Lifestyle

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว

                พาไปรู้จักกับนกน้ำนกชายเลนกันมาก็หลายสัปดาห์ กลับมาครั้งนี้ขอแนะนำนก “ป่า” จริงๆ กันบ้าง ไม่มีแหล่งอาศัย (habitats) ใดที่มีนกสวยงามและหลากหลายมากเท่าป่าอีกแล้วครับ ในบรรดานกสามัญประจำป่าที่พบเห็นได้ทั่วทุกภาคและมีสีสันสวยงาม ตัวเลือกแรกที่ผู้เขียนนึกถึงสำหรับสัปดาห์นี้คือ นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า (Blue-winged Leafbird) เพราะเป็นนกหาง่ายที่สวยสดโดดเด่นสะดุดตา แต่ก็กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมในเวลาเดียวกัน เป็นที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า “นกเขียวลออ”

                 ในบรรดานกเขียวก้านตองทั้งหมด 5 ชนิดที่พบได้ในเมืองไทย มีนกเขียวก้านตองปีกสีฟ้าเพียงชนิดเดียวที่พบอาศัยทับซ้อนกับนกเขียวก้านตองที่เหลือได้ทั้งหมด ทุกชนิดเป็นที่นิยมถูกดักจับมาเลี้ยงในกรง โดยเฉพาะทางภาคใต้ ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมาย เพราะนกเขียวก้านตองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

                นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้ามีลำตัวสีเขียวเช่นเดียวกับนกเขียวก้านตองอื่นๆ เพศผู้มีคอสีดำ ส่วนเพศเมียไม่มีสีดำ แต่จะมีใบหน้าสีเขียวอมฟ้าแทน บริเวณสีดำที่คอของนกตัวผู้มีสีเหลืองล้อมรอบ มักหากินเป็นคู่ และมีพฤติกรรมการหากินที่ค่อนข้างผาดโผนมากกว่านกเขียวก้านตองหน้าผากสีทอง (Golden-fronted Leafbird) ญาติสามัญประจำป่าอีกชนิดของมัน โดยจะมุดไปตามพุ่มไม้เพื่อจิกกินแมลงที่ซ่อนอยู่ใต้ใบไม้กิน

                ในป่าโปร่งที่แห้งแล้ง เช่น ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งเร็ง จะสามารถพบนกเขียวก้านตองหน้าผากสีทองบ่อยกว่า ชนิดหลังนี้ยังชอบเกาะเด่นบนยอดไม้มากกว่า แต่ก็มักเจอในป่าเดียวกันได้บ่อยๆ ยกเว้นทางภาคใต้ นอกจากนี้นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้ายังเป็นหนึ่งในสมาชิกขาประจำของ bird wave ที่ชอบหากินแมลงรวมกับนกขนาดเล็กอื่นๆ ในขณะที่นกเขียวก้านตองหน้าผากสีทองมีกิจกรรมร่วมกับนกอื่นๆ น้อยกว่ามาก

                ลักษณะเด่นของนกเขียวก้านตองชนิดนี้คือ สีฟ้าที่ขอบปีกด้านหน้า รวมถึงหัวไหล่และหาง ท้ายทอยมีสีส้มเรื่อๆ ในประเทศไทยพบได้ถึง 5 ชนิดย่อย เพศผู้ของชนิดย่อยทางภาคอีสาน (kinneari) มีสีเหลืองบนหัวน้อยที่สุด ส่วนทางฝั่งตะวันตก (chlorocephala) มีสีเหลืองมากกว่าภาคใต้ตอนบน (serithai) ก่อนจะไล่ลงไปเป็นเหลืองสดในชนิดย่อยที่พบทางภาคใต้ตอนล่าง (moluccensis) ส่วนทางภาคตะวันออก (auropectus) คล้ายทางภาคใต้ แต่มีสีเหลืองสดลงมาถึงอกมากกว่า ชนิดย่อยหลังสุดนี้เพิ่งถูกตั้งชื่อไปเมื่อ ค.ศ.2003 นี้เอง

               ...............................................
(นกเขียวก้านตองปีกสีฟ้า : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว)

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ