Lifestyle

อย่ามองข้ามเลี้ยง'หนอนนก'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อย่ามองข้ามเลี้ยง'หนอนนก' อาชีพแห่งอนาคตเกษตรกรใต้ โดย...สุวรรณี บัณฑิศักดิ์

                แม้ "หนอนนก" หรือ" หนอนรำข้าวสาลี" จะมีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตหนาวแถบทวีปยุโรป แต่หลังจากนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

                "ผศ.โสภณ บุญล้ำ" ทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพการเลี้ยงให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศทางภาคใต้ ปรากฏว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี มีการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ไม่แตกต่างที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 500-600 บาท และจากการทดลองให้นกกิน พบว่านกกินแล้วมีสุขภาพดี เหมาะที่จะเป็นอาหารเสริมให้ไก่พื้นบ้านและสัตว์ปีกอื่น

                หลังจากประสบผลสำเร็จ ผศ.โสภณ บอกว่า พร้อมจะให้ความรู้เป็นวิทยาทานโดยไม่คิดมูลค่าในการถ่ายทอดผลการวิจัยไปสู่เกษตรกร ขณะนี้ได้จัดตั้งแหล่งเรียนรู้หลายแห่งให้แก่เกษตรกรที่สนใจ อาทิ ตั้งแหล่งเรียนรู้ 1 ตำบล 1 ฟาร์ม ในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านเชี่ยวหลาน อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี เทศบาลตำบลเขานิพันธ์ อ.เวียงสระ เทศบาลตำบลบางงอน อ.พุนพิน อบต.พรุพี อ.บ้านนาสาร และหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 46 สำนักงานพัฒนาภาค 4 อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการและนำไปปฏิบัติในพื้นที่จริงจำนวน 36 ครอบครัว และจากการติดตามผลการปฏิบัติงานได้ผลดีมาก

                หนอนนก คือตัวอ่อนของแมลงปีกแข็ง ตระกูลมอด ด้วง และมีชื่อเรียกแตกต่างกันของแต่ละท้องถิ่น เช่น มอดรำข้าวสาลี หนอนรำข้าวสาลี แต่คนส่วนใหญ่รู้จักและเรียกกันทั่วๆ ไปคือ "หนอนนก" เป็นแมลงที่เลี้ยงง่าย ชอบกินรำข้าวสาลีเป็นอาหาร การเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว จึงเน้นการให้อาหารเสริมสำหรับหนอนนกจำพวกใบตำลึง มะละกอ ฟักทอง กล้วยน้ำว้า ผักกาดขาว มันแกว ซึ่งหาง่ายในท้องถิ่นและราคาถูก หรืออาจจะไม่ต้องซื้อหาเพราะมีอยู่แล้วในท้องถิ่น ที่สำคัญหนอนนกที่พัฒนาสายพันธุ์โดย ผศ.โสภณ หลังจากให้นกกิน ปรากฏว่านกกินแล้วมีสุขภาพดี สามารถขยายพันธุ์ได้ ซึ่งอนาคตไม่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศอีกต่อไป

                "หนอนนกที่ได้ไม่มีความแตกต่างจากหนอนนกต่างประเทศ ไม่เพียงแต่จะเป็นอาหารของนกเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นอาหารชั้นเลิศของไก่พื้นเมือง ผมจึงเสริมให้นำหนอนนกเป็นอาหารเสริมของไก่พื้นเมือง โดยเฉพาะไก่ชน ซึ่งเราได้ทดลองมาแล้ว ผลปรากฏว่าจากการทำการวิจัยโดยการใช้หนอนนกเสริมอาหารของไก่ชน ทำให้ไก่ชนมีสุขภาพสมบูรณ์มาก สีสันสวยงาม ทดทานต่อสภาพภูมิอากาศทุกรูปแบบ และมีอายุยืน ผมได้นำผลงานนี้ไปแสดงงานวิจัยระดับชาติ จึงได้รางวัลมาแล้ว" ผศ.โสภณกล่าว

                เช่นเดียวกับให้นกปรอดหัวจุก หรือนกกรงหัวจุกกิน พบว่า นกมีสีสันสวยงาม ร้องเสียงดี ทนทานต่อสภาพอากาศ โตเร็ว มีสุขภาพสมบูรณ์ ซึ่งนอกจากหนอนนกจะเป็นอาหารของสัตว์ปีกแล้ว ผศ.โสภณยังได้ต่อยอดไปยังอาหารสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาสวยงาม สัตว์เลื้อยคลานบางประเภทก็ได้ผลดีไม่แพ้กัน อย่างล่าสุดยังได้ทดลองนำหนอนนกที่ได้เป็นอาหารของ "เม่นแคระ" จากการทดลองเลี้ยง 20 วันแรกได้ผลในระดับดีมาก ขณะนี้ยังดำเนินการทดลองต่อไป

                 ที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้เกษตรกรภาคใต้อาจจะเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่ส่งออกหนอนนกไปตลาดต่างประเทศได้ และจะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี หากใครสนใจศึกษาวิธีการเลี้ยงสามารถติดต่อไปที่สำนักงานการวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ตลอดเวลาในเวลาราชการ

-----------------------------------
( อย่ามองข้ามเลี้ยง'หนอนนก' อาชีพแห่งอนาคตเกษตรกรใต้ โดย...สุวรรณี บัณฑิศักดิ์)

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ