ข่าว

“วัชรินทร์" เนื้อจระเข้ทุบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ขึ้นแท่นสินค้ายอดนิยม

เรื่อง : อนัญชนา สาระคู

          ผลตอบแทนของความกล้าที่จะ “คิด” กล้าที่จะ “ลงมือทำ” ส่งผลให้เนื้อจระเข้ทุบแบรนด์ “วัชรินทร์” กลายเป็นสินค้ายอดฮิตติดลมบนสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ยอดขายจากหลักไม่กี่หมื่นบาทต่อเดือน พุ่งสู่หลักล้านบาทต่อเดือนในเวลาไม่กี่ปี และปัจจุบันกำลังต่อยอดไปสู่การส่งออกเพื่อจำหน่ายในต่างประเทศ ตลอดจนการใช้ช่องทางอี-คอมเมิร์ซ เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้น
          ถามว่า “ฮิต” กันขนาดไหน ก็ลองนึกดูว่านักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาเที่ยวไทยและซื้อกลับไปเป็นของฝากแล้ว ยังมีการถ่ายรูปและฝากเพื่อนที่มาเที่ยวไทยให้ซื้อกลับไปอีกจำนวนมาก
          “แรกๆ ลูกค้ายังไม่กล้ากันเท่าไร เพราะเรายังไม่เป็นที่รู้จักนัก แต่ช่วงหลังๆ มานี่ เขาถ่ายรูปและฝากเพื่อนที่มาเที่ยวประเทศไทยให้ซื้อกลับไปให้ด้วย จึงเป็นที่มาว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนรูปแบบบรรจุภัณฑ์ได้ เราต้องคงรูปแบบนี้ไว้ เพราะหากเปลี่ยนลูกค้าอาจจะจำไม่ได้” วัชรินทร์ เรืองฤทธิ์กุล เจ้าของแบรนด์วัชรินทร์ ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูปด้วยกรรมวิธีพื้นบ้าน กล่าว

 

“วัชรินทร์" เนื้อจระเข้ทุบ
         

          จากสินค้าโอท็อปของฝากเมืองสิงห์บุรีกลายมาเป็นสินค้ายอดนิยมได้อย่างไรนั้น “วัชรินทร์” หรือ “ปุ้ย” เล่าว่า ทางร้านเรามีพื้นฐานด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารอยู่แล้ว คือจำหน่ายสินค้าแปรรูปประเภทเนื้อไก่ทุบ หมูทุบ หมูสวรรค์ เนื้อวัวทุบ และกุนเชียง เป็นต้น สำหรับเป็นของฝากจากเมืองสิงห์บุรี เมื่อจำหน่ายมาได้ระยะหนึ่งก็พบว่ามีคู่แข่งทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น มีการแข่งกันขายตัดราคากัน ตนเองซึ่งเข้ามาช่วยงานที่บ้านตั้งแต่ปี 2551 จึงมาคิดว่าน่าจะมีอะไรบ้างที่ทำได้ และต้องมีตลาดรองรับด้วย
          ตอนนั้น คิดถึงช่วงที่ได้มีโอกาสไปขายที่สนามบินดอนเมือง ก็สังเกตว่ามีลูกค้าชาวจีนพอสมควร ขายมาได้สักพักนักท่องเที่ยวจีนก็มาถามหา และอยากได้เป็นเนื้อจระเข้บ้าง เราเลยลองทำดู
          “ผมใช้เวลาลองผิดลองถูกอยู่นานราว 2-3 ปี ก็ทำทิ้งไปมากพอสมควร ช่วงนั้นจึงต้องการเงินมาลงทุน ซึ่งก็ได้กู้เงินกับทางธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขยาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) เพื่อมาเสริมสภาพคล่องในช่วงที่เราเริ่มคลุกคลาน ซึ่งตอนนั้นมั่นใจว่าเนื้อจระเข้นี่แหละที่จะมาพลิกฟื้นกิจการได้”
          เมื่อลงตัวก็นำไปจำหน่ายที่สนามบินดอนเมืองเป็นที่แรก โดยเขาเล่าว่า ผลตอบรับถือว่าขายดีขึ้นเรื่อยๆ จึงเพิ่มรสชาติอื่นๆ เข้ามา จากเนื้อจระเข้ทุบ ก็เพิ่มเป็นจระเข้ผัดพริกสมุนไพร จระเข้ซอสกะเพรา จระเข้ซอสพริกไทยดำ และจระเข้แห้ง สำหรับนำไปตุ๋นเอง เป็นต้น 
          จากนั้น ขยายตลาดด้วยการนำไปวางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่น ที่สยามพารากอน และเอ็มโพเรียม ปรากฏว่ายอดขายยิ่งดีขึ้น และยังมีขายตามบริษัททัวร์เพิ่มขึ้นด้วย
          “กลุ่มลูกค้าหลักของเราคือนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเขามีความเชื่อว่าเนื้อจระเข้มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นภูมิแพ้ และยังเชื่อว่าช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น ทำให้ช่วงหน้าหนาวยอดขายจะเพิ่มขึ้น” ปุ้ย กล่าวและบอกว่า 

 

“วัชรินทร์" เนื้อจระเข้ทุบ


         เนื้อจระเข้ ที่ทางร้านนำมาแปรรูปนั้น ใช้เฉพาะส่วนหางของจระเข้เท่านั้น เพราะเป็นส่วนที่ดีที่สุดของเนื้อจระเข้ ลูกค้าเวลากินไปจะไม่มีกลิ่นสาบ ขณะที่เนื้อส่วนอื่นจะมีไขมันปนและจะมีกลิ่นที่ไม่ค่อยน่ากินสักเท่าไร การที่เราใช้เฉพาะส่วนหางจึงทำให้มีราคาสูงหน่อย แต่ในเรื่องคุณภาพ กลิ่นและรสชาติ จะมีความอร่อยและกินง่าย ส่วนแหล่งวัตถุดิบ จะรับซื้อเฉพาะส่วนหางมาจากฟาร์มจระเข้โดยตรง
          โดยการผลิตจระเข้แปรรูปนั้น เริ่มต้นด้วยจำนวนหลักสิบกิโลกรัม และค่อยๆ ขยับขึ้นมาเป็นหลักร้อยกิโลกรัม สู่หลักพันกิโลกรัม ส่วนยอดขายเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ที่ตนเองเข้ามาช่วยงานที่บ้าน ตอนนั้นรายได้หลักหมื่นบาทต่อเดือน แต่หลังจากเริ่มผลิตเนื้อจระเข้ทุบ ก็มียอดขายเพิ่มขึ้น ทำให้แบรนด์วัชรินทร์เป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของทางร้านเราก็ขายดีตามไปด้วยเช่นกัน แต่หลักๆ ยังเป็นเนื้อจระเข้ โดยยอดขายเพิ่มจากหลักหมื่นบาทต่อเดือน ขึ้นสู่หลักล้านบาท
          “หลังจากพลิกวิกฤติ ด้วยการสร้างชื่อเสียงในตัวสินค้าเนื้อจระเข้ทุบ ทำให้แบรนด์ของเรามีชื่อเสียงตามไปด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์หมูทุบ ซึ่งเดิมก็มีกลุ่มลูกค้าอยู่แล้ว ก็ได้ลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ยอดขายดีตามไปด้วย เพราะสินค้าที่ไปวางขายในห้างก็จะมีผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของเรา เหมือนกับที่วางจำหน่ายหน้าร้านที่สิงห์บุรี”
          จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์เนื้อแปรรูปของทางร้านมีถึง 16 รายการด้วยกัน คือ หมูทุบนุ่ม หมูทุบอบกรอบ หมูทุบผัดพริกสมุนไพร เนื้อวัวทุบ เนื้อวัวผัดพริกสมุนไพร เนื้อเค็ม เนื้อสวรรค์ หมูสวรรค์ ไก่ทุบ จระเข้ทุบ จระเข้ผัดพริกสมุนไพร จระเข้อบแห้ง จระเข้ซอสกะเพรา จระเข้ซอสพริกไทยดำ แหนมซี่โครงหมู และแหนมซี่โครงจระเข้
          อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่เคยพุ่งสู่หลักล้านบาทต่อเดือนในช่วงเดือนเมษายนปีก่อน แต่หลังจากนั้นลดลงมามาก คือลดลงไปมากถึง 70-80% เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายแก้ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่ไม่นานนัก คือราวเดือนธันวาคมปีที่แล้ว นักท่องเที่ยวชาวจีนก็เริ่มที่จะกลับมา ยอดขายของเราก็ดีขึ้น ซึ่งในระยะยาวก็มองว่าน่าจะดีขึ้นอีก

 

“วัชรินทร์" เนื้อจระเข้ทุบ
          แน่นอนว่าเมื่อเนื้อจระเข้ทุบแบรนด์วัชรินทร์เริ่มเป็นที่นิยมและติดตลาด ย่อมมีคนคิดที่จะทำตาม แต่ “ปุ้ย” บอกว่า คนที่ทำตามเขาไม่สามารถทำได้เหมือนเรา เพราะการแปรรูปเนื้อจระเข้จะแตกต่างจากเนื้อสัตว์ทั่วไป จึงลอกเลียนแบบได้ยาก เพราะเนื้อจระเข้มีความชื้นสูง หากทำผิดสูตรหรือกระบวนการการผลิตไม่ดีพอ ก็จะขึ้นราได้
          “อย่างเราใช้เวลาคิดค้นนาน 2-3 ปี เราทำทิ้งทำขว้างพอสมควร และด้วยวิธีที่เราอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านในการผลิต คิดค้นสูตรเพิ่มเติม คือจะทำเหมือนสูตรหมู หรือสูตรไก่ไม่ได้ เพราะอย่างที่บอกเนื้อจระเข้จะมีความชื้นสูง จึงต้องอาศัยกระบวนการทางธรรมชาติ ผสมผสานกับวิธีการทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งส่งผลให้เนื้อจระเข้ของทางร้านเองเมื่อซื้อไปแล้วสามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปี โดยในกระบวนการผลิตไม่ได้ใส่สารกันบูดเลย”
          ข้อแตกต่างอีกอย่างคือ คนที่เลียนแบบ เขายังมีข้อจำกัดด้านวัตถุดิบ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบได้ จึงเป็นโอกาสของเราที่จะสามารถพัฒนาสินค้าต่อไปได้อีก การค้าส่งของเราก็ยังได้เปรียบจากคู่แข่งอยู่
          ทั้งนี้ แบรนด์วัชรินทร์ เกิดขึ้นตั้งแต่รุ่นแม่ ที่นำชื่อลูกชายมาตั้งเป็นชื่อแบรนด์ ขณะที่ ปุ้ย หรือวัชรินทร์ ผันตัวจากงานการเมือง เข้ามาสู่ธุรกิจครอบครัว ดูแลกระบวนการผลิตทั้งหมด ไปจนถึงการตลาด และเมื่อถามถึงแผนในอนาคต เขาบอกว่า ตลาดจีนเป็นตลาดที่ค่อนข้างกว้าง จึงเห็นว่าโอกาสยังมีอีกมาก           ส่วนเนื้อจระเข้เองก็ยังสามารถนำไปแปรรูปและผลิตอะไรได้อีกเยอะ ในอนาคตจึงอยากที่จะทำอะไรในรูปแบบที่ทำให้เนื้อจระเข้ทานง่ายมากกว่าการใช้เนื้อจระเข้อย่างเดียว คือตอนนี้เราใช้เนื้อจระเข้ถึง 99% เช่น อีกหน่อยก็อาจจะนำไปผสมทำเป็นสแน็ค คือทำให้กินง่ายมากขึ้น
          “เราจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่วัตถุดิบหลักก็ยังเป็นเนื้อจระเข้ อย่างตอนนี้ เริ่มมีผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น คือแหนมซี่โครงจระเข้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แหนมซี่โครงจระเข้ทอดพร้อมทาน บรรจุเป็นกระป๋อง และซองอะลูมิเนียม ลูกค้าที่ซื้อไปก็สามารถเปิดและทานได้ทันทีเลย ไม่มีกลิ่นคาว ตอนนี้ลูกค้าชอบมาก อย่างที่ฮ่องกง ไต้หวัน ติดต่อมาหลายเจ้า ขอมาเป็นตัวแทนจำหน่าย และมาซื้อไปจำหน่ายที่นั่น อย่างที่ฮ่องกงตอนนี้อยู่ในระหว่างการขอจดทะเบียน อย.ในบ้านเขา เพื่อนำผลิตภัณฑ์ของเราไปจำหน่าย”
          เขาบอกว่า ตลาดส่งออกกำลังเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการขยายตลาดสินค้าแบรนด์วัชรินทร์ แต่การที่เราเป็นผู้ประกอบการรายเล็ก คงยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะออกไปจำหน่ายเอง จึงจะเน้นการมีตัวแทนจำหน่ายออกไปจำหน่ายในต่างประเทศมากกว่า ส่วนตัวเองจะเน้นเตรียมการผลิตให้มีความพร้อมเพียงพอ ซึ่งกำลังการผลิตของเรายังทำได้อีกมาก
          โดยขณะนี้ มีลูกค้าของทางร้านหลายรายที่อยู่ในขั้นตอนการทำเอกสาร เช่นใบรับรองคุณภาพ อย. ของประเทศนั้นๆ ซึ่งหวังว่ากระบวนการเหล่านี้จะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ธุรกิจการส่งออกน่าจะได้เห็นเป็นรูปธรรมทันที และในเดือนมีนาคมปีนี้ สินค้าของเราก็จะไปเปิดตัวที่งาน “ฟู้ดเด็กซ์” (FOODEX) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในระดับเอเชีย ที่ประเทศญี่ปุ่น ขณะเดียวกัน ตอนนี้มีร้านอาหารของแปลกในญี่ปุ่น ก็รับสินค้าเราไปจำหน่ายแล้วเช่นกัน
          “ผมคาดหวังว่าปีนี้จะเห็นรูปแบบการส่งออกอย่างจริงจัง และตอนนี้ยังได้เพิ่มช่องทางตลาดออนไลน์จากการที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้จับมือกับ อาลีบาบาดอทคอม เราก็ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในนั้นด้วย และกำลังเพิ่มช่องทางการชำระเงินทางออนไลน์ด้วย ทั้งอาลี เพย์ และวีแชต เพย์ เพราะคิดว่าในอนาคตคนจะช็อปปิ้งกันตรงนี้มาก”

 

“วัชรินทร์" เนื้อจระเข้ทุบ


          เจ้าของแบรนด์ “วัชรินทร์" หมูทุบ จระเข้ทุบ บอกด้วยว่า ตอนนี้เราอาศัยตลาดจีนล้วนๆ เลย จึงคิดว่าหากตลาดจีนอยู่ตัวแล้ว ก็คิดจะแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นสำหรับคนไทยได้กินบ้าง ซึ่งก็อาจจะเป็นเนื้อประเภทอื่น อีกทั้งจะมาคิดด้วยว่าจะช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นได้อย่างไรบ้าง ซึ่งหากถามตอนนี้ ก็คิดอยากทำเนื้อสัตว์ประเภทที่เป็นฟาร์มออแกนิกของชาวบ้าน คือคิดอยากจะผลักดันให้เกิด แต่คงจะเป็นก้าวต่อไป
          “ตอนนี้ขอให้ได้ทุนมาสักก้อนหนึ่งจากการที่เรากำลังขยายตลาดไปต่างประเทศก่อน จากนั้นผมจะมาช่วยท้องถิ่น เพราะว่าผมเองก็อาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นในแปรรูปผลิตภัณฑ์ของวัชรินทร์ ดังนั้นผมก็จะกลับมาช่วยท้องถิ่น” เขากล่าว

 

“วัชรินทร์" เนื้อจระเข้ทุบ

 

          “ทำของเราให้ดี มีคุณภาพ”
          ปัญหาสินค้าโอท็อปไทยที่เห็นกันมานาน อาจจะดูชินชา แต่กลับเป็นตัวการทำลายล้างที่สำคัญ ก็คือการลอกเลียนแบบ ขายสินค้าเหมือนๆ กัน ไปหมด แถมยังแข่งขันกันขายแบบตัดราคากันอีก
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ เจ้าของแบรนด์วัชรินทร์หมูทุบ จระเข้ทุบ ให้ความเห็นไว้ว่า จริงๆ แล้วคนไทยเรามีฝีมือและภูมิปัญญาพอสมควร แต่พอเห็นว่าอะไรที่ทำเงินได้ ก็อยากทำ โดยเฉพาะการขายตัดราคา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง ทั้งๆ ที่จริงแล้ว เราสามารถสร้างความภูมิใจได้ ให้ลูกค้าเชื่อมั่นได้ โดยการพัฒนาในสิ่งที่เราถนัด คือถนัดอะไรเราก็ควรทำอย่างนั้น อย่าไปสนใจคนอื่น แต่ทำของเราให้ดี มีคุณภาพ มีเรื่องราวที่น่าสนใจดีกว่า
          “แต่ทุกวันนี้ ดูแล้วส่วนใหญ่ขายสินค้าเหมือนๆ กัน ทำให้คุณภาพต่ำลง ราคาถูกลง แต่ก็เห็นว่าสิ่งที่เขาทำแบบนี้เพราะผู้บริโภคเป็นตัวกำหนด ที่ต้องการของถูกโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพด้วย ฉะนั้นหากต้องการของดีมีคุณภาพ ผู้บริโภคก็ต้องมีวิจารณาณในการเลือกด้วย มิฉะนั้นกลไกตลาดของฝากก็จะยิ่งแย่ลง”
          สำหรับข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการโอท็อป ปุ้ย บอกว่า กุญแจสำคัญที่จะประสบความสำเร็จได้ คือจะต้องมีความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค เช่น การที่เราโฆษณาว่าสินค้านี้ ใช้ปลาแม่น้ำอย่างดีมาเป็นวัตถุดิบ ก็ต้องใช้ปลาแม่น้ำอย่างดีจริงๆ นอกนั้น เน้นในเรื่องความสะอาด โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรฐานตามโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เขาทำ เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงๆ แต่การที่เราเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็ก ให้เน้นดูแลความสะอาด เริ่มตั้งแต่ในครัวเลย ซึ่งสามารถใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เรามีนี่แหละในการดูแลความสะอาดต่างๆ อีกข้อ คือเราต้องมีการสร้างสรรไอเดียใหม่ๆ 
          เขาทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า การออกสื่อต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ก็เพราะต้องการช่วยจุดประกายความคิดให้กับคนอื่นๆ บ้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่มีธุรกิจอยู่แล้ว หรือจะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนที่เขามีต้นทุนมาอยู่แล้ว มีธุรกิจของครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร ก็น่าจะเริ่มจากการต่อยอดในสิ่งที่ตัวเองมีก่อน เราควรมาเรียนรู้กับพ่อแม่เราก่อน เพราะท่านจะไม่กั๊กเลย จะบอกว่าอะไรดีไม่ดี ซึ่งจะต่างจากการที่เราไปทำงานที่อื่น
          "ฉะนั้นก็อยากให้ทุกคนกลับไปที่ต้นทุนธุรกิจของตัวเองก่อน กลับไปพัฒนา ต่อยอด ผมว่าน่าจะประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น และใช้เวลาไม่มาก”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ