Lifestyle

'กุฏิพระไม่บาน'ที่ไม่กลัวน้ำ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'กุฏิพระไม่บาน'ที่ไม่กลัวน้ำ:บ้านไม่บาน

 
          สวัสดีครับแฟนๆ ชาว คนรักบ้าน ในสัปดาห์นี้เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย “คนไทยไม่กลัวน้ำ” ผมขอนำเสนอรูปแบบ “กุฏิพระไม่บาน” ที่สามารถอยู่ร่วมกับภัยน้ำท่วมได้ 2-4 เดือน ไม่ว่าท่านจะชอบสภาวะน้ำท่วมหรือไม่ก็ตาม คงต้องยอมรับกันโดยไม่มีเงื่อนไขนะครับว่า “สังคมไทย” ต่อให้อยาก “ทันสมัย” เท่าใด ก็ต้องตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมหลัก 2 ประการ คือ “วัฒนธรรมข้าว” กับ “วัฒนธรรมน้ำ” 
 
          ถ้าพูดตามประสาชาวบ้านให้เข้าใจได้ง่ายก็สามารถพูดได้ว่า คนไทยเติบโตมาด้วยการกินข้าวและการใช้ชีวิตใกล้ชิดกับแม่น้ำลำคลอง ซึ่ง 2 สิ่งนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของวัฒนธรรมในการกินการอยู่ เป็นวิถีชีวิตของคนไทยแท้ๆ ซึ่งจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ ในเมื่อเรายอมรับความจริงในข้อนี้ทำให้รูปแบบ “อาคารบ้านเรือนไม่บาน” รวมถึง “กุฏิพระไม่บาน” ก็จำเป็นที่จะต้องตอบโจทย์นี้ให้ได้ มิฉะนั้นก็จะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขได้ครับ
 
          สำหรับในสัปดาห์นี้ผมก็ขอเอาใจบรรดาพระสงฆ์องค์เจ้า จะว่าไปแล้วประเทศของเรามีวัดน้อยใหญ่กว่า 2.7 แสนวัด และจำนวนพระภิกษุสามเณรกว่า 313,267 รูป ดังนั้น ในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบรรดากุฏิพระจำนวนไม่น้อยนับหมื่นหลังก็กำลังประสบกับอุทกภัยในครั้งนี้ จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่ชาวบ้านร้านตลาดต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตไปให้สอดคล้องกับน้ำ แต่ยังส่งผลให้วิถีชีวิตของสมณะชีพราหมณ์ก็ยังต้องเปลี่ยนเลยครับ
 
          ผมไม่แปลกใจเลยครับว่านับแต่นี้รูปแบบสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในวัดก็ต้องเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นกุฏิพระ ศาลาการเปรียญ และพระอุโบสถ ตลอดไปจนเมรุ หรือแม้แต่ส้วมสาธารณะในวัดก็ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบ เพื่อให้สามารถที่จะอยู่ร่วมกับน้ำท่วมขังที่กินระยะเวลานานหลายเดือนได้    
 
          สำหรับสาระน่ารู้ในสัปดาห์นี้ผมขอนำเสนอรูปแบบ “กุฏิพระไม่บาน” ที่ขนาดกำลังพอเหมาะ พอดี พอเพียง ไม่เล็กจนเกินไปหรือไม่ใหญ่จนเกินไป มีความงดงามในทุกมิติ และในทุกฤดูไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อน หรือฤดูน้ำหลากก็ยิ่งสวย จะว่ากันไปแล้วหากมองต่างมุมก็ถือว่าเป็นหนึ่งใน “อะเมซิ่งไทยแลนด์” ก็ว่าได้ ยิ่งพอถึงหน้าน้ำหลาก ก็ยิ่งน่าดูครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมชอบเงาที่ตกกระทบตรงผิวน้ำทำให้ “กุฏิพระที่ไม่บาน” ที่ไม่กลัวน้ำ ของผมมีความงดงามอ่อนโยนอย่างน่าประหลาด 
 
          ลักษณะเด่นที่สำคัญของ “กุฏิพระไม่บาน” ที่ไม่กลัวน้ำหลังนี้ คือ การยกใต้ถุนสูง ส่วนจะยกสูงเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับสภาพทางภูมิศาสตร์ว่าในพื้นที่นั้นๆ ระดับน้ำท่วมสูงเท่าไร แต่สำหรับผมแล้วอยากให้ยกสูงอย่างน้อย 2 เมตร เพราะคนสามารถเดินลอดได้ (โดยเฉลี่ยแล้วความสูงของคนไทยส่วนใหญ่อยู่ระหว่าง 165-175 เซนติเมตร) นอกจากนั้น ยังเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ทำกิจกรรมได้หลากหลาย อาจเป็นห้องนั่งเล่น ห้องรับแขก หรือห้องเก็บของ หรือบริเวณจอดรถก็ไม่ผิดกติกาแต่ประการใด 
 
          จะว่าไปแล้ว “เรือนทรงไทย” ที่มีวิวัฒนาการที่ยาวนานคู่กับชนชาติไทยกว่า 700 ปีนั้นเป็นเรือนที่ทั้ง “งามผาด” และ “งามพิศ” ครับ เพราะมองผ่านแบบผิวเผินก็สวยหรือหากมีเวลามองแบบพินิจพิเคราะห์ในรายละเอียดของการออกแบบทางสถาปัตยกรรมก็สวยและการก่อสร้างทางวิศวกรรมก็งาม เป็นการตกผลึกทาง “ภูมิปัญญา” อันเป็น “ของดีมีอยู่” ที่ส่งผ่านจากรุ่นมาสู่รุ่นหลายช่วงอายุคน นอกจากนี้ ในทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดอาคารบ้านเรือนของโลกนี้ก็ว่าได้ ไม่แพ้อาคารบ้านเรือนของชนชาติใดในโลก  
 
          อีกทั้งยังคงความเป็น “เอกลักษณ์” และ “สัญลักษณ์” ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการใช้ชีวิตของชนชาติไทยอย่างชัดเจน ทำให้ผมไม่แปลกใจเลยครับว่าทำไมชาวต่างชาติถึงนิยมชมชอบ “เรือนไทย” กันนัก และมีการนำเอารูปแบบไปใช้ในการก่อสร้างอาคารประเภทรีสอร์ทริมทะเลหรือบนเชิงเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบ ภูเก็ต, กระบี่, พีพี หรือ สมุย ก็เป็นที่นิยมกันมากครับ
 
          หากพิจารณากันให้ถึงแก่นจะเห็นได้ว่า “กุฏิพระไม่บาน” ของผมนั้น มีรูปแบบไม่แตกต่างมากนักจาก “เรือนไทย” พักอาศัยทั่วไป ในใจลึกๆ ในฐานะสถาปนิก, นักวางผัง, นักวิชาการ และอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยศิลปากร ผมอยากจะอนุรักษ์, สืบสานและพัฒนารูปแบบ “ศิลปะสถาปัตยกรรม” ที่ทรงคุณค่านี้ให้ยืนอยู่ยงคงคู่กับเมืองไทย เพื่อให้เป็นศักดิ์ศรี เป็นคุณงามความดีสะท้อนให้เห็นถึงความศิวิไลซ์ของคนไทย สำหรับท่านที่สนใจสามารถดาวน์โหลดแบบได้ในเว็บไซต์ยอดฮิตของชาวคนรักบ้าน www.homeloverthai.com แล้วพบกันใหม่อีกสองสัปดาห์ครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ