พระเครื่อง

'ไม่เบียดเบียนกันเป็นธรรมะสูงสุด'พระโลกนาถภิกขุ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"อยู่เถิด และปล่อยให้เขาอยู่ด้วย"การไม่เบียดเบียนกันเป็นธรรมะสูงสุดพระโลกนาถภิกขุ : มนสิกุล โอวาทเภสัชช์ เรื่องและภาพ

               ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๕ ออกพรรษาแล้ว วันนี้ยังถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระสงฆ์โดยเฉพาะเรียกว่า 'ปวารณา' ในพระวินัยบัญญัติให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาสสามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาคด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกันพระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนก็จะได้มีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและสามารถนำข้อบกพร่องไปแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น

               วิธีการเช่นนี้สามารถนำมาใช้ในหมู่ฆราวาสได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในครอบครัว ในโรงเรียน ในที่ทำงาน หรือแม้แต่ในสภา หากได้นำเอาการปวารณามาใช้กันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้น้อย หรือผู้ใหญ่ หากเราเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วประเทศอาศัยวันนี้เป็นวันที่เราได้ทบทวนชีวิตที่ผ่านมา และพร้อมที่จะบอกกล่าวความผิดพลาดของตนให้ผู้อื่นได้รับรู้ และพร้อมที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน ก็เปิดใจรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่นที่เป็นกระจกส่องตัวเรา อย่างไม่ตัดสิน และพร้อมที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง เชื่อได้ว่าคนในประเทศชาติเราคงจะก้าวไปด้วยสติและปัญญาเป็นแน่  

               อาสนะกลางหน้าหนังสือพิมพ์แห่งนี้จึงขอโอกาสน้อมนำธรรมบรรยายของ พระโลกนาถภิกขุชาวอิตาลีมาฝากให้เราท่านพิจาณาธรรมกันโดยเฉพาะที่ชิวหา หรือที่ลิ้นกันว่า ตลอดพรรษาที่ผ่านมา หรือตลอดชีวิตที่ผ่านมา เราเคยตั้งคำถามกับสิ่งที่เรากินไปหรือไม่ ว่าเขาสมควรเป็นอาหารของเราหรือเปล่า เพราะคำถามนี้จะเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงชีวิตและจิตใจของเราเลยทีเดียว

               ท่านพุทธทาสย้ำเสมอก่อนที่ท่านจะมรณภาพเมื่อ๑๙ ปีก่อนว่า "ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาวินาศ" ลองมองไปรอบๆตัวเราในวันนี้ก็แล้วกันว่า โลกที่ร้อนระอุขึ้นเรื่อยๆ พร้อมที่จะลุกเป็นไฟได้ทุกเมื่อนั้น มีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง และสาเหตุหนึ่งนั้นมาจาก "ลิ้น" หรือไม่ 

               ธรรมบรรยายชุดนี้ของพระโลกนาถภิกขุ ท้าให้เรามาสำรวจเหตุแห่งไฟที่กำลังเผาใจคน ซึ่งกำลังลามเลียไปทั่วผืนปฐพีที่เราอาศัยอยู่ร่วมกันนี้ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะหันกลับมาสำรวจการศึกษาพุทธศาสนากันใหม่อีกสักครั้ง

               พระโลกนาถภิกขุ ก่อนบวชจบปริญญาเอกทางวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา ท่านได้ศึกษาค้นคว้าหลักฐานทางพระพุทธศาสนาต้นตอของอินเดียอย่างรอบด้านแล้วจึงออกบวชเพราะมีศรัทธาปสาทะในบวรพระพุทธศาสนาที่ลุ่มลึก สามารถพิสูจน์ได้โดยการปฏิบัติด้วยตนเอง 

               ในราวเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๗๖ หรือเมื่อประมาณ ๗๙ ปีมาแล้ว ป.สาครบุตร์ได้เขียนไว้ในคำนำหนังสือ"พระธรรมเทศนา พ.ศ.๒๔๗๖ ดร.โลกนาถภิกขุ" ตอนหนึ่งว่า พระโลกนาถภิกขุจาริกมายังประเทศไทย ใน จ.เชียงใหม่ และได้แสดงธรรมให้อุบาสกอุบาสกาเป็นจำนวนมากฟัง ณ วิหาร วัดเจดีย์หลวงเชียงใหม่ และวิหารหลวง ลำพูน หลังจากนั้นมีผู้ศรัทธา เกิดปีติจนถึงกับมีคนไทยสมัครจาริกธุดงค์ไปกับท่านไปทั่วโลกในคราวนั้น 13 ท่าน โดยสรุปจากข้อหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ ในการที่จะปลดเปลื้องตัณหาต่างๆ ต้องเริ่มด้วยการรักษาศีล ๕ เพราะศีล ๕ เป็นบรรทัดบังคับให้ดำเนินไปตามทางและเป็นบันไดในตอนแรก การขึ้นบันไดจำเป็นจะต้องเหยียบแต่ขั้นต้นขึ้นไปก่อน จะก้าวขึ้นขั้นสุดทีเดียวไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเริ่มด้วยการ ละเว้นเสพเนื้อสัตว์ทั้งหลายก่อน

               ในครั้งนั้นท่านจึงเทศนาเรื่อง "พุทธศาสนา-ศาสนาแห่งความเมตตา: พุทธมามกะทั้งหลายจงอย่าเสพเนื้อสัตว์เลย" ตอนหนึ่งว่า

               "ในประเทศอินเดีย ชาวฮินดูมักพากันถามอาตมาเสมอๆ ว่าทำไมอุบาสกอุบาสิกาในพม่า ลังกา และสยาม จึงรับประทานเนื้อสัตว์  สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามิได้เทศนาหลักแห่งความเมตตากรุณาไว้ดอกหรือว่าอหิงสาปรมา ธมฺมา ความไม่เบียดเบียนกันเป็นธรรมะสูงสุด เมื่ออาตมาได้ฟังคำพูดเช่นนั้นทำให้อาตมาต้องอึ้งเสมอ ไม่มีคำตอบ ...

               "ขอให้เราแยกแยะปัญหานี้ให้ถี่ถ้วน แสวงหาความจริงโดยไม่ต้องเกรงกลัวอะไร เพราะความจริงเป็นของดีที่สุด...ทำไมคนทั่วไปจึงสมคบกันอย่างเงียบๆ ละเมิดศีลข้อหนึ่งที่ว่า ปาณาติปาตา เวรมณีฯ งดเว้นจากการทำชีวิตให้ตกล่วงไปอยู่ดังนี้ คนส่วนใหญ่ชอบเสพเนื้อสัตว์ ดังนั้น แต่ละคนจึงจงใจให้คนอื่นเชื่อไปว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรานั้นทรงอนุญาตให้เสพเนื้อสัตว์ได้ ขอให้เปิดช่องให้ให้มนุษย์แม้แต่น้อยเดียวเถิด แล้วมนุษย์จะกระโดดเข้าขยายช่องนั้นกว้างออกไปจนโตเต็มความพอใจของตน เพราะอกุศลเจตนาของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด เขาจะถือเอาการผ่อนผันของสมเด็จพระศาสดาจารย์ไปใช้โดยไม่มีขีดจำกัด มนุษย์จะยกเอาพุทธานุญาตขึ้นมาบังหน้า แล้วระเริงกันไปโดยไม่มีการเหนี่ยวรั้ง

               "สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ทรงอนุญาตให้ภิกษุบริโภคเนื้อสัตว์ได้ต่อเมื่อ ไม่ได้ยิน หรือไม่สงสัยว่าสัตว์นั้นถูกฆ่าเฉพาะเพื่อภิกษุนั้น เพราะภิกษุเป็นผู้ปราศจากสมบัติจะซื้อหรือขายอะไรไม่ได้ ฉะนั้นภิกษุจะต้องรับเอาอาหารใดๆ ที่จะพึงได้โดยดุษณียภาพ จะเป็นอาหารดีหรือเสีย มากหรือน้อยก็ต้องรับทั้งสิ้น

               "แต่หลักข้อนี้ใช้กับภิกษุเป็นส่วนมาก ไม่ได้ใช้กับอุบาสกอุบาสิกา เป็นธรรมดาอยู่เองที่ฆราวาสจะเถียงว่า ก็เมื่อภิกษุผู้เป็นอาจารย์และผู้นำของเราบริโภคเนื้อสัตว์ได้ เหตุไรเราจะเอาอย่างไม่ได้ เรากินเนื้อสัตว์กันเถิด คารมเหตุผลนั้นถูก แต่ความหมายนั้นผิด เพราะภิกษุไม่มีเงิน ดังนั้น ภิกษุจะต้องบริโภคตามแต่จะได้ ไม่ใช่ตามแต่จะชอบ แต่อุบาสกอุบาสิกามีเงิน กินอะไรก็ได้ตามประสงค์ ผักหรือเนื้อ ในเรื่องอาหารนี้ ภิกษุมีเลือกไม่ได้ แต่อุบาสกอุบาสิกาเลือกได้เต็มที่ ถ้าภิกษุบริโภคเนื้อสัตว์ ก็เป็นกรรมที่ไม่มีเจตนา แต่อุบาสกอุบาสิกา บริโภคเนื้อสัตว์เป็นกรรมที่มีเจตนาฉะนั้น ฆราวาสผู้ประสงค์จะได้บุญมากอย่าถวายเนื้อสัตว์เลย ผู้ที่ถวายอาหารที่เป็นผักแก่พระภิกษุจะได้บุญมากกว่า"

               สิ่งที่พระโลกนาถภิกขุ ตั้งข้อสังเกตก็คือ การรับประทานเนื้อสัตว์ ทำให้มีความสงสัย แม้เราจะไม่ได้ยิน ไม่ได้เห็น ว่าเนื้อนั้นไม่ได้ทำสำหรับเรา แต่เราก็สงสัยอยู่เสมอ จริงหรือไม่ ออกพรรษานี้ ลองมาถามใจเราดูบ้าง

               ธ.ธีรทาสหรือธีระวงศ์โพธิ์พระ ผู้จัดการชมรมธรรมทานเป้าเก็งเต๊ง กรุงเทพฯ ได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้แจกเป็นธรรมทานมากว่า๔๐ ปี กล่าว่า กิจวัตรประจำวันของ ดร.โลกนาถภิกขุ ท่านจะธุดงค์ไปบ้านไหนเมืองไหนก็ตาม หลังของท่านไม่แตะถึงพื้นเสื่อเลย พอตกค่ำ ท่านก็เจริญสมาธิอยู่แต่ในฌานสมาบัติตลอดคืน ท่านเป็นปรมาจารย์ผู้ที่ได้มาบุกเบิกทางไปสู่อริยภูมิ ทิ้งไว้ให้แก่ชาวพุทธไทย เป็นบิดาแห่งการนำเรื่องการถือมังสวิรัติ เข้าสู่กรุงสยามตั้งแต่ พ.ศ ๒๔๗๖ เป็นต้นมา 

               สนใจหนังสือ 'พระธรรมเทศนาดร.โลกนาถภิกขุ' ขอรับได้ฟรี เขียนไปรษณียบัตรโดยตรงถึง คุณธีระ วงศ์โพธิ์พระ พุทธสมาคมเป้าเก็งเต๊ง ๒๓๑ /๑ ซอยปลูกจิต ๒ ถนนพระราม๔ กรุงเทพฯ ๑๐๕๐๐ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ