พระเครื่อง

รักและการลงรักความสำคัญและคุณค่าในพุทธศิลปะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รักและการลงรักความสำคัญและคุณค่าในพุทธศิลปะ : ชั่วโมงเซียน อ.ราม วัชรประดิษฐ์

           โบราณาจารย์และพุทธศาสนิกชนในอดีตได้อาศัย "รัก" ในการจัดสร้างพระพุทธรูป พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง เพราะรักมีคุณสมบัติพิเศษ คือสามารถรักษาเนื้อและสภาพขององค์พระให้สมบูรณ์แม้จะผ่านกาลเวลาเนิ่นนาน  ซึ่งมีทั้งรักดิบ รักน้ำเกลี้ยง และรักสมุก

            ดังนั้นเราจึงมักพบว่ามีการนำพระเครื่องมาจุ่มรัก หรือ ชุบรัก ซึ่งหมายถึง การนำพระทั้งองค์จุ่มลงไปใน "รักดิบ" หรือ "ยางรัก" แล้วผึ่งให้แห้ง บางครั้งเมื่อผึ่งองค์พระพอแห้งหมาดๆ ก็จะนำทองคำเปลวมาติดเป็นพุทธบูชา จะสามารถติดได้แน่นสนิทสวยสดงดงามเป็นอันมาก   
     
            เป็นที่น่าแปลกใจที่ "พระแท้" เท่าที่พบโดยเฉพาะพระเครื่อง พระปิดตา และเครื่องรางประเภทตะกรุด ลูกอมของเกจิอาจารย์ผู้โด่งดังนั้น มักยึดหลักการดู "รัก" เป็นส่วนใหญ่ จากความพยายามค้นและคว้ามานั้นพบว่าพระคณาจารย์ตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่ที่สร้างพระเครื่องและของขลังพากันใช้ "รักจีน" ซึ่งเป็นรักที่มีคุณภาพสูงเป็นหลัก

            เมื่อดูจากบริบททางประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า การนิยมศิลปะจีนในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ ๕ จุดที่น่าสังเกตคือ บรรดาคณาจารย์ที่ใช้ "รักจีน" นั้นล้วนแต่เป็นผู้เกี่ยวข้องเป็นอาจารย์ของบรมวงศานุวงศ์หรือชนชั้นสูงในระยะนั้นแทบทั้งสิ้น เช่น เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า เป็นต้น

            ดังนั้นการจำแนก "รักจีน" จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณา “พระแท้” เพราะคุณสมบัติของ "รักจีน" แตกต่างจาก "รักไทย" ดังนี้

 - รักจีนมีสีน้ำตาลอมแดง ส่วนรักไทยสีดำสนิท   

 - รักจีนจะมีความบริสุทธิ์ของยางรักมากกว่ารักไทย จะไม่ปนเปื้อนด้วยเศษไม้หรือเป็นฟองพรุนของอากาศ

 -เนื้อรักไทยจะแห้งตัวสม่ำเสมอ ไม่หดตัวเป็นริ้วคลื่น อันส่งผลให้เมื่อล้างรักแล้วจะไม่เกิดการแตกลายงา

 -รักจีนมีคุณสมบัติพิเศษคือ แห้งเร็ว ดังนั้นจะพบพระเครื่องบางองค์ "จุ่มรัก" หลายครั้ง ซึ่งหากเป็นรักไทยจะไม่พบการจุ่มเป็นชั้นๆ

 - เนื้อของรักจีนจะมีความละเอียดเหนียวกว่า และละลายตัวในเมทิลแอลกอฮอล์เร็วกว่ารักไทย

 -รักจีนจะมีอายุคงทนยาวนานมาก จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบจะเห็นเครื่องโต๊ะและเครื่องราชกกุธภัณฑ์หลายประเภทของจีนมีอายุนับพันปี ใช้ยางรักชุบทาเคลือบไว้ ส่วนรักอื่นๆ นั้นมีอายุไม่ยาวนานเท่ารักจีน มักจะเกิดการบวมและปริร่อนเป็นแผ่นใหญ่ โดยรักไทยจะปริจากภายนอกเข้าหาภายใน ส่วนรักจีนหากเกิดการปริไม่ว่าจะโดยอายุหรือการใช้สารเคมี จะปริจากภายในออกสู่ภายนอก ในกรณีตรวจสอบรักจีนเก่า จะพบว่าไม่ดูดซึมน้ำ หากเป็นรักอื่นน้ำจะค่อยๆ ซึมลงตามรอยปริเล็กๆ (ซึ่งอาจจะเกิดจากการจุ่มรักหลายชั้น) 

            ข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับพระเครื่องลงรักนั้น จะมีอายุในราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้น และจะไม่นิยมลงรักในพระเนื้อดิน ส่วนคราบที่เรียกว่า "รารัก" นั้น ความจริงคือ "รา" อันเกิดจากวัชพืชที่อาศัยเนื้อพระ (โดยเฉพาะพระเนื้อดิน) ที่มีความชื้นพอเหมาะ ทำให้เชื้อรานั้นเจริญเติบโต ไม่ใช่เกิดจากรักแต่อย่างใด ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแล้วแต่แสดงว่ารักนั้นมีความสำคัญกับงานพุทธศิลปะอย่างยิ่ง

 

พระสมเด็จตัดสินด้วย...รัก

 

            โบราณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงด้านพระสมเด็จโดยตรง ในแต่ละวันได้พิจารณาตรวจสอบองค์พระสมเด็จหลายๆ องค์ ก็จะสามารถสันนิษฐานได้ว่าพระสมเด็จองค์นั้นเป็นพิมพ์อะไร แต่หากมีรักเป็นองค์ประกอบแล้ว การที่จะชี้ชัดลงไปว่าแท้หรือไม่นั้น คงจะต้องกลับมาพิจารณาจากสภาพ "รัก" เป็นหลักเช่นกัน ภาษาทางวงการพระเรียกว่า "ซื้อเสี่ยง" เพราะไหนจะต้องเสี่ยงว่าเก๊หรือแท้ ชำรุด-หัก-ซ่อม-บิ่นหรือไม่ อีกทั้งยังไม่สามารถมองเห็นความสมบูรณ์ ความลึก ความคมชัดสวยงามขององค์พระได้ชัดเจน ดังนั้นส่วนใหญ่จึงมักใช้วิธีการล้างรักหรือถอดรักจากองค์พระสมเด็จ ในกรณีการล้างรักนี้จะยกเว้นสำหรับพระสมเด็จที่ "ลงรักน้ำเกลี้ยง" เพราะองค์พระยังทรงคุณค่าเช่นเดิม

            พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามที่ล้างรักออกแล้ว จะปรากฏรอยรักแตกเรียก "พระแตกลายงา" แต่ไม่ใช่ในเนื้อพระแต่จะเป็นเนื้อราบบนผิวขององค์พระที่แตกออกเหลือไว้แต่เส้นรักเล็กๆ เกาะยึดติดอยู่เท่านั้น ต้องใช้แว่นขยายส่องดู โดยตะแคงองค์พระให้เกือบขนานกับแว่นขยาย จะเห็นเนื้อรักเป็นเส้นดำๆ วางอยู่บนผิวขององค์พระ และขนาดของช่องที่แตกลายงาก็จะมีขนาดเท่ากันทุกองค์ เพราะรักที่จุ่มเป็นรักชนิดเดียวกัน อายุพอๆ กัน ความเก่าการเสื่อมสลายของเนื้อรัก การหดตัวขององค์พระสมเด็จก็ย่อมจะมีลักษณะคล้ายกันด้วย

       ที่สำคัญจะพบว่า "การแตกลายงา" นั้นจะปรากฏเฉพาะบริเวณด้านหน้าของพระสมเด็จเท่านั้น ส่วนด้านหลังจะไม่ปรากฏการแตกลายงาหรือมีบ้างเพียงเล็กน้อย เนื่องจากเมื่อครั้งสร้างพระสมเด็จนั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นำผงพุทธคุณในปริมาณที่พอเพียงจะสร้างตามจำนวนที่ตั้งใจไว้มาผสมกับน้ำมันตังอิ๊ว ใช้ครกตำให้ละเอียดและผสมกันจนเหนียวหนึบ ปั้นเป็นแท่งสี่เหลี่ยมยาวๆ ขนาดพอเหมาะที่จะกดเป็นพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ใช้ตอกไม้ไผ่มาตัดแบ่งเป็นแท่งๆ เรียก "ชิ้นฟัก" แล้วก็จะนำชิ้นฟักนั้นมาวางคว่ำลงบนแท่นแม่พิมพ์ด้านหน้า และใช้วิธีการกดเนื้อผงพระพุทธคุณกับแม่พิมพ์โดยใช้แผ่นไม้ แล้วใช้ท่อนไม้อีกท่อนค่อยๆ เคาะแผ่นไม้นั้นจนผงพุทธคุณอัดแน่นกับแม่พิมพ์ เพื่อให้องค์พระสมเด็จเต็มแม่พิมพ์และเป็นการไล่อากาศอีกด้วย และด้วยเหตุนี้ทำให้ด้านหน้าขององค์พระมีความชื้นและอมน้ำมากกว่าด้านหลัง

 เมื่อนำมาผึ่งพอหมาดๆ แล้วนำมา “จุ่มรัก” น้ำรักจีนจะทำปฏิกิริยากับด้านหน้าซึ่งมีความชุ่มชื้นมากกว่า จึงปรากฏรักเฉพาะด้านหน้าส่วนด้านหลังจะมีรักปลุกคลุมบ้างก็เป็นส่วนน้อย ซึ่งในการสร้างพระสมเด็จที่ปรากฏลักษณะดังกล่าวเป็นการลงรักที่ทำกันในวัดแทบทั้งสิ้น ดังนั้นพระสมเด็จแท้ที่ทำการลงรักเดิม เมื่อล้างรักหรือถอดรักโดยการทำให้เกิดปฏิกิริยากับสารเคมี ก็จะเกิดการแตกลายงาด้านหน้าทุกองค์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ