Lifestyle

แก้จน!'นา1ไร่ได้เงิน1แสน'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปฏิบัติการ 'นา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน' ทางแก้จนเกษตรกรอย่างยั่งยืน : โดย...สุรัตน์ อัตตะ

          เป็นระยะเวลา 5 เดือนเต็มที่เกษตรกรจากทั่วประเทศกว่า 30 ชีวิตมาร่วมโครงการ "แก้จน แก้จริง ปฏิบัติการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน" ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกับสภาหอการค้าไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ทดลองทำเป็นโครงการนำร่องที่ ต.บางตะไนย์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิธีการผลิตและวิธีการพัฒนาเกษตรกร ให้สามารถบริหารจัดการการผลิตในที่ดินที่มีจำกัดเพียง 1 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถสร้างรายได้ถึง 1 แสนบาทโดยยึดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่และการพึ่งพาตนเองควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ  

 

          โดยการปฏิบัติการครั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยเกษตรกรสามารถเรียนรู้การจัดการตั้งแต่การวางแผน การใช้พื้นที่ การบริหารจัดการตนเอง การจัดการความสัมพันธ์ของการผลิตกับทรัพยากรการจัดการทุนแบบองค์รวมจนเกิดความเชื่อมั่นในวิถีการเป็นเกษตรกรว่าสามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงยั่งยืนและมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับอาชีพอื่นๆ 

          จิตต์สุภา เกาะยางเผือก หนึ่งในเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจาก อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี โดยผ่านการคัดเลือกจาก ธ.ก.ส.สาขาประจันตคาม ที่มาพร้อมกับลูกชายวัย 16 ปี บอกว่าจริงๆ แล้วไม่ได้คิดฝันว่าจะได้มา เนื่องจากไม่เคยรับรู้ข้อมูลเรื่องนี้มาก่อน แต่หลังจากมีโอกาสเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ก็รู้สึกดีใจมาก เพราะได้ความรู้มากมายที่จะนำไปต่อยอดที่บ้านหลังจบโครงการในวันที่ 31 ตุลาคมนี้  

          "เขาให้พื้นที่มา 3 งาน เบื้องต้นอาจารย์จะเป็นคนวางแผนให้ก่อนว่าตรงนี้ทำอะไร ตรงนั้นทำอะไร ที่อยู่อาศัยอยู่ตรงไหนเพื่อให้เกิดความสมดุล จากนั้นเราก็มาสร้างที่อยู่อาศัยเอง ปลูกข้าวหอมนิล 2 งาน ที่เหลือก็เลี้ยงปลานิล 2 พันตัว ปลาดุก 1 หมื่นตัว เป็ด 50 ตัว แล้วก็มีหอยขม 10 กิโล แค่ 1เดือนหอยขยายเพิ่มเป็น 1 ตัน หอยขยายพันธุ์เร็วมาก ส่วนบนคันนาก็จะปลูกพืชผักและสมุนไพรต่างๆ รายได้หลักตอนนี้ก็มีข้าว ปลาและไข่เป็ด" เกษตรกรคนเดิมระบุ 

          ขณะที่ สามารถ เกาะยางเผือก ลูกชายจิตต์สุภา บอกว่า มีความตั้งใจอยากทำการเกษตร เพราะเป็นอาชีพหลักที่ทำสืบทอดกันมาตั้งบรรพบุรุษ ซึ่งหากไม่ทำก็ไม่รู้ใครจะทำก็อยากจะสืบเจตนารมณ์ตรงนี้และเป็นอาชีพที่สัมผัสมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งการได้เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ถือเป็นประสบการณ์ในชีวิตที่ไม่อาจจะประเมินค่าได้ จึงอยากเรียกร้องให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสู่อาชีพเกษตรกรมากขึ้น

          "ผมตั้งใจไว้แล้วว่ากลับไปเลี้ยงหมูแล้วก็จะทำตามแบบอย่างที่ได้จากโครงการนี้ เพราะเห็นแล้วว่าพื้นที่แค่ 3 งาน แต่มีรายได้ทุกวัน" เกษตรกรรุ่นเยาว์กล่าวย้ำ
 ด้าน ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 85 รายจากทั่วประเทศ ใช้ระยะเวลาการอบรม 5 เดือน แบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่น 1 จำนวน 34 ราย เริ่มเข้าอบรมตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน สิ้นสุดการอบรมวันที่ 31 ตุลาคม และเกษตรกรรุ่นที่ 2 มีจำนวน 51 ราย อบรมตั้งแต่วันที่ 23 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม โดยระหว่างการอบรมและลงมือปฏิบัติการจริง โครงการได้จัดวิทยากรหมุนเวียนมาประจำที่แปลงนา เพื่อให้เกษตรกรได้รับความรู้จากวิทยากรในด้านต่างๆ ได้แก่ การผลิต การสร้างทุนสังคม  การจัดการพื้นที่ การเรียนรู้นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในแปลงนา รวมถึงการจัดการด้านการตลาด  

          "ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนเกษตรกรต้นแบบที่ผ่านการอบรมนำความรู้ที่ได้รับไปขยายผล โดยจัดทำแปลงนาสาธิตเพื่อสร้างเป็นศูนย์เรียนรู้โครงการ “แก้จน แก้จริง ปฏิบัติการ 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท” ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรที่สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ฝึกอบรมและทดลองปฏิบัติ   รวมทั้งสร้างเกษตรกรต้นแบบในพื้นที่แปลงทดลองที่ทำอยู่ในขณะนี้ต่อไป" ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวทิ้งท้าย

 

 

--------------------

(ปฏิบัติการ 'นา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสน' ทางแก้จนเกษตรกรอย่างยั่งยืน : โดย...สุรัตน์ อัตตะ)

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ