Lifestyle

เลี้ยง'ด้วงสาคู'อาชีพใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เลี้ยง 'ด้วงสาคู' อาชีพใหม่ ทำรายได้ดี-ตลาดต้องการ : โดย...เมธี เมืองแก้ว

                     "ด้วงสาคู" เป็นอาหารพื้นบ้านชนิดหนึ่งที่นิยมบริโภคกันทั่วไป ทั้งในกลุ่มชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวใต้ มักนำมาทอด ผัด เนื่องจากมีรสชาติอร่อย หวานมัน แถมมีโปรตีนสูง ซึ่งการได้มาของด้วงชนิดนี้ มีทั้งหาจากป่าสาคู หรือป่ามะพร้าวตามธรรมชาติ และการเลี้ยงที่นำท่อนสาคูหรือท่อนลานมาวางไว้ เพื่อให้พ่อแม่พันธุ์มากิน ผสมพันธุ์และวางไข่ จากนั้นจึงเก็บบริโภคเมื่อมีขนาดโตเต็มวัย

                     ปัจจุบัน "ด้วงสาคู" เป็นที่ต้องการของตลาดมาก จนผลิตไม่ทัน เนื่องจากราคาดี เลี้ยงง่าย ใช้เวลาสั้น จึงมีผู้สนใจหันมาเลี้ยงกันมากขึ้น และได้มีการพัฒนาไปเลี้ยงในกะละมัง เนื่องจากสามารถควบคุมผลผลิต ทั้งแง่ปริมาณและเวลาได้

                     "นางราชาวดี เพชรรัตน์" วัย 32 ปี ชาว จ.ตรัง เป็นผู้หนึ่งที่มองเห็นโอกาสและช่องทางธุรกิจการเลี้ยง "ด้วงสาคู" จึงตัดสินใจเช่าบ้านชั้นเดียว ในพื้นที่หมู่ 7 บ้านท่าปาบ ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองตรัง เป็นโรงเรือนเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่นี้ แม้ว่าเธอจะจบการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี และเมื่ออดีตจะทำงานด้านสื่อสารมวลชน ก่อนพลิกผันมาทำอาชีพจำหน่ายและให้เช่าพัดลมไอน้ำ ในพื้นที่ จ.ตรัง และภาคใต้ กระทั่ง เมื่อเห็นว่าธุรกิจเริ่มอยู่ตัว จึงคิดว่าน่าจะหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ให้ครอบครัว

                     ทั้งนี้ จากการศึกษาและพูดคุยกับหลายๆ คน พบว่า การเลี้ยง "ด้วงสาคู" ในกะละมัง เป็นอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ ไม่ซับซ้อน ลงทุนน้อย เลี้ยงง่าย ได้ผลผลิตเร็ว และ ที่สำคัญตลาดมีความต้องการสูง ขณะที่ผลผลิตมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงตัดสินใจลงมือทำแบบลองผิดลองถูกไปตามสภาพ

                     ราชาวดีเล่าว่า การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่นี้ ยังไม่มีความรู้ทางวิชาการ หรือตำราการเลี้ยงโดยเฉพาะ ดังนั้นเกษตรกรจะต้องรู้จัก ศึกษา สังเกต และใช้ประสบการณ์เข้าช่วย อย่างไรก็ตาม หลังผ่านพ้นได้ 1 ปี จากที่เลี้ยงแค่ 50 กะละมัง ก็ขยายเป็น 600 กะละมัง และมีเป้าหมายที่จะทำให้ได้ 1,000 กะละมัง

                     "โรงเรือนที่เหมาะต่อการเลี้ยงด้วงสาคู ควรเป็นที่โปร่ง ไม่มีแดด อากาศไหลเวียนดี ไม่มีน้ำท่วม โดยเลือกต้นสาคูที่ใกล้ตาย หรือที่เรียกว่า "เขากวาง" ก่อนนำไปบด และแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน แล้วนำมาใส่ในกะละมัง ก่อนนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ หรือที่เรียกว่า "ตัวหวัง" ใส่ลงไปประมาณ 20 ตัว" ราชาวดีแจง

                     พร้อมระบุ หลังจากปิดฝาในกะลามังไว้อย่างมิดชิด แล้วทิ้งไว้ประมาณ 30 วัน เพื่อให้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ผสมพันธุ์และวางไข่ ไม่นานตัวอ่อนก็จะกลายเป็นตัวด้วงที่โตเต็มวัย จนสามารถนำมาบริโภค หรือจำหน่ายได้ ซึ่งโดยปกติใน 1 กะละมัง จะได้ "ด้วงสาคู" ครั้งละ 1-2 กิโลกรัม หรือประมาณ 200-210 ตัว

                     "เนื่องจากด้วงสาคูชอบอากาศเย็นชื้น และเพื่อต้องการให้มีสภาพแวดล้อมเหมือนดั่งธรรมชาติมากที่สุด เราจึงนำพัดลมไอน้ำที่ซื้อมาไว้จำหน่ายอยู่แล้ว ไปติดตั้งภายในโรงเรือน แล้วเปิดครั้งละ 10-15 นาที ทุกๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งปรากฏว่า ทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างดียิ่งขึ้น"

                     สำหรับการตลาดนั้น ราชาวดี เล่าว่า ระยะแรกจะขายในตลาดแถวบ้าน แต่เมื่อเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ก็มีลูกค้าจังหวัดต่างๆ ทั้งในภาคใต้ กรุงเทพฯ สั่งซื้อเข้ามา จนผลิตไม่ทันและไม่พอต่อความต้องการ แถมบางรายสั่งจองล่วงหน้าเป็นเดือน โดยขายกิโลกรัมละ 300-500 บาท ตามแต่ละพื้นที่ที่สั่งซื้อ สนใจจะมาดูงาน ต้องการทราบวิธีการเลี้ยง ตลอดจนอยากลองชิม ติดต่อได้ที่ 08-1606-4513 หรือ 08-6470-4048

......................................
(เลี้ยง 'ด้วงสาคู' อาชีพใหม่ ทำรายได้ดี-ตลาดต้องการ : โดย...เมธี เมืองแก้ว )

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ