Lifestyle

นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว

                 เมื่อไม่นานมานี้สมาชิกชมรมโอเคเนเจอร์ (OK Nature) บางส่วนได้ไปสำรวจพื้นที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแม่เรวา ของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งอยู่ในบริเวณที่จะต้องจมอยู่ใต้น้ำหากโครงการเขื่อนแม่วงก์ได้รับอนุมัติให้มีการสร้างจริง ป่าในบริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังในระดับความสูงจากน้ำทะเลไม่มากนัก มีลำห้วยแม่เรวาซึ่งประกอบไปด้วยแก่งหิน และหาดทรายริมน้ำอันเป็นพื้นที่ที่ นกยูง (Green Peafowl) ใช้ในการเกี้ยวพาราสี พื้นที่นี้นับเป็นถิ่นอาศัยที่มีความสำคัญของสัตว์หายากหลายชนิด

                  การเข้าสำรวจครั้งนี้พบนกที่น่าสนใจหลายชนิด หนึ่งในนั้นก็คือ นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง (Black-headed Woodpecker) ซึ่งเป็นนกที่ตามปกติจะพบค่อนข้างน้อย แต่กลับพบได้ชุกชุมที่นี่ นกหัวขวานชนิดนี้เป็นนกที่พบได้เฉพาะในป่าผลัดใบ โดยเฉพาะป่าเต็งรัง ต้องอาศัยโพรงในไม้ยืนต้นขนาดใหญ่เพื่อใช้ทำรังวางไข่และพักผ่อนในยามวิกาล เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของป่าแห่งนี้เป็นอย่างดี

                  นกหัวขวานเขียวตะโพกแดงมีอุปนิสัยต่างจากนกหัวขวานทั่วไปในสกุล Picus (หรือที่เรียกรวมๆ ว่า “นกหัวขวานเขียว”) เพราะมันเป็นชนิดเดียวที่มักอยู่รวมกันเป็นฝูงตลอดทั้งปี สาเหตุก็มาจากการที่พ่อแม่นกมีนกตัวอื่นๆ มาทำหน้าที่ผู้ช่วยเลี้ยงลูก (helpers) ด้วย นอกจากนกหัวขวานเขียวตะโพกแดงแล้ว ในเมืองไทยพบว่ามีเพียง นกหัวขวานใหญ่สีเทา (Great Slaty Woodpecker) เท่านั้นที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ เราจึงมักได้ยินเสียงร้องเอะอะโวยวายของฝูงนกหัวขวานเขียวตะโพกแดงก่อนเห็นตัวมันอยู่บ่อยครั้ง เจ้าหัวขวานใหญ่สีเทาก็เช่นกัน

                  ความเป็น “สัตว์สังคม” ของพวกมันไม่ได้หยุดอยู่ที่การรวมฝูงกับพวกเดียวกันเอง แต่นกหัวขวานเขียวตะโพกแดงยังรวมฝูงหากินร่วมกับ นกกะราง (Laughingthrushes) ซึ่งมักมี นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ (Greater Racket-tailed Drongo) และ นกหัวขวาน ชนิดอื่นๆ รวมอยู่ด้วย นกหัวขวานชนิดนี้ชอบเลียกินมดและปลวกบนพื้นดิน แต่บางครั้งก็มากินเศษอาหารที่มนุษย์ทิ้งไว้เช่นเดียวกับนกกะราง

                  ลักษณะเด่นของนกหัวขวานชนิดนี้คือหัวสีดำ คอและอกสีเหลือง ใต้ท้องสีนวลและมีลายซิกแซกสีเขียวไพล ขนตะโพกสีแดงมักจะฟูฟ่องยามตกใจ หากรู้สึกคุกคามอาจกางปีกที่มีลายขาวสลับดำให้ดูน่าเกรงขามเพื่อขู่ศัตรู บางตัวมีแถบคิ้วสีขาว แต่เฉพาะตัวผู้เท่านั้นที่จะมีสีแดงที่กลางกระหม่อม ในประเทศไทยพบในป่าผลัดใบและป่าสนทางภาคตะวันตก ภาคเหนือและภาคอีสาน พบบ่อยเฉพาะในบางพื้นที่ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

.................................
(นกหัวขวานเขียวตะโพกแดง : คอลัมน์นกป่าสัปดาห์ละตัว )

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ