พระเครื่อง

พระพิรุณพิโรธ!กับการบวงสรวง'ผิดที่ ผิดเทพ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระพิรุณพิโรธ!กับการบวงสรวง..."ผิดที่ ผิดเทพ" : เรื่อง ไตรเทพ ไกรงู / ภาพ สกล สนธิรัตน

           "พิธีไล่น้ำ" ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารและข้าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมจัดขึ้นเพื่อวิงวอนร้องขอพระแม่คงคาช่วยบันดาลให้น้ำท่วมในกรุงเทพมหานครลดลงอย่างรวดเร็ว ณ ศาลหลักเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม๒๕๕๔

           ทั้งก่อนและหลังพิธีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา มุมหนึ่งมองว่าเป็นเรื่องเหลวไหล อีกมุมหนึ่งมองเป็นเรื่องการสร้างขวัญและกำลัง แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากมุมหนึ่งที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย คือ เสียงจากโหรหลากสำนัก ต่างระบุตรงกันว่า "พิธีไล่น้ำครั้งนี้ บวงสรวงผิดที่ ผิดเทพ และผิดคน" และหนึ่งในจำนวนนี้คือ เสียงจาก อ.ลักษณ์ เรขานิเทศ เลขาธิการสถาบันพยากรณ์ศาสตร์ หรือเจ้าของฉายา "โหรฟันธง"

           "เพราะเทพแต่ละองค์มีหน้าที่ไม่เหมือนกัน การขออะไรกับเทพนั้นต้องขอให้ถูกองค์ถึงจะได้ผล เช่น อยากได้ลูกต้องไปขอกับเทพเทวดาที่ปกปักรักษา หลวงพ่อโสธร แต่ถ้าใครไม่อยากถูกเกณฑ์เป็นทหารห้ามไปขอกับพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เด็ดขาด ใครไปขอมีสิทธิ์จับได้ใบแดง เพราะทั้ง ๒ พระองค์ท่านเป็นกษัตริย์นักรบ" นี่เป็นเหตุผลของ อ.ลักษณ์

           พร้อมกันนี้ อ.ลักษณ์ ได้อธิบายให้ฟังว่า ภัยพิบัติอันเกิดขึ้นจาก “น้ำ” ต้องตั้งคำถามในทางโหราศาสตร์และหลักทางเทวนิยมว่า น้ำเกิดจากอะไร ก็มีคำตอบชัดเจนว่า น้ำเกิดจากพญานาคให้น้ำ พญานาคเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา มี ๔ ตระกูล คือ พญานาคตระกูลวิรูปักโข ตระกูลฉัพยาปุตตะ ตระกูลกัณหาโคตมะ ตระกูลเอราบถ โดยพญานาคตระกูลวิรูปักโขนั้น เป็นหัวหน้าของพญานาคทั้งหลาย และเป็นหนึ่งในองค์จตุโลกบาล สถิตชั้นจาตุมหาราชิกา เป็นหนึ่งในเทวดาผู้คุ้มครองรักษาโลกมนุษย์ใน ๔ ทิศ เพราะฉะนั้น แนวทางแก้ไขปัญหาภัยพิบัติในแผ่นดิน โดยใช้หลักทางโหราศาสตร์และหลักเทวนิยม

           การบวงสรวง ประการที่หนึ่ง คือเพื่อบอกกล่าวองค์พญานาคราชให้หยุดให้น้ำ เพราะสร้างความเดือดร้อนแก่สาธุชนชาวพุทธ จะต้องประกอบพิธีในวัด ซึ่งมีเจดีย์ และมีพระบรมสารีริกธาตุ อ.ลักษณ์เห็นว่า ที่ภูเขาทอง วัดสระเกศ เหมาะแก่การประกอบพิธีมากที่สุด โดยมีพิธีบวงสรวงปวงเทพยดาตามหลักของพราหมณ์ อัญเชิญท่านวิรูปักโข ซึ่งคนไทยเรียกว่า เทวดาพระเกตุ นิมนต์พระคุณเจ้าเจริญมหาพุทธมนต์ ทำสัจจะกิริยา ต่อหน้าคณะสงฆ์ แล้วจึงบวงสรวงขอให้พญานาคในทุกตระกูลหยุดให้น้ำ

           ประการที่สอง บวงสรวงต่อ พระพิรุณเทพบุตร เทพที่บันดาลให้เกิดน้ำเพิ่มขึ้นมา คือ พระพิรุณเทพบุตร พระพิรุณเทพบุตรนั้น มีรูปเคารพที่สำคัญ ตั้งอยู่ที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านมีฤทธิ์มีอำนาจ ประทานให้ฝนตก ต้องมีพิธีบวงสรวง บอกกล่าวให้ท่านหยุดการให้ฝน เพราะยังความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่พุทธศาสนิกชน

           ประการที่สาม บวงสรวงต่อเทพพระราหู และเทพพระอาทิตย์ เมื่อเทพฝ่ายที่ให้น้ำ ได้แก่ พญานาค และพระพิรุณ หยุดให้น้ำแล้ว ต้องบวงสรวงต่อองค์เทพนพเคราะห์ที่สำคัญอีก ๒ องค์ คือ บวงสรวงต่อเทพพระราหูทรงครุฑ ที่เรียกว่า พระราหูบรมโพธิสัตย์ หยุดการแสดงกรรมอันเป็นอกุศลต่อมนุษย์ทุกราศี ต้องกระทำต่อหน้าเทพพระราหูทรงครุฑ ซึ่งเป็นรูปเคารพ และบวงสรวงต่อพระสุริยะเทพ (เทพพระอาทิตย์) โดยประกอบพิธีทำบุญในทางพระพุทธศาสนา แล้วทำสัจจะกิริยา ประกาศเทพยดาพระอาทิตย์ ให้แผ่รังสีเผาผลาญน้ำให้เหือดแห้งอย่างรวดเร็ว

           ประการที่สี่ ประกอบพิธีบวงสรวงพระแม่ธรณี มีรูปเคารพพระแม่ธรณีที่สำคัญ อยู่หัวมุมคลองหลอดระหว่างสนามหลวงและโรงแรมรัตนโกสินทร์ ต้องอัญเชิญพระพุทธรูปปางมารวิชัยไปด้วย ๑ องค์ ต้องนิมนต์พระคุณเจ้า ๙ รูปทอดผ้าไตร อุทิศถวายแด่พระแม่ธรณี แล้วจึงบวงสรวง ทำสัจจะกิริยา ประกาศถึงเหตุเภทภัยที่เกิดขึ้นในแผ่นดิน ขอพระแม่ธรณีช่วยซึมซับน้ำที่เกิดขึ้นให้หมดไปอย่างรวดเร็ว

           ประการสุดท้าย รอวันขอขมานกรรมต่อพระแม่คงคา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑  พร้อมทั้งบวงสรวงต่อปวงเทพพญานาคในคืนวันลอยกระทง ต้องบวงสรวงอัญเชิญเทพยดาและพระแม่คงคา ทำสัจจะกิริยา ขอขมานกรรมต่อพระแม่คงคา ภัยพิบัติต่างๆ จะค่อยๆ หมดไป และจะบังเกิดความร่มเย็นเป็นสุข โดยพิธีนี้ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมประกอบพิธี รวมทั้งประกอบพิธีเจริญมหาพุทธมนต์ในวัด ในพระอารามที่มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มีน้ำ ถ้ามีเป็นวัดกลางกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ต้องเป็นวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

           ทั้งนี้ อ.ลักษณ์ ยังแนะนำด้วยว่า "ผู้ที่จะประกอบพิธีบวงสรวง ต้องเป็นผู้ที่มีอำนาจในแผ่นดิน เป็นเสนาบดี เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นต้น ที่ยิ่งกว่านั้นคือ ผู้ที่จะประกอบพิธีต้องเป็นผู้ที่ยึดมั่นในพระรัตนตรัย เป็นคนดี มีศีล มีธรรม ศรัทธาในการสร้างบุญสร้างกุศล ถือศีล ๕ ศีล ๘ เป็นคนกตัญญู และจงรักภักดี สามารถเป็นประธานผู้ประกอบพิธีได้"


 พระแม่ธรณี


           พระแม่ธรณี หรือ แม่พระธรณี หรือ พระศรีวสุนธรา เป็นเทพีแห่งพื้นแผ่นดิน ปรากฏในตำนานทั้งศาสนาพราหมณ์, ฮินดู และพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเทวดาอีกองค์หนึ่งที่ได้รับความนิยมบูชาของคนไทย มักเป็นสัญลักษณ์แห่งแผ่นดิน ดั่งปรากฏในวรรณคดีไทย เช่น โคลงของศรีปราชญ์ก่อนถูกประหารที่กล่าวว่า "ธรณีนี่นี้เป็นพยาน"

           ในพุทธศาสนา พระแม่ธรณีปรากฏกายเพื่อบีบน้ำจากมวยผมให้ท่วมพญามารที่รังควาญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนวันตรัสรู้ และจากพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เรื่องปฐมสมโพธิกถาตอนมารวิชัยปริวรรต ได้กล่าวถึงพระแม่ธรณีที่ปรากฏขึ้นมาในช่วงที่สำคัญที่สุดของพระพุทธเจ้า คือ ก่อนการตรัสรู้ ได้เป็นพยานสำคัญในการปราบมารทั้งหลายทั้งปวง จึงมีรูปภาพที่ตามผนังพระอุโบสถวัดต่างๆ ตรงข้ามกับพระประธาน

           ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังของพระแม่ธรณีที่กล่าวกันว่างดงามที่สุด คือ ภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมเหนือบานประตูอุโบสถ วัดชมภูเวก จ.นนทบุรี ได้รับการยอมรับว่ามีชีวิตชีวา มีแขนดังลำเทียน งอเหมือนอย่างแขนนางรำ แต่มีความแข็งแร็ง อวบอิ่มไปทั้งเรือนร่าง นิ้วมือเรียวงาม นิ้วกลางและนิ้วนางข้างขวาที่ขดเป็นดังก้นหอย ซึ่งเป็นจิตรกรรมแบบสกุลช่างนนทบุรี

           สำหรับรูปปั้นลอยองค์พระแม่ธรณีเก่าที่สุด คือ เทวาลัยพระศรีวสุนธรา หรือ ศาลพระแม่ธรณีบีบมวยผม เป็นศาลตั้งอยู่ถนนราชดำเนินใน ใกล้โรงแรมรัตนโกสินทร์ และสะพานผ่านพิภพลีลา สร้างขึ้นจากพระราชดำริของ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เพื่อแจกจ่ายน้ำดื่มบริสุทธิ์ให้ผู้คนทั่วไป ปั้นขึ้นด้วยฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ร่วมกับ พระยาจินดารังสรรค์ แล้วเสร็จทำพิธีเปิดในวันที่ ๒๗ ธันวาคม อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ