Lifestyle

สารพัดปัญหาคุกคามยางพาราไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สารพัดปัญหาคุกคามยางพาราไทย สถาบันยางเร่ง 'งานวิจัย' ขจัดภัยมืด : รายงานเกษตร : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ

          แม้ยางพาราจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจากข้อมูลตัวเลขพบว่าไทยส่งออกยางพารามีมูลค่ากว่า 6 แสนล้านบาทต่อปี แต่ที่ผ่านมายางพาราไทยกลับไม่มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเกษตรกรมีรายเพิ่ม หนำซ้ำยังเจอกับสารพัดปัญหาที่คุกคามยางพาราส่งผลเสียหายให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

          ปัจจุบันพื้นที่ปลูกยางพาราในประเทศไทยมีทั้งหมด 18 ล้านไร่เศษและให้ผลผลิตจริงประมาณ 12 ล้านไร่ ในขณะที่ผลผลิตยางในแต่ละปีรวมทั้งสิ้นประมาณ 3.2 ล้านตัน โดยผลผลิตส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออก แต่หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกยางใหม่ภายใต้โครงการยาง 1 ล้านไร่และ 8 แสนไร่ อาจมีปัญหาตามมากมาย หากไม่มีการเตรียมรับมือภัยมืดที่กำลังคุกคามยางพาราอยู่ในขณะนี้

          "การเปิดกรีดยางต้นเล็กหรือเปิดกรีดยางต้นไม่ได้ขนาด เนื่องจากยางพารามีราคาดีเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเร่งเปิดกรีดเร็วขึ้นก่อนกำหนด ถือเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนเพราะในระยะยาวอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมยางไทยได้"

          สุจินต์ แม้นเหมือน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร มองปัญหาการเปิดกรีดยางต้นเล็ก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตน้ำยางลดลง 25-60% หรือเหลือเพียง 1.8-2.1 กิโลกรัมต่อไร่ต่อวัน ขณะเดียวกันยังทำให้อายุการกรีดยางสั้นลงเหลือประมาณ 11 ปี จากปกติ 20-25 ปี ทำให้ผลผลิตตลอดวงจรชีวิตของยางลดลง 25-59% ทำให้ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่าการลงทุน

          นอกจากนั้นยังพบว่ามีโรครากขาวเป็นภัยคุกคามการผลิตยางพาราด้วย โดยเชื้อราที่ก่อโรคดังกล่าวจะอยู่ในดิน มักระบาดในช่วงฤดูฝนซึ่งเชื้อโรคจะแพร่กระจายได้ด้วยการสัมผัสระหว่างรากที่เป็นโรคกับรากของต้นปกติหรือสปอร์เชื้อราปลิวไปตามลมได้ โดยเฉพาะช่วงโค่นต้นยางเพื่อปลูกแทน มีโอกาสที่เชื้อจะกระจายไปได้ค่อนข้างมาก ดังนั้น ก่อนปลูกใหม่ควรเก็บเศษราก เศษต้นยางในแปลงนำไปเผาทิ้ง หากโรครากขาวระบาดทำลายต้นยาง 1 ต้น จะทำให้เกษตรกรสูญเสียรายได้ ประมาณ 650 บาทต่อไร่ต่อปี

          ขณะนี้พบโรครากขาวยางพาราระบาดมากในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตาม เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราควรหมั่นสังเกตต้นยางอยู่เสมอ ซึ่งต้นยางที่เป็นโรครากขาวจะแสดงอาการให้น้ำยางลดลง ใบยางเหลืองแล้วร่วงและยืนต้นตาย มีดอกเห็ดขึ้นบริเวณโคนต้น ลักษณะเป็นแผ่นครึ่งวงกลมแผ่นเดียวหรือซ้อนกันหลายแผ่น ขอบดอกเห็ดมีสีขาว ผิวด้านบนและล่างมีสีส้มโดยด้านล่างมีสีเข้มกว่า หากพบโรครากขาวควรขุดคูล้อมต้นที่เป็นโรคเพื่อป้องกันไม่ให้แพร่ระบาดลามไปยังต้นอื่น แล้วขุดต้นที่เป็นโรคออกจากแปลงและเผารากทำลายให้หมด 

          ขณะที่ พิเชษฐ์ พร้อมมูล ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารโครงการวิจัย สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวเสริมว่า ภัยมืดที่คุกคามยางพาราอีกอย่างที่กำลังระบาดในหมู่เกษตรกร โดยเฉพาะการโฆษณาชวนเชื่อให้ใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตน้ำยางที่ระบุว่า เป็นสารเคมีช่วยแก้ปัญหายางเปลือกแห้งหรือช่วยให้ได้น้ำหนักดี สารเคมีดังกล่าวจำหน่ายในรูปแบบของเหลว เจล หรือน้ำยาเข้มข้น 

          "ความจริงแล้ว การใช้สารเคมีเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตไม่เป็นจริงตามคำโฆษณาหรืออาจเป็นไปได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ส่วนใหญ่ใช้ไม่ได้ผล เกษตรกรจึงไม่ควรหลงเชื่อคำโฆษณาเพราะจะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นแต่ได้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า ที่สำคัญยังกระทบต่อต้นยางด้วย ทำให้ต้นยางเกิดอาการเปลือกแห้ง สร้างความเสียหายหนักขึ้น"

          ผอ.กลุ่มบริหารโครงการวิจัยแจงรายละเอียดต่อว่า ขณะเดียวกันเกษตรกรยังมีการเติมน้ำหมักเพื่อช่วยให้ยางจับตัวแทนการใช้กรดฟอร์มิก เพื่อลดต้นทุน ถึงแม้น้ำหมักจะช่วยให้ยางจับตัวได้ แต่ทำให้ยางมีกลิ่นแรงขึ้นกว่าปกติ และทำให้สมบัติของยางเปลี่ยนแปลงไปด้วย อาทิ ความยืดหยุ่นน้อยลง มีผลเสียเมื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางโดยเฉพาะการผลิตยางแท่ง ให้ผลิตภัณฑ์ยางมีคุณภาพต่ำลง 

          อีกทั้งยังต้องพึงระวังให้มากในเรื่องการเติมสิ่งแปลกปลอมหรือวัตถุชนิดอื่นลงในน้ำยาง เพื่อหวังที่จะเพิ่มน้ำหนักและได้กำไรจากการขายยางมากขึ้น เช่น เศษยางที่ตายแล้ว หรือยางที่ผ่านกระบวนการผลิตแล้ว อาทิ เศษถุงมือยาง เมื่อนำยางที่มีวัตถุปลอมปนไปผลิตผลิตภัณฑ์ยางโดยเฉพาะยางล้อ จะทำให้คุณภาพลดลง หรือยางเสียภาพและอาจทำให้ยางระเบิดได้ หากไม่เร่งแก้ไขอาจกระทบต่อภาพลักษณ์และการส่งออกยางแท่งของประเทศได้ 

          “การปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น ปลูกยางในดินนา ก็เป็นภัยคุกคามเช่นเดียวกันช่วง 3 ปีแรกจะยังไม่เห็นความแตกต่าง หลังจากนั้นต้นยางจะแสดงอาการให้เห็นชัดเจน คือ ต้นแกร็น และไม่โต ทำให้เกษตรกรเสียเวลาและไม่คุ้มค่าการลงทุน ดั้งนั้นจึงต้องพึงระวังเรื่องพื้นที่ปลูกยางด้วย" พิเชษฐ์ กล่าวย้ำ 

          อย่างไรก็ตามผลกระทบจากปัญหาทั้งหมดนี้ หากไม่เร่งแก้ไขอาจบั่นทอนและสร้างความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ในระยะยาว เพราะยางพาราเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีจะมีผลกระทบต่อการส่งออกและเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราอย่างแน่นอน

          หากสนใจข้อมูลภัยมืดคุกคามยางพาราสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ภายในงานมหกรรมยางทั่วไทย “เร่งบริบทงานวิจัย...ขจัดภัยมือยางพารา” ซึ่งสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 เมษายน ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ อ.เมือง จ.กระบี่

 

----------

ข้อระวังปลูกยางในพื้นที่ "ป่าต้นน้ำ"

 

          อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อ.ยักษ์ ณ มหาลัยคอกหมู ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เจ้าของคอลัมน์ "พอแล้วรวย" กล่าวในรายการ "เกษตรทำกิน" กับหนังสือพิมพ์ "คม ชัด ลึก" ทางช่องระวังภัยถึงการรุกคืบของการปลูกยางพาราในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำตามนโยบายรัฐบาลในโครงการปลูกยางในพื้นที่ใหม่ 1 ล้านไร่และ 8 แสนไร่ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ว่า นับเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งหากรัฐบาลยังสนับสนุนการปลูกยางพาราในลักษณะพืชเชิงเดี่ยวต่อไป โดยไม่คำนึงถึงพืชประจำถิ่น ถึงแม้ยางพาราจะเป็นพืชทำรายได้ที่ดี เมื่อเทียบกับการปลูกข้าวโพดหรือพืชไร่ชนิดอื่นๆ 

          เพราะเหตุว่าในระยะยาวนั้นจะมีปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกป่าต้นน้ำเพื่อขยายพื้นที่ปลูกยางพาราหรือเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มได้ง่าย เนื่องจากต้นยางพาราไม่มีรากลึกที่จะช่วยยึดหน้าดินมากนัก เหมือนกับไม้ประจำถิ่นชนิดอื่นๆ เสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มได้ง่าย ดังนั้นแนวทางที่เหมาะสมจึงควรปลูกไม้ยืนต้นอื่นเสริมไปด้วยในลักษณะป่าสมรม ตามแนวพระราชดำริคือ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

          "เห็นด้วยกับการปลูกยางพาราเพิ่มรายได้ให้แก้ชาวบ้าน แต่ต้องระวังผลที่ตามมาในระยะยาว ทั้งในเรื่องระบบนิเวศที่เปลี่ยนไป การรุกพื้นที่ป่าเพื่อขยายพื้นที่ปลูกยางเพิ่ม การทำลายป่าต้นน้ำ เสี่ยงต่อการพังทะลายของดิน ทางออกจะต้องหาวิธีปลูกพืชประจำถิ่นอื่นๆ เสริมเข้าไปด้วย ในลักษณะเป็นสวนสมรมเพื่อช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำด้วย" อ.วิวัฒน์ ให้ข้อคิดทิ้งท้าย

 

----------

(หมายเหตุ : สารพัดปัญหาคุกคามยางพาราไทย สถาบันยางเร่ง 'งานวิจัย' ขจัดภัยมืด : รายงานเกษตร : โดย ... สุรัตน์ อัตตะ)

----------

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ