Lifestyle

วิกฤติอนาคตภาคเกษตรไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิกฤติอนาคตภาคเกษตรไทย คนรุ่นใหม่ทิ้งทุ่งนาสู่เมืองใหญ่ : โดย...ดลมนัส กาเจ

                         แม้ที่ผ่านมาเห็นชัดเจนแล้วว่า ภาคการเกษตรของไทยช่วยชาติได้ สามารถกู้วิกฤติเศรษฐกิจถึง 2 ครั้ง 2 ครา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ยุคฟองสบู่แตก หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง และวิกฤติเศรษฐกิจที่ได้ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาถอถอย หรือวิฤกติแฮมเบอร์เกอร์" เมื่อปี 2552 ก็ตาม แต่ภาคการเกษตรของไทยเราตกอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง คนรุ่นใหม่ต่างเมินอาชีพเกษตร และหันหน้าเข้าสู่สังคมเมืองและภาคอุตสาหกรรม ทำให้ในท้องไร่ปลายนา เหลือแต่แรงงานผู้สูงอายุเกินกว่า 80% ไม่เพียงแต่ภาคการเกษตรที่ขาดแคลนคนรุ่นใหม่ หากแต่สถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ก็ประสบปัญหาด้านนิสิต-นักศึกษาเข้าเรียนคณะเกษตรที่นับวันน้อยลงอย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งอดีตคณะเกษตรเป็นคณะที่เด่น แต่วันนี้กลับพบว่ามีนิสิตเลือกเรียนน้อยมาก

                         รศ.ดร.วิจารณ์ วิชชุกิจ คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาเกษตรศาสตร์ (มก.) บางเขน กล่าวว่า จากการที่คณะเกษตรได้มีการศึกษาและทำการบันทึกข้อมูลสถิติไว้ทุกปีอย่างต่อเนื่อง พบว่าสถิติเด็กที่มาสมัครเรียนเกี่ยวกับเกษตรมีจำนวนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับอดีต อย่างปีที่ผ่านมานี้มีจำนวนเด็กลดลง 7-8% และเด็กที่สมัครเรียนเกษตรส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่เลือกคณะหรือสาขาเกษตรเป็นอันดับ 3 หรือ 4 ตรงนี้สะท้อนให้เห็นได้ว่าเด็กไทยไม่อยากเรียนเกษตร สาเหตุเพราะเด็กไม่เข้าใจเรียนเกษตรจบแล้วทำอะไร ทั้งที่ความจริงภาคการเกษตรสามารถช่วยชาติได้ทุกครั้งเมื่อยามเกิดภาวะวิกฤติด้านเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจทั้งปี 2540 และปี 2552

                         "คนไทยเราโชคดีที่เป็นเจ้าของประเทศที่ตั้งอยู่ในชัยภูมิอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของโลก แต่น่าเสียดายที่คนในสังคมของไทยเราไม่ให้ความสำคัญงกับอาชีพเกษตรกรรม เกษตรกรไทยผู้ผลิตอาหารเลี้ยงพลโลกถูกมองเป็นชนชั้นสอง ภาครัฐเองก็ไม่มีทิศทางการพัฒนาระบบการเกษตรอย่างจริงจัง ผมไม่เคยเห็นว่ารัฐบาลมียุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรในระยะยาว ปัญหาการเมืองไทยทำให้นโยบายการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะด้านการเกษตรมีไม่ต่อเนื่อง เกษตรกรไม่ได้รับการเหลียวแลเท่าที่ควร อาจเป็นไปได้ว่าผู้บริหารเห็นรายได้จากภาคการเกษตรเพียง 10% ของจีดีพีทั้งประเทศ โดยไม่ได้มองว่าประชากรกว่า 40% ของคนทั้งประเทศเป็นกลุ่มเกษตรกร ตรงนี้ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอาชีพเกษตร แม้แต่สื่อมวลชนเองจะไม่ค่อยพูดถึงภาคการเกษตรที่ประสบผลสำเร็จ แต่เวลาภาคการเกษตรมีปัญหา มีการประท้วงเทนมกลางถนน กลับไปประโคมข่าว ทำให้คนรุ่นใหม่มองว่าภาคการเกษตรมีแต่ปัญหา" คณบดีคณะเกษตร มก.กล่าว    

                         ด้านเด็กรุ่นใกม่อย่าง น.ส.กัลยรัตน์ สาธุกิจชัย นิสิตคณะอุตสาหกรรมเกษตร ปีที่ 3 มก.บางเขน กล่าวในรายการ "เกษตรทำกินกับคม ชัด ลึก" เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า เกิดในครอบครัวเกษตรกร ทำสวน ทำนา ที่ จ.จันทบุรี เห็นคุณพ่อคุณแม่ทำอาชีพเกษตร ทำสวนผลไม้ และทำนาเหนื่อยมาก แต่รายได้ไม่แน่นอน เพราะราคาแกว่งตลอดเวลา ปีไหนผลผลิตดีราคาถูก บางปีไม่คุ้มกับต้นทุน พอทางบ้านพอมีเงินบ้างจึงให้เรียนเพื่อหวังที่จะนำความรู้ไปประกอบอาชีพที่เหนื่อยน้อยกว่า

                         ส่วนที่ น.ส.สุวรรณา ทองใบ สาวโรงงานเย็บกางเกงยีน "จัสติน" วัย 28 ปี ย่านชุมชนเคหะร่มเกล้า ต.คลองสองต้นนุ่น เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ให้เหตุผลว่า เคยคลุกคลีอยู่กับการทำนาและปลูกผักในฐานะที่เกิดในครอบครัวเกษตรกรที่ ต.เมยวดี อ.เมยวดี จ.ร้อยเอ็ด เห็นพ่อแม่ทำนาปลูกผักแล้วน่าสงสาร เพราะเป็นอาชีพที่เหนื่อยมาก แต่รายได้น้อย มีปัญหามากมายไม่ว่าจะเป็นด้านราคาผลผลิตที่ไม่แน่นอน ปัญหาแมลงศัตรูพืช ปัญหาด้านการขาดแคลนน้ำ และบางปีน้ำท่วมทำให้ผลผลิตเสียหาย ถึงขนาดบางปีผลผลิตได้แทบจะเก็บบริโภคไม่เพียงพอ

                         "ฉันมองเห็นว่าอาชีพเกษตรเหนื่อยมาก ถ้าจะให้เลือกระหว่างกลับไปทำนากับการเป็นสาวโรงงานก็จะเลือกเป็นสาวโรงงานมากกว่า มีรายที่แน่นอน เป็นสาวโรงงานดีกว่า อย่างน้อยสิ้นเดือนก็มีเงินใช้แล้ว ขณะที่ทำนาต้องรอเป็นปี ยังไม่ทราบว่าจะได้เท่าไร ตอนนี้ก็คิดว่าถ้าอายุมากแล้ว ถ้าไม่จำเป็นก็คงจะหาอาชีพอื่นที่คิดไว้คือค้าขาย แต่เราอยู่บ้านนอกการเกษตรคงทำเล็กน้อยไว้กินเอง" สุวรรณา กล่าว

                         นี่เป็นการสะท้องให้เห็นว่า การที่คนรุ่นใหม่เมินอาชีพเกษตรนั้น เหตุผลคืออาชีพที่ต้องทำงานหนัก เหน็ดเหนื่อย ผลตอบแทนต่ำ และประสบปัญหาซ้ำซาก สอดคล้องกับข้อสรุปจากการระดมความคิดจากทุกภาคส่วนในหัวข้อ "อนาคตอุดมศึกษาสาขาเกษตรในปี 2564" จัดโดยสถาบันคลังสมองแห่งชาติ ที่อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เมื่อเร็วๆ นี้ สรุปว่าปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเกิดมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ไม่นอน เพราะมัวแต่เน้นนโยบายประชานิยมที่จะดึงเกษตรกรเป็นฐานเสียงมากกว่าการแก้ปัญหาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน ส่วนทางออกที่จะให้คนรุ่นใหม่สรุปได้ว่ารัฐบาลต้องจัดระบบการพัฒนาภาคการเกษตรให้ชัดเจน เกษตรกรมีรายที่แน่นอน ขณะที่สถาบันการศึกษาต้องปรับหลักสูตรให้สอดคล้องสภาพความเป็นจริงของการเกษตรเน้นที่ธุรกิจการเกษตรที่สามารถทำเองได้ตั้งแต่ต้นน้ำยันถึงปลายน้ำ นับตั้งแต่การปลูก เก็บผลผลิต แปรรูป และตลาด นอกจากนี้ต้องเน้นหลักสูตรวิทยาศาสตร์การเกษตรและเทคโนโยลีการเกษตร เป็นต้น

                         สอดรับกับแนวคิดของ นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าวที่ว่าต้องยอมรับอาชีการเกษตรนั้นเหนื่อย ค่าตอบแทนต่ำ ดังนั้นรัฐเองต้องส่งเสริมในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงาน นอกจากนั้นต้องช่วยการผลักดัน พ.ร.บ.สวัสดิการชาวนา เพื่อให้คุณภาพชีวิตชาวนาดีขึ้น มีหลักประกันรายได้ มีบำเหน็จบำนาญ มีสวัสดิการในยามเจ็บป่วย ซึ่งกรมการข้าวเองสนับสนุนให้ พ.ร.บ.นี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมให้เร็วที่สุด

                         ขณะที่ นายเปรม ณ สงขลา บรรณาธิการนิตยสารเคหะเกษตรผู้คร่ำหวอดในการทำข่าวเกษตรมายาวนาน และยังเป็นเกษตรกรที่ทำนาด้วย มองว่าสาเหตุหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามที่เยาวชนรุ่นใหม่เมินอาชีพเกษตรที่นอกเหนือไปจากเป็นอาชีพที่เหน็ดเหนื่อยก็คือปัญหาเรื่องขาดที่ทำกิน พื้นที่เกษตรรายย่อยถูกคุกคามด้วยภาคอุตสาหกรรมและบ้านจัดสรร จนพื้นที่การเกษตรน้อยลง พื้นที่สวนใหญ่ตกอยู่ในกำมือนายทุนรายใหญ่ เกษตรกรรายย่อยต้องเช่าที่ทำกิน ทางออกคือเกษตรกรต้องรวมกลุ่มและนำเทคโนโลยีมาใช้ในนามของกลุ่ม ทำเกษตรครบวงจรจึงจะอยู่ได้

                         ทั้งหมดนี้เป็นเสียงทะท้อนถึงสาเหตุว่าทำไมเยาวชนรุ่นใหม่เมินอาชีพด้านการเกษตร ทั้งที่ประเทศไทยมีพื้นฐานด้านเกษตรกรรม     

 

 

--------------------

(วิกฤติอนาคตภาคเกษตรไทย คนรุ่นใหม่ทิ้งทุ่งนาสู่เมืองใหญ่ : โดย...ดลมนัส  กาเจ)

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ