Lifestyle

'ซีรูเลียม'พืชคลุมดินในสวนยาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ซีรูเลียม' พืชคลุมดินในสวนยาง ใช้กำจัดวัชพืช-ให้ธาตุไนโตรเจน

          ที่ผ่านมาชาวสวนยางพารามักประสบปัญหาดินเสื่อมโทรม มีความสมบูรณ์ต่ำ อันเกิดจากดินขาดอินทรียวัตถุ และเกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินจนสูญเสียธาตุอาหารพืช ล่าสุดสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร พบพืชคลุมดิน "ซีรูเลียม" (Calopogonium caeruleum) ที่สามารถเจริญเติบโตคลุมดินได้ดีในสวนยางพารา  มีคุณสมบัติเด่น ช่วยรักษาความชื้นในดิน ควบคุมวัชพืช ป้องกันการพังทลายของดิน และสามารถเพิ่มธาตุอาหารไนโตรเจนที่ได้จากการตรึงไนโตรเจนของจุลินทรีย์ที่อยู่ในปมของรากด้วย

 

          สำหรับซีรูเลียมเป็นพืชคลุมดินตระกลูถั่ว อายุข้ามปีและเป็นพืชวันสั้น มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาใต้ รากจะมีปมตรึงไนโตรเจนจากอากาศ สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ลักษณะของลำต้นเป็นเถาเลื้อยแข็งแรง เห็นขนไม่ชัด ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมันคล้ายใบโพธิ์ ใบค่อนข้างหนา ดอกเป็นช่อสีม่วง ซีรูเลียมจะเริ่มออกดอกในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ฝักจะมีลักษณะแบนยาวมีสีน้ำตาลเข้มเมื่อแก่ ฝักจะแตกออกมาเองเมื่อแห้งจัด เมล็ดมีขนาดใหญ่ เปลือกหุ้มเมล็ดหนา เมล็ดมีสีเหลืองจนถึงน้ำตาล ผิวเรียบเป็นมัน น้ำหนัก 1 กก. จะมีเมล็ดประมาณ 28,420 เมล็ด ระบบรากมีทั้งรากแก้วและรากฝอย

          นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร บอกว่า พืชคลุมดินซีรูเลียมปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการเจริญเติบโต ติดเมล็ดค่อนข้างน้อย หาซื้อเมล็ดพันธุ์ได้ยาก และมีราคาแพง ซึ่งจากการศึกษาวิจัยของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร พบว่าพืชคลุมซีรูเลียมสามารถออกดอกและติดเมล็ดได้ดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจากทดลองในแปลงที่ศูนย์เรียนรู้ยางพาราจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีส่วนร่วมของเกษตรกรทำการศึกษา จนประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชซีรูเลียมโดยสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ซีรูเลียมได้มากกว่า 40 กิโลกรัมต่อไร่ 

          ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรมีนโยบายที่จะเร่งในการเพิ่มอินทรียวัตถุบำรุงดินโดยการนำผลงานวิจัยการขยายพันธุ์พืชคลุมดินซีรูเลียมไปใช้ในสวนยางพารา  นอกจากนี้ สถาบันวิจัยยาง ไม่เพียงแต่ใช้วิธีการปลูกพืชคลุมดินเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในสวนยางพาราเท่านั้น หากแต่สถาบันวิจัยยางยังได้หาแนวทางผลักดันให้เกษตรกรที่ปลูกพืชซีรูเลียมในสวนยางพาราสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายในเชิงการค้า สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งจะเป็นการขยายผลการปลูกพืชคลุมดินซีรูเลียมไปสู่เกษตรกร 

          ด้านนายสุทธาชีพ ศุภเกสร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนเลย บอกว่า  พืชคลุมดินซีรูเลียมมีการนำเข้ามาทดลองปลูกในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2519 จนถึงปัจจุบัน จากการทดลองปลูกปรากฏว่าควบคุมวัชพืชได้ดี ช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุอาหารในดิน ช่วยลดปัญหาการเกิดไฟไหม้ในสวนยาง และยังช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ ส่วนวิธีปลูกในสวนยางพารานั้นจะปลูกช่วงเวลาเดียวกันกับการปลูกยาง โดยปลูกในระหว่างแถวยางที่ไม่มีการปลูกพืชแซมยาง พืชคลุมดินที่นิยมปลูกในสวนยาง ได้แก่ พืชคลุมดินตระกูลถั่ว เช่น คาโลโปโกเนียม เซ็นโตรซีมา และเพอราเรีย เป็นต้น 

          "พืชคลุมดินโดยทั่วไปไม่ทนทานต่อสภาพแห้งแล้ง ซากกองพืชคลุมจะเป็นเชื้อเพลิง ก่อให้เกิดไฟไหม้สวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน และสวนไม้ผลที่ปลูกพืชคลุมเหล่านี้ แต่จากการศึกษาและประสบการณ์ในการปลูกพืชคลุมซีรูเลียมในระหว่างแถวยางและไม้ผล พบว่า พืชคลุมซีรูเลียมมีอายุยืนยาว และมีความทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ปลูกยางใหม่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ”นายสุทธาชีพ กล่าว

 

          ซีรูเลียมนับเป็นวัชพืชอีกหนึ่งทางเลือกของเกษตรกรในอนาคต ที่มีประโยชน์มากทั้งคลุมดิน แก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม และเพิ่มธาตุอาหารพวกไนโตรเจนได้อีก

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ