่งสเริมให้ชาวบ้านช่วยกันผลิตเองด้วย เช่น เอามุ้งคลุมบ้าง อะไรบ้าง ในแปลงมีแมลงช้างก็เก็บมาขยายพันธุ์ต่อ พยายามส่งเสริมให้ชาวบ้านช่วยเหลือตัวเอง ตอนนี้รายใหญ่ๆ เขาจะเลี้ยงเองหมด ส่วนเราก็จะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้ ปีแรกที่เราทำมีเป้าหมายช่วยเหลือเกษตรกร 2 หมื่นไร่ พอทำจริงครอบคลุมไปถึง 5 หมื่นไร่" 

                         รศ.ดร.วิวัฒน์ เสือสะอาด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ กล่าวถึงผลการดำเนินงานของโครงการในปี 2553 หลังประสบความสำเร็จในโครงการแรก จากนั้นก็ขยายผลมาสู่โครงการเฟสสอง ซึ่งได้ดำเนินการระหว่างปี 2555-2557 โดยเน้นการเจาะลึก การให้องค์ความรู้แก่เกษตรกรแกนนำเพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งในอนาคต

                         "โครงการแรกเราปลุกระดมให้เกษตรกรเห็นความสำคัญ ยึดแนวกว้างเข้าไว้ เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นใจ จากนั้นเราจึงเซตโครงการต่อเนื่องอีก 3 ปีคือปี 2555-2557 งบครึ่งหนึ่ง คือ 4 ล้านกว่าบาทยังเน้นเกษตรกรกลุ่มเดิม แต่จะวงให้แคบเข้ามา เพื่อเจาะลึกหาแนวร่วม วางเป้าหมายให้เขาเป็นเครือข่ายของเราให้ได้ เพราะถึงที่สุดแล้วเขาจะต้องทำกันเอง ศูนย์นคอยเป็นพี่เลี้ยงให้เท่านั้น"

                         หัวหน้าโครงการระบุอีกว่า ที่จริงแมลงช้างปีกใสในธรรมชาติมีอยู่แล้ว แต่ที่ปล่อยก็เพื่อไปกระตุ้นแมลงช้างปีกใสให้เพิ่มปริมาณให้มากขึ้น สำหรับแมลงช้างปีกใส เป็นตัวห้ำอยู่ในวงศ์ Chrysopidae มีประโยชน์ใช้ในการกำจัดศัตรูพืชที่มีขนาดเล็กเช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ตัวอ่อนแมลงหวี่ขาวและไข่หนอนศัตรูพืช โดยตัวเต็มวัย ลำตัวจะมีสีเขียวอ่อน ตาสีทองอมแดง หนวดยาวเรียว ปีกสีเขียวอ่อนใส เห็นเส้นปีกชัดเจน เมื่อเกาะนิ่งจะแนบลำตัวคล้ายหลังคา ตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ วางไข่ได้ประมาณ 400-500 ฟอง

                         ขณะที่ รศ.โกศล เจริญสม นักวิชาการเชี่ยวชาญด้านแมลง ที่ปรึกษาโครงการ อธิบายถึงวิธีกำจัดเพลี้ยแป้งชมพูในมันสำปะหลังของแมลงช้างปีกใส ว่าเขาจะใช้กรามที่โค้งยาวยื่นจับเหยื่อและดูดกินของเหลวภายในจนเหยื่อตาย โดยเฉพาะเพลี้ยอ่อน สามารถกินได้ประมาณ 60 ตัว ในเวลา 1 ชั่วโมง ส่วนตัวเต็มวัยกินน้ำหวานเป็นอาหาร สำหรับระยะการปล่อยที่เหมาะสมคือระยะตัวหนอนโดยปล่อยในช่วงเวลาที่ไม่ร้อนจัด

                         ส่วนวิธีการปล่อยนั้น รศ.โกศล แนะว่าให้นำตัวหนอนหรือไข่แมลงช้างปีกใสใส่ภาชนะเป็นกรวยกระดาษ หรือกล่องพลาสติกแล้วนำมาแขวนใว้บนหรือใต้ต้นมันสำปะหลัง ส่วนอัตราการปล่อยขึ้นอยู่กับปริมาณศัตรูพืช โดยเฉลี่ย 100-200 ตัวต่อไร่ แต่ถ้าศัตรูพืชมีปริมาณสูงก็ประมาณ 1,000-2,000 ตัวต่อไร่ และควรหลีกเหลี่ยงการใช้สารกำจัดศัตรูพืชทุกชนิดหลังมีการปล่อยแมลงช้างปีกใสลงไปในแปลงมันสำปะหลัง

                         การกำจัดเพลี้ยแป้งสีชมพูในมันสำปะหลังด้วยแมลงช้างปีกใส ภายใต้โครงการใช้ศัตรูธรรมชาติเพื่อการแก้ปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน โดยศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ นับเป็นวิธีที่ไม่เพียงการแก้ปัญหาหยุดการระบาดของเพลี้ยเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรและช่วยลดทุนต้นการผลิตจากการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชได้อีกด้วย

 

--------------------

มั่นใจชีวินทรีย์แก้เพลี้ยระบาดยั่งยืน

 

                         นันทพล ภัทรวารินทร์ ชาวไร่มันสำปะหลังวัย 55 ปี แห่ง ต.วังหลาย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี กล่าวถึงผลสำเร็จหลังจากเข้าร่วมโครงการว่า นอกจากช่วยลดต้นทุนการผลิตในเรื่องค่าใช้จ่ายซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชแล้วยังเป็นผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรอีกด้วย ที่สำคัญการใช้วิธีการนี้สามารถกำจัดเพลียะได้ดีกว่าการใช้ยาฆ่าแมลง  เนื่องจากเพลียะแป้งสีชมพูมักจะหลบซ่อนอยู่ตามใต้ใบมันสำปะหลังที่สารเคมีเข้าไปไม่ถึง

                         "ช่วงแรกๆ ไม่มีใครสนใจ ใช้สารเคมีพ่นอย่างเดียว เพราะเห็นผลไวและความเคยชิน แต่พอเขาเห็นของเราก็เริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เดี๋ยวนี้เกษตรกรผู้ปลูกมันในละแวกใกล้ๆ เริ่มเลิกใช้สารเคมีแล้วหันมาใช้วิธีนี้กันมากขึ้น เพราะเห็นเราทำแล้วได้ผลดี"

                         เกษตรกรรายเดิมยอมรับว่า การกำจัดเพลี้ยด้วยชีวินทรีย์ไม่เพียงมีผลดีต่อสุขภาพและลดต้นทุนการผลิตเท่านั้น แต่ยังทำให้ผลผลิตมันเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากเดิมจะให้ผลผลิตเฉลี่ยเพียง 2-3 ตันต่อไร่ เนื่องจากพื้นที่ปลูกบางส่วนถูกเพลี้ยทำลาย กัดกินใบ จนไม่มีอาหารไปเลี้ยงหัวได้ แต่หลังจากมีการกำจัดเพลี้ยแล้วทำให้มันสำปะหลังมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 4-5 ตันต่อไร่ และยืนยันว่าจะดำเนินการแก้ปัญหาเพลี้ยระบาดโดยวิธีการนี้ให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่กว่า 700 ไร่ต่อไป

 

 

--------------------

(สภาวิจัยแนะปราบเพลี้ยด้วย 'ชีวินทรีย์' ทางรอดผู้ปลูกมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)

 

 

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ