พระเครื่อง

ปรากฏการณ์หนังสือหลวงปุ่เณรคำ'ขายดี!'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หลวงปุ่เณรคำ ฉัตติโกปฏิปทาและปรากฏการณ์หนังสือ..."ขายดี!" : เรื่อง/ ภาพ ไตรเทพ ไกรงู

              “๒๐๐,๐๐๐ เล่ม”
             
              เป็นตัวเลขการจัดพิมพ์และจัดจำหน่ายหนังสือรวบรวมประวัติ ปฏิปทา และคำสอนที่พระอาจารย์วิรพล ฉัตติโก หรือ หลวงปู่เณรคำ เป็นประธานสงฆ์ วัดป่าขันติธรรม ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ โดยใช้ชื่อว่า “ชาติหน้าไม่ขอมาเกิด” เล่มที่ ๒ ซึ่งใช้ชื่อว่า “ชาติหน้าไม่ขอมาเกิด ๒” ก็มียอดพิมพ์และยอดขายต่างจากเล่มแรกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เล่มที่ ๓ ซึ่งใช้ชื่อว่า “คนเห็นโลก” และเล่มที่ ๔ ซึ่งใช้ชื่อว่า “คนเห็นโลก” กำลังเป็นหนังสือติดอันดับขายดีเช่นกัน
   
              ปรากฏการณ์หนังสือรวบรวมคำสอนและประวัติพระสงฆ์ขายได้และขายดีไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการจัดพิมพ์หนังสือ ด้วยเหตุที่ว่า ส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่ลูกศิษย์พิมพ์แจกในงานทำบุญคล้ายวันเกิด เนื้อหาในหนังสือจะครอบคลุมทุกๆ ด้าน ทั้งประวัติส่วนตัว การศึกษา ผลงาน การพัฒนา คำสอน รวมทั้งการจัดสร้างวัตถุมงคล และด้วยเหตุที่มีการพิมพ์หนังสือแจกฟรีอยู่แล้ว จึงกลายเป็นเรื่องยากที่จะพิมพ์หนังสือในลักษณะเดียวกันออกมาขายแข่ง
   
              "ประวัติของหลวงปู่เณรคำเปรียบเสมือนบทภาพยนตร์ดีๆ เรื่องหนึ่งนั่นเอง สำนักพิมพ์ก็คือโปรดิวเซอร์ผู้อำนวยการผลิต ซึ่งต้องใช้ผู้กำกับมือดีซึ่งก็คือบรรณาธิการที่ต้องคอยควบคุมผลงานให้ปรากฏสู่สายตาผู้บริโภคแบบมืออาชีพ เช่น การเรียบเรียงสารบัญของเรื่องให้เหมาะสม การสอดแทรกภาษาวรรณกรรม ซึ่งต้องใช้นักเขียนที่มีประสบการณ์ในการเรียงร้อยถ้อยคำให้สละสลวย มาเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ สิ่งสำคัญที่สุดอีกเรื่องหนึ่งคงต้องให้น้ำหนักไปที่สภาวะความต้องการของตลาดซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาในอันดับต้นๆ" นี่เป็นความเห็นของนายวัฒน์ ปิติสิงห์ เจ้าของสำนักพิมพ์ศรัทธาธรรม ผู้จัดพิมพ์หนังสือรวบรวมประวัติปฏิปทาคำสอนหลวงปู่เณรคำ ทั้ง ๔ เล่ม
   
              เจ้าของสำนักพิมพ์ศรัทธาธรรม ยังบอกด้วยว่า ธรรมะ ประวัติ และปฏิปทาคำสอน ของพระสงฆ์แต่ละรูปต่างมีข้อดีไม่แพ้กัน ส่วนคนจะชอบอ่านหรือไม่นั้นอยู่ที่วิธีการนำเสนอและเรียบเรียง ทั้งนี้สิ่งที่ต้องพิจารณาก่อนอันดับแรกคือ ท่านดังมั้ย มีใครรู้จักท่านมั้ย ปฏิปทาท่านน่าเคารพศรัทธาหรือไม่ ท่านมีวัตถุประสงค์ในการเผยแผ่อย่างไร ประการสำคัญ วัดต้องให้อิสระในแนวความคิดของสำนักพิมพ์ในระดับหนึ่ง เพราะถ้าหากยังคิดแบบเดิม กลัวว่าภาพครูบาอาจารย์ออกมาแล้วจะไม่เหมาะสม อันนี้ก็สุดแล้วแต่จะพิจารณา แต่สุดท้ายเราต้องมาหาบทสรุปร่วมกันอยู่แล้ว
   
              หลวงปู่เณรคำ ท่านมีเมตตาธรรมต่อสานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทุกท่าน อยากให้ทุกคนได้เข้าถึงความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ ธรรมะและแนวทางการปฏิบัติ ที่หลวงปู่ได้เมตตานำมาสอนนั้น เป็นแนวทางลัดในการปฏิบัติ ให้บรรลุธรรมกันได้ง่ายขึ้น สามารถเข้ากับจริตของทุกๆ คน ทุกๆ จิตใจ ถ้ามีความเพียร ถ้ามีความศรัทธาในองค์พระรัตนตรัยอย่างแท้จริง ความเพียรและความศรัทธาที่เด็ดเดี่ยวมั่นคงนั้น จะเป็นกำลังผลักดันให้เรามีตบะเดชะในใจ สามารถบำเพ็ญจนสำเร็จเป็นมรรคเป็นผลได้ในที่สุด นี่แหละ คือ เมตตาธรรมอันยิ่งใหญ่ที่หลวงปู่ท่านได้หยิบยื่นให้แก่เราท่านทั้งหลาย
     
              "พิมพ์หนังสือพระ ถ้าเราคิดถึงเรื่องผลประโยชน์เพียงอย่างเดียวก็คงไม่สบายใจ ให้คิดว่าเราช่วยกันเผยแผ่ธรรมะก็จะทำให้ใจเราเป็นสุข เพราะหนังสือประเภทนี้ไม่มีคำว่าขาดทุน หนังสือเหลือก็เอาไปถวายวัดเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง แต่เท่าที่มีการจัดพิมพ์หนังสือหลวงปู่เณรคำออกมา สำนักพิมพ์ใหญ่เขาก็มีจรรยาบรรณนะ คือมีมารยาทในการแข่งขัน ถึงแม้จะนำเสนอโปรดักท์เดียวกันแม้จะมีแง่มุมที่แตกต่างออกไป" เจ้าของสำนักพิมพ์ศรัทธาธรรม กล่าวทิ้งท้าย


หลักคำสอนของหลวงปู่เณรคำ

   
              บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ได้ให้การยอมรับและเคารพนับถือ หลวงปู่เณรคำ เป็นอย่างยิ่งว่า เป็นพระอริยสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ จนบรรลุถึงความสิ้นไปแห่งกองทุกข์ ตามแนวทางคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว
   
              บางส่วนของพระธรรมเทศนา ที่หลวงปู่เณรคำแสดงไว้หลายที่ หลายโอกาส ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจ เช่น
   
              การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารภพน้อยภพใหญ่นี้ มันทุกข์ร้อนมากๆ ผู้ไม่ปรารถนาที่จะมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ต้องปฏิบัติตนรักษาศีล บำเพ็ญภาวนา ตั้งศรัทธาให้มั่นคง ปฏิบัติธรรมกำหนดรู้ ถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งปวง ถอดถอนความยึดถือในโลกทั้งปวง ในธรรมทั้งปวง ความเป็นตัวเป็นตน ความแบกหาม เอาสมมุติทั้งหลายทิ้งไปให้หมด สละไปให้หมด จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
     
              นักปฏิบัติต้องใช้สติปัญญาที่เฉียบคม ทบทวนดูผลของการปฏิบัติที่ผ่านมาให้ละเอียดมากลงไปเรื่อยๆ ว่ากิเลส ตัณหา อุปาทานที่ฝังแน่นอยู่ในจิตใจนั้น มันหมดไปมากน้อยแค่ไหน และทบทวนดูสภาพจิตของตัวเองให้ลุ่มลึกลงไปให้มาก ทุกอย่างเกิดขึ้นแล้ว ทุกอย่างต้องดับไป
   
              นักปฏิบัติต้องทบทวนดูสิ่งที่ตนเห็นให้ดี เพราะสิ่งที่เห็น คือ อุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่น เมื่อเห็นแล้วเดินจิตปลงลงสู่ความไม่ยึดถือ เดินกระแสจิตเข้าสู่ความดับ พอมันหลุดไปหมดแล้ว จะเห็นอะไรมันก็เห็นเป็นปกติ
   
              อุเบกขานั้นไม่ใช่การวางเฉยไปเลย แต่เป็นการเฝ้าดูโดยความสงบนิ่งของจิต ไม่มีอารมณ์อื่นแทรกแซง ท่านทั้งหลายจงมีอุเบกขาแบบอุเบกขาผู้มีปัญญา อุเบกขาแบบผู้มีปัญญาคือ การเฝ้าดูอยู่ไม่ให้ตนเองพลาดพลั้ง ไม่มีสิ่งที่ไม่ดี ไม่มีสิ่งที่เป็นอกุศล
   
              เนื้อแท้ของธรรมชาติในโลกวัฏฏทุกข์นั้น ล้วนแล้วไม่ยั่งยืน แปรปรวนอยู่ตลอดกาลตลอดสมัย จึงให้ทุกท่านเข้าไปรู้ความจริงของธรรมชาติแห่งวัฏฏทุกข์นั้น ด้วยสติปัญญาอันสุขุมละเอียด และด้วยใจที่เด็ดเดี่ยว ความจริงแจ้งชัดหายสงสัยปรากฏอย่างที่สุด หลุดพ้นทันที
     
              ยศถาบรรดาศักดิ์ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณทั้งหมด เกิดขึ้นแล้วในโลกนี้ เราก็ไม่ได้เอาไปด้วย เป็นสักแต่ว่าสมมุติในโลกนี้แค่นั้น ท่านจะเป็นมนุษย์ผู้มีสมบัติใหญ่โต มีชื่อแปลกๆ มีรถยนต์ นั่นคือเครื่องสมมุติ ผู้ที่บำเพ็ญตนให้พ้นจากกิเลสตัณหา เห็นสมมุติเหล่านั้นให้เด่นชัด เห็นทุกอย่างเป็นสมมุติ รู้สมมุติเหล่านั้นแล้วทิ้งสมมุติเป็นแดนเกิด ภพชาติจึงดับไป
   
              และผู้มีขันติอยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ ไม่ว่าจะเป็นที่แคบ ที่โล่ง ที่กว้าง ป่าดงรกชัฎ ผู้ที่ได้ศึกษาในเส้นทางของเรา (หลวงปู่เณรคำ) ขอให้มีขันติธรรมในใจหนักแน่นเด็ดเดี่ยวเหมือนกับเราได้บำเพ็ญในครั้งนี้ ทุกคนต้องทำได้เราเคยทำมาแล้ว ทุกคนต้องทำได้อย่างนั้น”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ