Lifestyle

ม่วนซื่น เยือนถิ่นสกลนคร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชวนเที่ยว : ม่วนซื่น เยือนถิ่นสกลนคร : เรื่อง/ภาพ : นพพร วิจิตร์วงษ์

                ชีวิตพลิกผัน จากโปรแกรมรับลมเย็นคลายร้อนริมเลอยู่ดีๆ เหลือแค่ซื้อตั๋วเดินทาง ก็เป็นอันพับเก็บลงกระเป๋า เดินทางขึ้นถิ่นอีสานเหนือ สกลนคร-นครพนม ตามคำเชิญชวนของนกแอร์ ที่เพิ่มเที่ยวบินไปสกลนครและนครพนม แห่งละ 4 เที่ยวบินต่อวัน ฉันลังเลอยู่เสี้ยววินาที ปากก็ตอบตกลงไปโดยอัตโนมัติ เพราะจะว่าไปก็น้อยครั้งมาก ที่จะได้เดินทางในเส้นอีสาน ไกลสุดของฉันก็แค่อีสานใต้ ขนาดประเทศลาวก็ยังไปได้แค่ ลาวใต้

                 ดูตารางนัดหมายแล้ว เช็กอินตี 5 บินเที่ยวแรก 06.00 น.นิดๆ บร๊ะเจ้า...เช้าบรื๋อ ฉันจะตื่นไหวมั้ยเนี่ย แต่จะว่าไปเดินทางแต่เช้าก็สะดวกดี จะได้มีเวลาตะลอนทัวร์กันได้ทั้งวัน ไม่ต้องเสียเวลามาก ขอแค่ให้ฉันมีที่งีบระหว่างเดินทางสักหน่อยก็พอ

                 ถึง จ.สกลนคร หมุดหมายแรกของการเดินทาง ไม่น่าเชื่อว่า ขณะที่กรุงเทพฯ อากาศร้อนตับแลบ แต่ที่สกลนครกลับหนาวเย็นอย่างเหลือเชื่อ ดีที่มีผ้าพันคอติดไป เลยพอกล้อมแกล้มคลายหนาวยามเช้า ยามเย็นได้ "ที่นี่ คนหายไปไหนหมดเนี่ย วันทำงานไม่ใช่เหรอ" เราถามไถ่กันระหว่างนั่งจัดการอาหารเช้า ไข่กระทะกับต้มเส้น ที่ขึ้นชื่อร้านใหญ่ใกล้แยกไฟแดง
 ที่นี่เงียบสงบจริงๆ สมกับที่เป็นถิ่นเมืองธรรมะ จัดการมื้อเช้าเสร็จสรรพ เดินทางกันไปอีกหน่อยก็ถึงวัดพระธาตุเชิงชุม

                 วัดพระธาตุเชิงชุม ตั้งอยู่ริมหนองหาร ในเขตเทศบาลนครสกลนคร อยู่ปลายสุดของถนนเจริญเมือง ทิศเหนือและทิศตะวันออก ติดกับหนองหารหลวง ซึ่งเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากบึงบอระเพ็ด ที่ จ.นครสวรรค์

                 บริเวณวัดกว้างขวาง มีเนื้อที่กว่า 18 ไร่ หลังจากไหว้พระขอพรแล้ว เราเดินเลาะถ่ายรูปพระธาตุที่สวยงาม แม้จะไม่สูงลิบ แต่งดงามและมากด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ บริเวณยอดพระธาตุ สร้างด้วยทองคำถึง 247 บาท สวยงามสุกอร่าม เสียดายก็แต่ว่าเมืองสกลดูจะอุดมไปด้วยหมอกแดด ทำให้ท้องฟ้าไม่ใสปิ๊ง

                 วัดนี้จัดเป็นศูนย์กลางของเมืองสกลนคร มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากหลักฐานเสมาหินที่พบอยู่รอบๆ วัดพระธาตุเชิงชุม และหลักฐานแท่นบูชารูปเคารพ ตลอดจนศิลาจารึกตัว อักษรขอมในพุทธศตวรรษที่ 15-16 อยู่ติดผนังทางเข้าภายในอุโมงค์พระธาตุเชิงชุม (ชั้นใน) ซึ่งก่อเป็นสถูปขนาดเล็ก

                 ออกจากวัดพระธาตุเชิงชุม เราเดินทางไปวัดป่าสุทธาวาส ที่อยู่ไม่ไกลกันมากนัก

                 เปล่า...ไม่ใช่เพราะตั้งใจจะเดินทางไหว้พระ 9 วัดหรอก แต่เพราะเมืองสกลเป็นเมืองธรรมะ มีวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นศูนย์รวมของพระเถระที่มีชื่อเสียงหลายคน รวมถึงที่นี่ "วัดป่าสุทธาวาส" วัดที่ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หรือที่เรียกกันติดปากว่า "หลวงปู่มั่น" ละสังขารที่วัดนี้ พุทธศาสนิกชนและบรรดาศิษยานุศิษย์จึงมักเดินทางมากราบไหว้ 

                 หลวงปู่มั่น เป็นพระสายวิปัสสนา ที่ได้รับการยกย่องนับถืออย่างสูงจากพระและฆราวาสในภาคต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ มรณภาพเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2492

                 บริเวณวัดนี้ ยังมีบอร์ดนิทรรศการพระเถระที่มีชื่อเสียง เรียงกันยาวเหยียด นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภายในอาคารจึงมีอัฐิธาตุและหุ่นขี้ผึ้งจำลองในท่าขัดสมาธิ รวมทั้งยังจัดแสดงเครื่องอัฐบริขารของพระอาจารย์มั่นด้วย

                 ไม่ไกลกัน มีเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จันทสาโร หรือจันทสารเจติยานุสรณ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงร่างแบบพระราชทาน และมีพระราชกระแสรับสั่งว่า "ควรสร้างเจดีย์ที่วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร ที่วัดนี้มีอัฐิธาตุของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านจะได้อยู่ใกล้กัน"

                 หลวงปู่หลุย เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น เป็นผู้ที่มีปฏิปทา ชอบจาริกไปในที่ต่างๆ จนวาระสุดท้ายแห่งชีวิต ภายในเจดีย์ เป็น 2 ชั้น ชั้นบนมีรูปเหมือนของหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร และเครื่องอัฐบริขารของท่านหลวงปู่หลุยด้วย

                 อิ่มเอิบไปด้วยบุญ ยังไม่พ้นครึ่งเช้าของวัน เรายังตั้งเป้ากันว่า ไหนๆ มาไหว้หลวงปู่มั่นแล้ว ก็ควรจะไปไหว้พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หรือหลวงปู่ฝั้น สายธรรมยุติกนิกาย ซึ่งเป็นผู้เผยแผ่พระธรรม คำสอน จนเป็นที่นับถือศรัทธาและได้รับการได้รับการยกย่องเป็น "อริยสงฆ์" รูปหนึ่ง แต่พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ฝั้น อยู่ที่วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม อ.ส่องดาว ไกลจากตัวเมืองกว่า 116 กม. งั้นเราแวะที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ก่อนดีกว่า

                 พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ ที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระราชวงศ์ ในคราวเสด็จแปรพระราชฐานไปเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งอยู่กลางเทือกเขาภูพาน แต่ในช่วงที่ไม่ได้ประทับจะอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ โดยทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการพระราชวัง ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน กรุงเทพฯ 10200 และเมื่อได้รับหนังสือตอบรับแล้วจึงจะเดินทางไปชมได้ จะมีเจ้าหน้าที่นำชมและคอยอธิบายถึงสถานที่

                 พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ อยู่บนทางหลวงสายสกลนคร-กาฬสินธุ์ หมายเลข 213 ห่างจากตัวเมืองสกลนคร 13 กม. มีทางแยกเข้าไปทางด้านขวามือ ตามทางหลวงหมายเลข 2106 ตลอดทางเข้าไปในเขตพระตำหนักภูพาน ฉันเห็นต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ดอกไม้ที่เด่นสะดุดตานอกจากกุหลาบก็มีเฟื่องฟ้า ที่ปล่อยต้นสูงใหญ่ ดูสวยงามยามออกดอกเต็มต้น

                 การตกแต่งอาคารต่างๆ เป็นไปแบบเรียบหรู ดูคลาสสิก อาคารส่วนใหญ่ทาสีขาว ดูสบายตา ในบริเวณยังมีกลุ่มบ้านแบบชาวชนบท จัดสร้างไว้มุมหนึ่ง เป็นบ้านแบบดั้งเดิม มีเครื่องมือเครื่องไม้ทางการเกษตรครบถ้วน แม้แต่ครกกระเดื่องใต้ถุนบ้าน

                 เจ้าหน้าที่ยังพาเราเดินไปถึงเขื่อนตาดโตน เป็นเขื่อนขนาดเล็กที่อยู่ภายในบริเวณพระตำหนัก กักเก็บน้ำไว้สำหรับใช้ในพระตำหนัก ซึ่งมีเนื้อที่กว้างใหญ่เกือบ 2,000 ไร่ โดยเป็นพื้นที่เขตราชฐานชั้นใน 950 ไร่ ที่เหลืออีก 1,000 กว่าไร่ กันไว้เป็นพื้นที่ป่า ใช้เจ้าหน้าที่ดูแลทั้งหมด 135 คน  

                 "หากไม่มีพระตำหนักนี่ ป่าแถวนี้ก็คงไม่เหลือ" เจ้าหน้าที่ที่นำชมบอกเล่าให้ฟัง ซึ่งป่าที่เห็นก็ปล่อยรกเป็นป่าจริงๆ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่

                 ออกจากพระตำหนักภูพานฯ แวะเติมพลังมื้อเที่ยงกันสักหน่อย ก่อนเดินทางต่อไป วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม เป็นวัดธรรมยุติกนิกายฝ่ายวิปัสสนากรรมฐาน ไปทาง อ.สว่างแดนดิน ก่อนแยกเข้า อ.ส่องดาว ตั้งอยู่ติดกับภูผาเหล็ก อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน เป็นพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัดคือ สกลนคร อุดรธานี และกาฬสินธุ์ 

                 ฉันไม่ได้เข้าถ้ำ ด้วยเวลาไม่พอ ได้แต่เดินชมสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ที่จัดให้กราบสักการบูชา ว่ากันว่าถ้าให้ดีต้องเดินให้ครบทั้ง 4 องค์ ตั้งแต่องค์เจดีย์ประสูติ องค์เจดีย์ศรีมหาโพธิ์ องค์เจดีย์ปฐมเทศนา และองค์เจดีย์ปรินิพพาน ซึ่งมีหอส่องดาวด้วย 

                 จริงๆ ฉันก็เกือบลืม เพราะมัวแต่ถ่ายรูปวิวเพลินๆ เห็นสายแสงอาทิตย์อัสดงล้อเล่นกับสายน้ำคดเคี้ยวด้านล่าง จนเพื่อนทัก "ไปเดินดูองค์เจดีย์ครบหรือยัง" นั่นแหละ ฉันถึงรีบเดินไปตามหาทันที ทางขึ้นเขาเล็กๆ พอหอบหายใจสูดอากาศได้เต็มปอด ก็ครบทั้ง 4 องค์ แต่เอ๊ะ ขาดไป 1 องค์นี่นา ก็คือองค์เจดีย์ประสูติ ที่อยู่ตรงเชิงด้านล่างสุด นี่แหละหนา คนเรามักมอง
อะไรไกลตัวเสมอ

                 จนโพล้เพล้ ได้เวลาเดินทางกลับกันซะที เสียดายอีกรอบ ที่ไม่ได้ประทับตราอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก แต่ในใจยังคิดไว้ ไม่แน่ฉันอาจจะได้เดินทางมาที่นี่อีกครั้ง เพราะยังมีอีกหลายจุดที่ฉันพลาดไป

                 สกลนคร เมืองนี้ ที่ฉันรู้จัก ช่างงาม สงบ ทั้งธรรมชาติ และรสพระธรรม

                 สัปดาห์หน้า ฉันจะพาไปเลาะริมโขงที่นครพนม อย่าพลาดล่ะ !!

.............................
(ชวนเที่ยว : ม่วนซื่น เยือนถิ่นสกลนคร : เรื่อง/ภาพ : นพพร วิจิตร์วงษ์)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ