Lifestyle

ชมพูพันธุ์ทิพย์'ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร'นำเข้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชมพูพันธุ์ทิพย์'ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร'นำเข้า : จังโก้ฮิดัลโก้รายงาน

            ความเป็นธรรมชาติกับเมืองใหญ่ดูเหมือนจะอยู่รวมกันได้ยาก ในท่ามกลางตึกรามของกรุงเทพฯเอง ในซอกตึกปูน รั้วเหล็กและกระจกมืดในตรอกซอกซอยก็มีต้มไม้น้อยใหญ่ที่พอจะแทรกอยู่ได้บ้าง หนึ่งในบรรดาต้นไม้สวยงามเหล่านั้นก็คือต้นชมพูพันธุ์ทิพย์

            ทุกๆปีในระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์จะออกดอกสีชมพูบานสะพรั่งตามถนนหนทาง ตรอกซอยและสวนทั้งหลายที่มีต้นไม้ชนิดนี้อยู่ก็จะถูกแต้มไปด้วยสีชมพูทั้งต้น เพราะใบสีเขียวนั้นจะร่วงหมดจนเหลือแต่ดอกสีชมพู บรรดาดอกที่ร่วงหล่นลงมาบนพื้นก็เช่นกัน นานวันเข้าก็กลายเป็นพรมสีชมพูสวย ดาษไปด้วยดอกทรงแตรนับร้อยนับพัน

            ทุกครั้งที่มองเห็นต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ ก็ทำให้ผมระลึกถึงบ้านเกิดที่อเมริกากลาง ไปจนถึงทวีปอเมริกาใต้ ที่มีต้นไม้ชนิดคล้ายๆกัน แต่จะเรียกกันว่า ต้นโอ้ค (Robles อ่านว่า “โรเบลส” ในภาษาสเปน) นั้นเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันในแถบแหลมยูคาตัน (Yucantan) ของประเทศเม็กซิโก ต้นไม้ชนิดนี้มีชื่อในภาษาวิทยาศาสตร์ว่า Tabebuia rosea และในประเทศเบลิซ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ต้นเมย์ฟลาวเวอร์ มาจากที่ต้นไม้ชนิดนี้มักจะบานในเดือนพฤษภาคม (ซึ่งจริงๆแล้วก็เริ่มบานตั้งแต่เดือนเมษายน) ในประเทศสเปนนั้นกลับเรียกชื่อตามภาษาชนเผ่าของอเมริกากลางว่า “Maquilishuat” (มากิลิชูอาท) ซึ่งประเทศเอล ซานวาดอร์ ก็เรียกชื่อนี้เช่นกันและใช้คู่กับชื่อ “Roble de la sabana” (โรเบส เด ลา ซาบาน่า แปลว่า ต้นโอ้คสะวันน่า) ถือเป็นต้นไม้ประจำชาติเอล ซานวาดอร์

            ส่วนในไทยนั้นต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Tabebuia heterophylla” อยู่ในวงศ์ Bignoniaceae ชาวต่างชาติจะเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า ต้นทรัมเป็ตชมพู (Pink Trumpet Tree) แต่ชื่อไทยว่าชมพูพันธุ์ทิพย์นั้นได้มาจากชื่อของ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์  บริพัตร ผู้นำต้นไม้ชนิดนี้เข้ามาในประเทศเป็นท่านแรก กรณีการตั้งชื่อต้นไม้ชนิดใหม่ตามชื่อของผู้ที่นำเข้าไปในประเทศหนึ่งๆนี้ก็มีเกิดขึ้นกับต้นคริสมัส ที่มีชื่อทางการว่า Poinsettia ได้มาจากชื่อของอดีตทูตอเมริกันประจำเม็กซิโก Joel Poinsett ผู้นำต้นคริสมัสจากเม็กซิโกไปยังสหรัฐอเมริกา บางครั้งมีการเรียกต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ว่า “ตาเตบูย่า” (Tatebullá) ซึ่งเป็นชื่อเรียกเพี้ยนมาจากชื่อวิทยาศาสตร์ หรือบ้างก็เรียกง่ายๆว่า “ทรัมเป็ตชมพู” จากลักษณะของดอก

            ต้มชมพูพันธุ์ทิพย์เป็นสายพันธุ์เดียวกับต้นอิเป้ (Tabebuia chrysantha) ที่พบมากทั่วไปในประเทศบราซิล ส่วนใหญ่จะเป็นดอกสีเหลือง จึงมีชื่อภาษาโปรตุเกสที่แปลว่า อิเป้เหลือง (Ipé amárelo)
คนทั่วไปอาจจะสับสนชื่อของต้นชมพูพันธุ์ทิพย์กับต้นชมพูภูคา ที่พบในภาคเหนือของไทยที่ดอยภูคา จังหวัดน่านที่ระดับความสูงเกือบสองพันเมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า (Bretschneidera sinensis) พบเฉพาะทางตอนใต้ของจีน เวียดนามตอนบน ไต้หวัน และภาคเหนือของไทย

            ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์หรือต้มทรัมเป็ตชมพูนี้เป็นสายพันธุ์จากทวีปอเมริกา พบในหลายพื้นที่ตั้งแต่สหรัฐอเมริกาไปจนถึงอาร์เจนตินาในอเมริกาใต้ ในประเทศเบลิซ (เดิมชื่อประเทศฮอนดูรัสอังกฤษ) ก็ยืนยันว่าต้นเมย์ (May Tree) นั้นถูกนำมาจากยุโรปหลายศตวรรษก่อนโดยชาวอาณานิคมอังกฤษ และจากการศึกษาทางพฤกษศาสตร์ก็พบว่าต้นเมย์ หรือ ฮาวธอร์น (Hawthorn) หรือ จูดาส (Judas Tree) นั้นเป็นอีกชนิดหนึ่งที่บานในช่วงพฤษภาคมเช่นเดียวกัน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า (Crataegus monogyna) มีดอกสีขาวและใช้กินเป็นสลัดได้ด้วย

            ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์มักจะสลัดใบในระหว่างเดือนธันวาคมและต้นมกราคม ใบร่วงโกร๋นทั้งต้นแล้วจึงผลิดอกสีชมพูในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ บานสะพรั่งทั้งต้นพร้อมกับแตกใบเขียวใบใหม่สวยงาม ประดับประดาถนนหนทางในเมืองให้สวยแปลกตา เดินผ่านถนนสายเหล่านี้ในกรุงเทพฯก็ชวนให้หวลนึกถึงบ้านเกิดที่อยู่ในอีกซีกโลกหนึ่ง ที่ที่มีวัฒนธรรม ภาษา และหลายสิ่งที่ทั้งเหมือนและแตกต่างจากที่นี่ รวมทั้งต้นไม้เมืองร้อนหลายชนิดที่มีเหมือนกัน และต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ก็คือหนึ่งในบรรดาต้นไม้เหล่านั้น

..............

(หมายเหตุ : ชมพูพันธุ์ทิพย์'ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์  บริพัตร'นำเข้า : จังโก้ฮิดัลโก้รายงาน)
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ