Lifestyle

'สึนามิ'+'แผ่นดินไหว'พาใจสั่นไหว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'สึนามิ'+'แผ่นดินไหว'พาใจสั่นไหว : คลีนิคคนรักบ้าน โดย... ดร.ภัทรพล

           ผมเริ่มรู้สึกว่าข่าวคราว “สึนามิ” และ “แผ่นดินไหว" ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา ทำให้แฟนๆ ชาว “คนรักบ้าน” โดยเฉพาะมีถิ่นพำนักพักอาศัยในฝั่ง “อันดามัน” ใจพลอยสั่นไหว ยิ่งที่จังหวัด “ภูเก็ต” ซึ่งเมื่อคราวที่แล้วได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงแบบเตรียมตัวไม่ทันกับวิกฤติการณ์ทางธรรมชาติที่เป็นปรากฏการณ์ลูกโซ่สืบเนื่องจากแผ่นดินไหวจากการเคลื่อนตัวของไหล่ทวีปใต้ท้องมหาสมุทร และนำมาสู่โศกนาฏกรรม “สึนามิ” ที่มี 6 จังหวัดในฝั่งทะเล “อันดามัน” ที่ได้รับผลกระทบ คือ ระนอง, พังงา, กระบี่, ภูเก็ต, ตรัง และ สตูล เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งคนไทย และเทศมากกว่า 5,395 คน และสูญหายมากกว่า 2,000 คน บาดเจ็บกว่า 8,000 คน ส่วนอาคารบ้านเรือน โรงแรมที่พักเสียหายอย่างยับเยิน และพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยได้รับผลกระทบมากกว่า 475,000 ไร่     
 
          มาในคราวนี้เมื่อเกิดแผ่นดินไหวกว่า 6 ริกเตอร์ ขึ้นในวันที่ 11 เมษายน 2555 จากโศกนาฏกรรมคราวที่แล้วก็เป็นบทเรียน ได้มีการสร้างระบบเตือนภัยเพื่ออพยพผู้คนเพื่อให้รอดพ้นจากการสูญเสียชีวิต มีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งได้ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกกันยกใหญ่ ถึงขนาดที่ว่า ระบบการสื่อสารทางโทรศัพท์มือถือต้องล่มลง เพราะเกิดการแจมขึ้น จากนั้นอีกไม่นานก็เกิด “อาฟเตอร์ช็อก” อีกหลายสิบครั้ง ทำให้คนในย่านนั้นขวัญผวา เพราะต้องลุ้นระทึกว่าอะไรจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้จนไม่เป็นอันกินอันนอน 
 
          แต่นั่นแหละครับเปรียบเสมือนแผลเก่าที่แผลยังไม่หายสนิทดีก็ถูกตอกย้ำซ้ำไปที่จุดเดิม เพราะทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนที่ได้รับรู้รับทราบถึงผลกระทบและโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์จริงที่ทำลายทั้งชีวิตและทรัพย์สินและได้ก่อให้เกิดความเชื่อว่า ยังไงเสียวิกฤติการณ์ทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว สึนามิ ตลอดจน น้ำท่วมฉับพลัน ฯลฯ ก็คงต้องเกิดขึ้นอีกแน่ แต่ต่างกันเพียงแค่จะเกิดขึ้นเมื่อไรและจะมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้นโดยไม่ประมาททั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวครับ 
 
          ผมจึงอยากจะเรียกร้องให้มีการทบทวนทั้ง “กระบวนทัศน์” (Missionary) และ “วิสัยทัศน์”  (Visionary) ในการออกแบบอาคารบ้านเรือนตลอดไปจนกระบวนการก่อสร้าง อันจะนำไปสู่อาคารบ้านเรือนที่มีมาตรฐานที่ดีขึ้น, สวยงามขึ้น และแข็งแรงมากขึ้น เพื่อที่จะรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ยังไงก็เกิดขึ้นแน่เป็นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่แรก ผมนึกถึงคำพูดของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา (ครั้งที่ผมได้มีโอกาสทำงานให้แก่มูลนิธิ) ซึ่งท่านได้กล่าวอย่างจับใจผมจนทุกวันนี้ว่า “การกลัดกระดุมเม็ดแรกนั้นสำคัญอย่างที่สุด หากกลัดผิด ตั้งแต่เม็ดแรก เม็ดที่สอง, สาม, สี่, ห้า ที่ตามมา  ถึงจะตั้งใจกลัดอย่างไรก็จะผิดตามไปด้วย”   
 
          ดังนั้น เมื่อรู้ทั้งรู้ว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็น สึนามิ, แผ่นดินไหว หรือภัยพิบัติอื่นๆ อาทิ ภัยน้ำท่วม ฯลฯ ยังไงก็ต้องมาแน่ ก็ต้องเอาจริงเอาจังตั้งแต่การออกแบบ ไปจนถึง การก่อสร้าง ต้องถึงพร้อมทั้งความงดงามทางสถาปัตยกรรม ไปจนถึงความแข็งแรงทางด้านวิศวกรรม เมื่อยามต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามทางธรรมชาติก็ต้องสามารถยืนหยัด คุ้มครองป้องภัยให้แก่ชาว “คนรักบ้าน” ที่อยู่อาศัยในอาคารบ้านเรือนนั้นๆ หรือถ้าจะเสียหายก็เสียหายน้อยที่สุด และสามารถซ่อมแซมให้กลับฟื้นคืนใกล้เคียงของเดิมมากที่สุดในระยะเวลาอันสั้นที่สุด 
 
          มาเถอะครับ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน คงจะต้องยกเครื่องปรับปรุงทั้ง “วิสัยทัศน์” และ “กระบวนทัศน์” ทั้งทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมในทุกแขนงเป็นครั้งใหญ่ เพื่อให้สามารถอยู่รอดปลอดภัยกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกฝ่ายได้ฟันธงตรงกันว่า ภัยต่างๆ เหล่านี้อย่างไรเสียก็มาแน่ ต้องเตรียมแก้และเตรียมรับมือกันโดยไม่ประมาทเสียตั้งแต่วันนี้ครับ  
.............................
(หมายเหตุ 'สึนามิ'+'แผ่นดินไหว'พาใจสั่นไหว : คลีนิคคนรักบ้าน โดย... ดร.ภัทรพล)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ