Lifestyle

ตามไปดู 'ดิจิตอล สคูล' ที่โปแลนด์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ อินโนเทค - ตามไปดู 'ดิจิตอล สคูล' ที่โปแลนด์ - โดย ... คนชอบเล่า

          ไม่รู้ว่าเป็นเหตุบังเอิญหรืออย่างไร ที่ช่วงปิดเทอมใหญ่ของเด็กไทยปีนี้ มีข่าวคราวความเคลื่อนไหวในแวดวงการศึกษาที่หวือหวาทั้งของไทยและเทศ ตามกันออกมาเป็นระลอกๆ ประเดิมตั้งแต่รัฐบาลไทยเตรียมแจกแท็บเล็ตให้เด็ก ป.1 ต่อด้วยกลุ่มนักการเมืองและนักการศึกษาชาวดัตช์ เสนอให้รัฐบาลตั้งโรงเรียนสตีฟ จ็อบส์ ที่จะใช้ไอแพดเป็นสื่อการเรียนการสอนแทนสมุด-หนังสือเรียน (มีการเสนอเข้าสภาไปเมื่อต้นสัปดาห์นี้ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยความคืบหน้าใดๆ ออกมาสู่สาธารณะ)

          แต่ระหว่างที่หลายคนรอลุ้นผลโรงเรียนสตีฟ จ็อบส์ ของเนเธอร์แลนด์ ประเทศที่อยู่ไม่ไกลกันเท่าไรนัก คือโปแลนด์ ก็สร้างเสียงเกรียวกราวให้นักการศึกษาในหลายประเทศ (ที่นำหน้าการพัฒนาไปก่อนนับสิบปี) ด้วยการที่รัฐบาลอนุมัติโครงการโรงเรียนดิจิตอล (ดิจิตอล สคูล โปรแกรม) ที่มีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในการเรียนการสอน และมุ่งหวังให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) ให้แก่เยาวชนโปแลนด์

          จากที่ตามไปดูบล็อกของชาวโปแลนด์หลายคน ทำให้ทราบว่าโครงการนี้ใช้เวลาผลักดันมาประมาณ 1 ปีกว่ารัฐบาลจะเปิดไฟเขียวอนุมัติโครงการ พร้อมงบประมาณ 45 ล้านซวอตี (PLN) หรือราว 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับใช้ในการจัดหาหนังสือเรียนฟรี และหนังสือเรียนรูปแบบดิจิตอลให้แก่เด็กนักเรียนระดับชั้น ป.4-ป.6 ในโรงรียนนำร่อง 380 แห่งทั่วประเทศ โดยโรงเรียนเหล่านี้จะมีการติดตั้งอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ต่างๆ เช่น แท็บเล็ต, ระบบคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เพิ่มเติมอื่นๆ ตลอดจนการฝึกอบรมบุคลากรผู้สอน เพื่อสนับสนุนให้เป็น “โรงเรียนดิจิตอล” ที่สมบูรณ์แบบ

          อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้เขียนอยากจะปรบมือ “ชื่นชม” รัฐบาลโปแลนด์ ซึ่งในอดีตถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมแบบสุดขั้ว ก็คือการวางรากฐานเพื่อสร้างความยั่งยืน และการขยายความสำร็จให้แก่แผนการพัฒนาโรงเรียนดิจิตอลในระยะยาว

          อย่างที่ยังคงมีการถกเถียงกันอย่างชนิดที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่า การเรียนการสอนผ่านเครื่องมือที่เป็นสื่อดิจิตอล หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้น หนึ่งใน “หัวใจ” ในการพัฒนาศักยภาพและความรู้ความสามารถของเด็กนักเรียน คือ “คอนเทนต์” หรือเนื้อหาที่จะใช้สอนเด็ก ซึ่งแน่นอนว่าจะมีต้นทุนทั้งในเรื่องการพัฒนา และค่าลิขสิทธิ์ หรือการอนุญาตนำมาใช้ ที่หากแพงเกินไป หรือมีไม่เพียงพอ ก็ย่อมเป็นอุปสรรคต่อ “วิสัยทัศน์” สูงสุดสำหรับนวัตกรรมการเรียนการสอนแห่งศตวรรษที่ 21

          สำหรับโครงการโรงเรียนดิจิตอลของโปแลนด์ ในการอนุมัติมีการระบุชัดเจนว่า การสร้างสื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะหนังสือเรียนอิเล็กทรอนิกส์นั้น ต้องเป็นรูปแบบที่ “เปิดกว้าง” และเอื้อต่อการเผยแพร่ภายใต้ข้ออนุญาตให้ใช้ได้ตามสัญญา อนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์ แบบแดงที่มา-ไม่ใช่อนุญาตเพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 (Creative Commons License) 

          “ครีเอทีฟคอมมอนส์” เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรและเกิดจากการรวมกลุ่มของบุคคลหลายสาขาอาชีพ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดของความต้องการที่จะเผยแพร่งานทางด้านลิขสิทธิ์ แต่ต้องการสงวนและรักษาสิทธิ์บางอย่างไว้ โดยมีการก่อตั้งองค์กรขึ้นในปี 2544 และมีการกำหนดรูปแบบการอนุญาตใช้งาน เผยแพร่ ตามวัตถุประสงค์ต่างๆ รวมกันไว้ประมาณ 11 รูปแบบ

          ส่วนข้อกำหนดในการอนุญาตใช้งานหนังสือเรียนอิเล็กทรอนิกส์ตามโครงการนี้ ก็คือ Attribution ซึ่งหมายความว่า สามารถที่จะนำไปคัดลอก เผยแพร่ เปิดเผย แสดง และสามารถดัดแปลงผลงานได้ แต่ต้องมีการระบุที่มาว่าต้นฉบับเดิมนั้นมาจากแหล่งใด และใครเป็นเจ้าของในชิ้นงานนั้นๆ...นี่แหละคือ ยุทธศาสตร์ในการกระตุ้นให้มีการพัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่หลากหลาย และให้เครดิตกับผู้พัฒนา ซึ่งท้ายที่สุด ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับนักเรียน

 

 

----------

(หมายเหตุ : คอลัมน์ อินโนเทค - ตามไปดู 'ดิจิตอล สคูล' ที่โปแลนด์ - โดย ... คนชอบเล่า)

----------

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ