พระเครื่อง

ประเคน-ถวาย:คำวัด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประเคน - ถวาย : คำวัด โดยพระธรรมกิตติวงศ์

              คำว่า "สังฆทาน" มีความหมายว่า ถวายสิ่งที่เป็นประโยชน์ เกื้อกูลแก่พระสงฆ์ เห็นว่าอะไรจะเป็นประโยชน์เท่านั้นแก่สงฆ์ หรือเกื้อกูลไปถึงหมู่คณะ แล้วจัดถวาย เรียกว่า เป็นสังฆทานทั้งนั้น

              การถวายสังฆทานนั้น เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าคือการนำถังใส่จตุปัจจัยสีเหลืองไปถวายแด่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง หรือหลายรูปเท่านั้น แต่ความจริงแล้วสังฆทานอาจหมายถึงการถวายปัจจัยวัตถุใดๆ ก็ได้ ที่เป็นประโยชน์แก่คณะสงฆ์โดยส่วนรวม เช่นการถวายกุฏิวิหาร หนังสือ ปากกา จาน หรือแม้กระทั่งไม้กวาด แม้จะกล่าวคำถวายหรือไม่กล่าว หรือกล่าวคำถวายเป็นอย่างอื่น แต่อาการแห่งการถวายเป็นการอุทิศให้แก่สงฆ์ เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ ก็จัดเป็นสังฆทานได้
 
              พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙ ราชบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดราชโอสาราม ได้อธิบายความหมายไว้ว่า การประเคน หมายถึง การถวายของ การส่งของให้พระถึงมือ ของที่ประเคนนั้นต้องไม่ใหญ่หรือหนักจนคนเดียวยกไม่ได้ ถ้าเป็นของเคี้ยวของฉันจะต้องประเคนในกาล คือตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวันเท่านั้น หลังจากนั้นเป็นวิกาลไม่ควรประเคน

              วิธีประเคน คือ นั่งหรือยืนห่างจากพระประมาณ ๑ ศอก จับของที่จะประเคนด้วยมือทั้งสองหรือมือเดียวก็ได้ ยกให้สูงพ้นพื้นเล็กน้อยแล้วน้อมประเคนด้วยความเคารพ ถ้าเป็นบุรุษ พระจะรับด้วยมือทั้งสอง ถ้าเป็นสตรี พระจะทอดผ้าสำหรับประเคนออกมารับ พึงวางของบนผ้านั้นแล้วปล่อยมือ เมื่อประเคนเสร็จแล้วพึงกราบหรือไหว้แล้วแต่กรณี 

              การประเคนเป็นการยกให้ด้วยความเต็มใจ เป็นการปกป้องมิให้พระถูกกล่าวหาว่าเป็นขโมย

              การประเคนที่ถูกต้องตามหลักพระวินัยมีลักษณะที่กำหนดไว้ ๕ ประการ ดังนี้
๑.สิ่งของที่จะประเคนต้องไม่ใหญ่จนเกินไปหรือหนักเกินไป ขนาดคนพอมีกำลังปานกลางยกขึ้นได้ ถ้าหนักหรือใหญ่เกินไปไม่ต้องประเคน
  ๒.ผู้ประเคนต้องอยู่ในหัตถบาส คือเอามือประสานกันแล้วยื่นไปข้างหน้า ห่างจากพระภิกษุสงฆ์ผู้รับประมาณ ๑ ศอก
  ๓.ผู้ประเคนน้อมสิ่งนั้นส่งให้พระภิกษุสงฆ์ด้วยกิริยาอ่อนน้อม แสดงความเคารพ
  ๔.การน้อมสิ่งของเข้ามาให้นั้น จะส่งให้ด้วยมือก็ได้ หรือใช้ของเนื่องด้วยกายก็ได้ เช่น ใช้ทัพพี หรือช้อนตักอาหารใส่บาตรที่ท่านถือ หรือสะพายอยู่ก็ได้
  ๕.ในกรณีผู้ประเคนเป็นชาย พระภิกษุสงฆ์ผู้รับจะรับด้วยมือ ในกรณีผู้ประเคนเป็นผู้หญิง จะรับด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่น ผ้าทอดรับ ใช้บาตรรับ ใช้จานรับ
  สิ่งของที่ไม่สมควรประเคนถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ คือ เงิน และวัตถุที่ใช้แทนเงิน เช่น ธนบัตร ไม่สมควรประเคนพระภิกษุสงฆ์โดยตรง แต่นิยมใช้ใบปวารณาดังตัวอย่างแทนตัวเงิน ส่วนตัวเงินนิยมมอบไว้กับไวยาวัจกรของพระภิกษุสงฆ์รูปนั้น
ใบปวารณานี้ นิยมใส่ซองร่วมถวายไปกับเครื่องไทยธรรม ส่วนเงินค่าจตุปัจจัยนั้น มอบไปกับศิษย์หรือไวยาวัจกรของพระภิกษุสงฆ์นั้นๆ
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ