พระเครื่อง

หนังสือ'พระสมเด็จวัดระฆังฯ'เล่มล่าสุด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หนังสือ 'พระสมเด็จวัดระฆังฯ'ของ...ชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยาม : เรื่อง / ภาพ โดย ไตรเทพ ไกรงู 0

                 "พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม จักรพรรดิแห่งพระเครื่องไทย" เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์โดย "ชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยาม" ซึ่งมีนายกล้า เกษสุรินทร์ชัย หรือ "เสี่ยกล้า" เป็นประธานชมรม โดยมีความหนากว่า ๔๐๐ หน้า สี่สีทั้งเล่ม เข้าเล่มเย็บกี่อย่างดี วางจำหน่ายตามแผงหนังสือชั้นนำ แม้ว่าเซียนพระของสมาคมพระเครื่องจะระบุว่าเป็นการเล่นพระผิดทาง รูปพระสมเด็จที่จัดพิมพ์ในหนังสือเป็นพระที่วงการไม่เล่นกัน แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยสนใจการเล่นพระและซื้อหนังสือในแนวของชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยาม
   
             ทั้งนี้เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ เสี่ยกล้าได้พิมพ์หนังสือออกมาจำนวน ๑๐,๐๐๐ เล่ม ซึ่งเป็นเล่มแรก จำหน่ายในราคาเล่มละ ๑,๔๐๐ บาท ปัจจุบันขายหมดแล้ว กลายเป็นหนังสือหายากเล่มหนึ่ง และราคาขยับขึ้นในราคาเล่มละ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท ส่วนเล่มที่ ๒ พิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๒ จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม ออกำหน่ายเล่มละ ๒,๕๐๐ บาท โดยได้รับความนิยมไม่แพ้เล่มแรก และล่าสุดได้พิมพ์เป็นเล่มที่ ๓ จำนวน ๕,๐๐๐ เล่ม จำหน่ายเล่มละ ๒,๕๐๐ บาท  ทั้งนี้จะเปิดตัวและวางจำหน่ายที่ร้านหนังสือชั้นนำ ในวันจันทร์ที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕
   
             ในการจัดพิมพ์หนังสือแต่ละเล่มนั้นเสี่ยกล้าลงทุนไม่ตำกว่าครั้งละประมาณ ๒ ล้านบาท แต่ละเล่มใช้เวลารวบรวมประมาณ ๒-๕ ปี โดยมีความตั้งใจว่า เมื่อรวมรวมแม่พิมพ์ได้พอสำหรับจัดพิมพ์ หรือประมาณ ๑๕๐-๒๐๐ พิมพ์ ก็จะพิมพ์เพิ่มเป็นเล่มที่ ๔ เล่มที่ ๕ ส่วนภาพพระสมเด็จที่ปรากฏในหนังสือนั้นเป็นการเรียงตามลำดับแม่พิมพ์ที่ค้นพบ ในช่วงเวลาต่างๆ เล่มแรกมีแม่พิมพ์พระสมเด็จทั้งหมด ๙๒ พิมพ์  เล่มสองมีแม่พิมพ์พระสมเด็จทั้งหมด ๒๐๐พิมพ์ และเล่มสามมีแม่พิมพ์พระสมเด็จทั้งหมด ๓๐๐ รวมแล้วมีกว่า ๕๐๐ พิมพ์   
   
             เมื่อครั้งหนังสือเล่มแรกออกวางจำหน่าย มีเสียงสวดจากคนวงการพระเครื่องว่า ภาพพระสมเด็จในหนังสือไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่พระที่คนในวงการพระเครื่องยอมรับกัน ไม่ใช่พิมพ์ที่นิยม ในฐานะที่คนทำหนังสือ เสี่ยกล้า บอกว่า “รู้สึกเฉยๆ ไม่ได้โกรธแค้นคนที่มาสวดหนังสือแต่อย่างไร เพราะถ้าหนังสือไม่ดีจริงในสัปดาห์แรกของวางจำหน่ายมียอดขายกว่า ๑,๐๐๐ เล่ม ที่สำคัญวันนี้เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า คุณภาพหนังสือไม่แตกต่างจากหนังสือเล่มอื่นๆ ในวงการพระเครื่อง วันนี้หนังสือเล่มแรกขายหมด และราคาก็ขยับขึ้นไปที่เล่มละ ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ บาท”
   
             เสี่ยกล้า บอกว่า ชมรมนักอนุรักษ์สะสมพระเครื่องสยาม ตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘ สมัยนั้นพระสมเด็จมีราคาอยู่ไม่ถึงแสนบาท คนเล่นหากันน้อยมาก มีการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการดูพระเช่นเดียวกับชมรมและสมาคมพระเครื่องกลุ่มอื่นๆ พระเครื่องแต่ละองค์ที่ลงในหนังสือต้องผ่านความเห็นของชมรม ไม่ใช่เป็นพระของคนใดคนหนึ่งที่มองว่าแท้แล้วเอามาลงโดยพละการหนังสือที่พิมพ์ออกมาจำหน่ายนั้น ผมมีความตั้งใจว่า ผู้ที่ซื้อหนังสือไปสามารถเรียนรู้การดูพระสมเด็จด้วยตัวเอง เพราะการเรียนรู้พระสมเด็จในปัจจุบันถูกผูกขาดโดยเซียนพระกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทั้งๆ ที่ทุกคนน่าจะเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกัน
   
             จากประสบการณ์ที่ทำธุรกิจพิมพ์และย้อมผ้า แม้ว่าจะใช้เทคโนโลยีในการผสมสีที่ถือว่าสุดยอด สีของผ้าที่พิมพ์ออกมายังเพี้ยน นับประสาอะไรกับพระสมเด็จที่เป็นเนื้อผง ที่ไม่ได้ใช้เทคนิคอะไรในการควบคุมการผสมมวลสาร การกดแม่พิมพ์ พระสมเด็จจึงมีความหลากหลายทำเนื้อและพิมพ์ พระสมเด็จ ๑ พิมพ์อาจจะมีหลายเนื้อ และเนื้อเดียวอาจจะมีหลายพิมพ์ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะไม่มีการบันทึกอะไรที่เป็นหลักฐานไว้อย่างชัดเจนเช่นในปัจจุบัน
   
             "วงการพระเครื่องจะยอมรับหรือไม่ยอมรับนั้นไม่ใช่วสาระสำคัญ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า พระเครื่ององค์เดียวกันแท้ๆ ตาเซียนพระเครื่องแต่ละตาแต่ละคนยังมีมุมมองที่ต่างกัน เซียนกลุ่มหนึ่งที่เสียงดังกว่าอาจจะมองว่าปลอม แต่เซียนอีกกลุ่มหนึ่งมองว่าแท้ แต่เผอิญว่า เซียนกลุ่มแรกเสียงดังกว่า พระที่แท้ก็กลายเป็นพระปลอมได้ ขณะเดียวกันพระที่ปลอมก็กลายเป็นพระแท้ได้เช่นกัน" เสี่ยกล้ากล่าว
   
             พร้อมกันนี้ เสี่ยกล้า ยังบอกด้วยว่า ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้เล่นพระมีมาอย่างต่อเนื่อง ข้อเท็จจริงในการจัดสร้างพระสมเด็จวัดระฆังของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าท่านลงมือสร้างเมื่อใด แต่ก็มีผู้สันนิษฐานที่แอบอ้างว่ามีการสร้างจำนวนน้อย เช่น อ้างว่ามี ๔ พิมพ์ทรง แต่ละพิมพ์ทรงมีเพียง ๔-๕ แบบบล็อกแม่พิมพ์เท่านั้น ซึ่งมีปัญหาว่าทั้งๆ ที่ผู้แอบอ้างว่ารู้ดีนั้นก็เกิดไม่ทันเหมือนกัน ทำไมจึงไม่คิดว่าแนวการเล่นของกลุ่มตนเป็นการเล่นในแนวที่คับแคบ หลงผิด หรือเล่นเพื่อผูกขาดตัดตอน เคยคิดบ้างไหมว่าแนวทางที่เล่นนั้นผิด ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการทำลายบล็อกแม่พิมพ์อื่นๆ ที่สมเด็จโตสร้างขึ้นมา


ใครมีพระตามหนังสือเอามาขายได้


   
             เสี่ยกล้า บอกว่า ปัจจุบันนี้ พระแท้ไม่แท้อยู่ที่องค์พระ ไม่ได้อยู่ที่คนดู ผู้ที่ได้รับพระเครื่องที่เป็นมรดกตกทอดจากปู่ ยา ตา ยาย รวมทั้งผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หากนำพระที่ห้อยอยู่ไปให้เซียนพระดูแล้วบอกว่าเป็นพระไม่ถึงยุค ก็อย่าคิดถอดพระหรือไม่แขวนพระองค์นั้นเลย ให้คิดเสียว่า เซียนตาไม่ถึง หรือมีความรู้ไม่มากพอ และให้คิดเสียว่า พระองค์นั้นๆ เป็นของที่ระลึก ผู้ให้มีเจตนาดี พระทุกองค์สามารถใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจได้เสมอ
   
             ภาพพระสมเด็จในหนังสือนั้น เสี่ยกล้า ยืนยันว่า เป็นพระสมเด็จที่มีคนรุ่นก่อนเล่นหา และสะสมกัน ปัจจุบันกลายเป็นพระหายาก มีการเช่าซื้อกันในราคาหลักล้าน เช่นเดียวกับพระสมเด็จที่ซื้อขายกันในวงการพระเครื่อง เช่น พระสมเด็จพิมพ์ที่ ๑๓ เนื้อกระยาสารท มีการเช่าซื้อกันในราคา ๓.๕ ล้านบาท ทั้งนี้ที่ผ่านมานั้นได้ประกาศว่า ”หากใครมีพระสมเด็จถูกต้องตามพิมพ์ในหนังสือกว่า ๕๐๐ พิมพ์ สามารถนำมาเปิดขายได้ ถ้าถูกต้องตามหนังสือแม้ว่าจะไม่มีข้อสรุปหรือตกลงราคาในการขาย ยินดีที่จะจ่ายค่ารถและค่าเสียเวลา ๑๐,๐๐๐ บาท ทุกวันนี้ยังประกาศรับซื้ออยู่ โดยมีคนประกาศรับซื้อทั้งหมด ๕๒ พิมพ์ ในราคาหลักแสน และในจำนวนนี้มีอยู่ถึง ๑๕ พิมพ์ ที่ได้เสนอค่ารถและค่าเสียเวลา ๑๕,๐๐๐ บาท เพราะเขาอยากได้พระมากๆ”
   
              "คุณเล่นกับแบบไหนผมไม่สนใจ หากคุณมีพระตรงตามพิมพ์และเนื้อตามที่ปรากฏในหนังสือ ถือมาขายผมได้ เฉพาะพิมพ์ที่ ๑-๒๐ มีคนกล้ารับซื้อในหลักล้าน เอามาเปิดราคาได้เลย ทีผ่านมามีคนนำพระสมเด็จมาขายหลายราย และอยู่ในหลักล้านทุกองค์ ถ้าพระสมเด็จที่ผมใช้อยู่เป็นของปลอม แล้วปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นนั้นมันเกิดขึ้นได้อย่าง ถึงจะปลอมในสายตาคนอื่นแต่ปาฏิหาริย์นั้นเป็นของจริง แล้วจะบอกว่าพระสมเด็จที่แขวนอยู่นั้นเป็นของปลอมได้อย่างไร” เสี่ยกล้าพูดทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ