Lifestyle

ไก่'พันธุ์มทส.'ผลพวงงานวิจัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไก่'พันธุ์มทส.' ผลพวงงานวิจัย สู่เกษตรกร-ต่อยอดสร้างอาชีพ

                ไก่ พื้นเมือง หรือ "ไก่บ้านไทย" เป็นที่นิยมของผู้บริโภค เพราะเนื้อแน่น นุ่ม รสชาติอร่อยแบบไทยๆ ปัจจุบันเนื้อไก่พื้นเมืองเป็นที่ต้องการของตลาดมาก แต่กำลังการผลิตของเกษตรกรยังไม่สูงพอ จำนวนการผลิตไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากไก่พื้นเมืองให้ไข่น้อยและโตช้า การผลิต "ไก่ลูกผสมพื้นเมือง" จึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตป้อนตลาดได้มากและสม่ำเสมอ แต่ปัญหาที่สำคัญคือจะใช้ไก่สายพันธุ์ใดเป็นแม่พันธุ์ที่ต้องให้ไข่ดกและให้ลูกที่เจริญเติบโตดีและเร็ว

                รศ.ดร.จันทร์จรัส เรี่ยวเดช ผอ.ฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) บอกว่า สกว.ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง สนับสนุนงานวิจัยศึกษาขั้นตอนและวิธีการคัดเลือกสายพันธุ์ตามหลักวิชาการจนสามารถสร้าง "ฝูงไก่พื้นเมือง" พันธุ์แท้ ได้ 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย ประดู่หางดำ เหลืองหางขาว แดง และชี โดยไก่ฝูงพันธุ์พื้นเมืองที่ได้มีลักษณะภายนอกทั้งรูปร่าง หงอน สีขน สม่ำเสมอเป็นเอกลักษณ์ตรงตามลักษณะประจำพันธุ์ สามารถใช้จำแนกพันธุ์ได้ครบถ้วนทั้งด้านคุณภาพ (Qualitative traits) และปริมาณ (Quantitative traits) เช่นเดียวกับไก่พันธุ์แท้ต่างๆ ของทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยแสดงความเป็นเจ้าของพันธุ์ได้

                ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนอาชีพให้เกษตรกร และผู้ประกอบการรายเล็กถึงกลาง ไก่สายพันธุ์แท้เหล่านี้จึงถูกนำไปวิจัยและพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เหมาะสม ถูกใจชุมชน และถูกใจตลาดในแต่ละพื้นที่ โดย รศ.ดร.จันทร์จรัส ยอมรับว่า 1 ใน 4 สายพันธุ์ดังกล่าวมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้เลือกไก่เหลืองหางขาวเป็นพ่อพันธุ์ พร้อมๆ กับการคัดเลือกแม่ไก่พันธุ์ที่สามารถให้ไข่ดก มีลูกที่โตเร็ว ที่สำคัญต้องคงความดีเด่นของไก่พื้นเมืองได้ครบถ้วน

                ดร.อมรรัตน์ โมฬี อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส.หนึ่งในทีมงานวิจัย บอกว่า "ไก่สายพันธุ์ มทส." เป็นผลผลิตหนึ่งในโครงการวิจัย "การพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราชเพื่อเป็นอาชีพวิสาหกิจชุมชน"ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน คือ มทส. สกว. กรมปศุสัตว์ และกลุ่มเกษตรกรหมู่บ้านซับตะเคียน ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา มีเป้าหมายจะใช้เป็นไก่สายแม่พันธุ์ในการผลิต "ไก่โคราช" ให้เป็นเครื่องมือประกอบอาชีพระดับวิสาหกิจชุมชนที่ยั่งยืนของคนโคราชและกลุ่มเกษตรกรไทย

                ทั้งนี้ คุณสมบัติที่โดดเด่นของแม่พันธุ์ไก่ มทส. คือ เป็นแม่พันธุ์ไก่เนื้อที่ให้ไข่สูง 220 ฟองต่อตัวต่อปี ทำให้ต้นทุนการผลิตลูกไก่อายุ 1 วัน อยู่ในเกณฑ์ที่แข่งขันทางตลาดได้ และคุณสมบัติที่สำคัญมากคือ เมื่อไก่ มทส.ผสมพันธุ์กับพ่อไก่เหลืองหางขาวกบินทร์บุรีจากกรมปศุสัตว์ จะได้ไก่โคราชที่โตเร็ว ใช้เวลาเลี้ยง 10 สัปดาห์ ได้น้ำหนัก 1.2 กิโลกรัมต่อตัว ประสิทธิภาพการใช้อาหาร 2.31 ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตไก่เนื้อที่น้ำหนักส่งตลาดอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถแข่งขันกับไก่เนื้อทั่วไปได้ ที่สำคัญให้คุณภาพเนื้อที่อร่อยเหมือนไก่พื้นเมืองแท้ๆ

                ดร.อมรรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นของแม่ไก่ มทส. เมื่อรวมกับความโดดเด่นของไก่เหลืองหางขาว ทำให้ได้ไก่โคราชที่นอกจากจะ "ถูกปากคนไทย ถูกใจคนโคราช" แล้ว ยังท้าทายให้เป็นอาชีพที่มั่นคงของเกษตรกรไทยในอนาคตอันใกล้อีกด้วย ซึ่งเกษตรกรท่านใดสนใจอยากนำไปต่อยอดเลี้ยงเป็นอาชีพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.อมรรัตน์ [email protected] \<mailto:[email protected]\> และ ดร.วิทธวัช โมฬี [email protected]

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ