พระเครื่อง

สุดงง!พระว.ไม่ได้สมณศักดิ์เช่นพระพายัพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'เจ้าอาวาสวัดแก้วฟ้า' ยันไม่ผิดตั้ง 'พระพายัพ' เป็นพระครู ลูกศิษย์ 'ว.วชิรเมธี' สุดงงอาจารย์บวชมากว่า 20 ปี ความรู้ผลงานเพียบกลับไม่ได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์

               ๒๐ก.พ.๒๕๕๖ ยังคงไม่มีความกระจ่างกรณีที่สมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส แต่งตั้งพระพายัพ เขมคุโณ หรือนามเดิมนายพายัพ ชินวัตร น้องชายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นพระฐานานุกรมในตำแหน่ง "พระครูปลัดสัมพิพัฒน์ญาณจารย์" ทั้งที่เพิ่งจะอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่วัดป่าพุทธคยา ประเทศอินเดีย และจะมีกำหนดลาสิกขาวันที่ ๑๑  มีนาคมนี้ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากตามธรรมเนียมปฏิบัติพระสงฆ์ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมต้องอุปสมบทมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐ พรรษา

               เรื่องนี้พระครูไพศาล กิตฺติภทฺโท เจ้าอาวาสวัดแก้วฟ้า จ.นนทบุรี ซึ่งเคยประกอบพิธีเสริมดวง ต่อชะตาให้พ.ต.ท.ทักษิณ และคนในตระกูลชินวัตร กล่าวว่า ในอดีตเคยมีการแต่งตั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ทั้งที่บวชได้เพียง ๓ พรรษา ต่อมาท่านก็ได้รับการยกย่องเป็นกวีเอกของโลก กรณีของพระครูปลัดสัมพิพัฒน์ญาณจารย์ก็เช่นกัน ถ้าสมเด็จพระธีรญาณมุนี มีเมตตาถือเป็นเรื่องปกติ ถึงจะบวชได้เพียง ๓ วัน หรือ ๑ วันก็ตาม
 
               "เมื่อการแต่งตั้งอยู่ที่ความเมตตาของพระเถระ เป็นประเพณีปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ผิด แต่ความรู้สึกคนทั่วไปจะชอบหรือไม่ชอบก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าใช้ทัศนคติใดโดยไม่ดูราชประเพณีโบราณอาจเสียหายได้เหมือนกัน" เจ้าอาวาสวัดแก้วฟ้า กล่าว

               ขณะเดียวกันลูกศิษย์ของพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือรู้จักกันดีในนามปากกา "ว.วชิรเมธี" ที่มีชื่อเสียงว่า "เป็นพระนักวิชาการ นักคิดนักเขียน และนักบรรยายธรรม คนหนึ่งกล่าวว่า ไม่ทราบเหมือนกันว่าใช้หลักเกณฑ์อะไรแต่งตั้งพระพายัพเป็นพระครูปลัด หากเปรียบเทียบกับพระพระมหาวุฒิชัยแล้วถือว่าห่างชั้นกันมาก

               "ปัจจุบันพระมหาวุฒิชัยได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ นอกจากนั้นก็ยังรับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนาให้หน่วยงานต่างๆ อีกมากมาย ในแง่จริยวัตรส่วนตัวนั้นนอกจากท่านจะเป็นพระนักวิชาการ พระนักคิด นักเขียน แล้วท่านก็ยังสนใจฝึกสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่าสิบปี มีผลงานทางวิพากษ์และแนะนำสังคมหลายเรื่อง เช่น บทละครโทรทัศน์และหนังสือเรื่อง "ธรรมะติดปีก" ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลเสาเสมาธรรมจักร ในงานสัปดาห์พระพุทธศาสนาวิสาขบูชาประจำปี ๒๕๕๐ จึงน่าจะได้รับการเสนอชื่อให้พิจารณารับแต่งตั้งสมณศักดิ์มานานแล้ว" ลูกศิษย์พระมหาวุฒิชัย กล่าวและว่า

               ส่วนพระพายัพนั้นบวชไม่กี่วันก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูแล้ว และอีกไม่กี่วันก็จะสึก หากบวชไม่สึกแล้วและได้รับการแต่งตั้งก็พอจะน่าอนุโมทนาได้บ้าง แต่เมื่อเป็นแบบนี้อนุโมทนาไม่ได้จริงๆ

               ต่อกรณีที่พระมหาวุฒิชัยไม่ถูกเสนอชื่อให้พิจารณาได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์นั้นนายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เคยกล่าวไว้ว่า  แม้นว่าพระมหาวุฒิชัยจะมีผลงานที่เด่นจัด แต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์และระเบียบใดๆ ของมหาเถรสมาคม (มส.) ทั้งสิ้น การพิจารณาสมณศักดิ์ต้องไล่ที่ระดับ ต้องดูโควตา โดยมีเสนอตั้งแต่ระดับเจ้าอาวาส ทั้งนี้ ท่าจะได้ก็ต่อเมื่อ ต้องเสนอแต่งตั้งให้เป็นกรณีพิเศษเจริงๆ ไม่มีเกณฑ์ใดที่จะเสนอทั้งสิ้น 

               ทั้งนี้สำหรับพระมหาวุฒิชัยบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๐ ณ พัทธสีมาวัดครึ่งใต้ ต.ครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยมีพระครูโสภณจริยกิจ เจ้าคณะอำเภอเชียงของ เป็นพระอุปัชฌาย์ (ต้องการอ้างอิง) ต่อมาได้อุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ณ พัทธสีมาวัดครึ่งใต้ โดยมีพระเทพสิทธินายก (ชื่น ปญฺญาธโร) เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เป็นพระอุปัชฌาย์

                 การศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๓ สอบไล่ได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค สำนักวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พ.ศ. ๒๕๔๓ ศึกษาศาสตรบัณฑิต (ศษ.บ.) จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ พ.ศ. ๒๕๔๖ พุทธศาสตรมหาบัณฑิต (พธ.ม.) จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


ผลงานสำคัญ

               อาจารย์พิเศษบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

               อาจารย์พิเศษ สถาบันพระปกเกล้า วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน

               อาจารย์พิเศษและวิทยากรบรรยายตามมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นต้น

               วิทยากรบรรยายธรรมตามสถาบัน หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

               บรรณาธิการวารสารเบญจมบพิตรสัมพันธ์

               วิทยากรพิเศษบรรยายวิชาการทางพระพุทธศาสนา สอนวิปัสสนากรรมฐานให้หน่วยงานของรัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ โรงเรียน และมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนหลายแห่ง

               ประธานกลุ่มธรรมะการ์ตูน (ผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่น ชุด “พุทธประวัติ” เพื่อทูลเกล้าฯ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา

               ผู้เขียนตำราหมวดวิชาพระพุทธศาสนาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย

               กรรมการตรวจนักธรรม บาลี สนามหลวง

               เขียนบทความให้หนังสือพิมพ์ นิตยสารรายเดือน รายปักษ์ รายสัปดาห์ อาทิ เนชั่นสุดสัปดาห์ กรุงเทพธุรกิจ ชีวจิต ศักดิ์สิทธิ์ WE, HEALTH & CUISINE, Secret เป็นต้น

               เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันวิมุตตยาลัย (Vimuttayalaya Institute) อันเป็นสถาบันที่ศึกษา วิจัย ภาวนา และเผยแพร่ภูมิปัญญาทางพุทธศาสนาสู่ประชาคมโลก ภายใต้หลักการ "พุทธศาสนาเพื่อสันติภาพโลก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ