ข่าว

เป้าหมายทายาทรุ่นสี่"นราพิมล"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

            คำกล่าวที่ว่าสมัยก่อนชาวจีนแผ่นดินใหญ่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาอาศัยแผ่นดินสยามอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภารพระสยามเทวาธิราชเพื่อชีวิตที่ดีกว่าน่าจะใช้ได้ดีกับตระกูล “จิระกุลสวัสดิ์” ที่เหล่าอากงอพยพหนีความแร้นแค้นจากจีนแผ่นใหญ่มาปักหลักทำมาค้าขายในจ.นครปฐม ด้วยการประกอบอาชีพรับซื้อข้าวเปลือก ก่อนจะผันตัวเองมาเป็นเถ้าแก่โรงสีมีชื่อว่า “นราพิมล” ในเวลาต่อมา

เป้าหมายทายาทรุ่นสี่"นราพิมล"

          “อากงเป็นจุดเริ่มต้นโรงสีนราพิมล อากงเป็นรุ่นที่ 2 รุ่นแรกเหล่าอากง เตี่ยเป็นรุ่นที่ 3 ส่วนจินเริ่มเข้ามาทำหลังเตี่่ยรับช่วงต่อมาจากอากง   พ่อแม่ของอากงจินเรียกว่าเหล่าอากง เหล่าอาม่ามาจากเมืองจีนเลย มาแบบเสื่อผืนหมอนใบแล้วก็มาเริ่มต้นธุรกิจค้าขายข้าวเปลือก ก่อนจะมาทำโรงสี เริ่มแรกอากงกับเตี่ยไปเป็นหุ้นส่วนโรงสีแรกก่อน แล้วย้ายมาทำหุ้นกับโรงสีที่สอง จากนั้นก็มาซื้อโรงสีนราพิมลต่อจากเจ้าของเดิมเมื่อปี 2499 จากนั้น 2517 เตี่ยก็เข้ามารับช่วงต่อจากอากง”

         เป็นคำบอกเล่าของทายาทรุ่นสี่ตระกูลจิระกุลสวัสดิ์ “จินตนา จิระกุลสวัสดิ์” นักธุรกิจสาววัย 34 เจ้าของโรงสีนราพิมล ซึ่งเป็น 1 ใน 9 รายโรงสีขนาดใหญ่ใน จ.นนทบุรี ที่รับช่วงการบริหารต่อมาจากรุ่นพ่อ แต่ปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายการดำเนินธุรกิจจากโรงสีข้าวมาเป็นธุรกิจสีข้าวเปลือกสำหรับอาหารสัตว์ที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งมาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) โรงงานการผลิตได้มาตรฐาน  มาตรฐานเอชเอซีซีพี (HACCP) กระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และมาตรฐานอาหารปลอดภัย หรืิอคิว (Q) เป็นรายแรกและรายเดียวในปัจจุบัน ภายใต้ตราสัญลักษณ์ทางการค้าว่า “ปั้นทอง” ราชาข้าวเปลือกเลี้ยงสัตว์

เป้าหมายทายาทรุ่นสี่"นราพิมล"

          ไม่ใช่เรื่องง่ายในการปรับเปลี่ยนเป้าหมายทางธุรกิจที่ดำเนินการมาหลายสิบปี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับจินตนาที่คลุกคลีอยู่กับธุรกิจโรงสีมาตั้งแต่เยาว์วัย โดยเริ่มเข้ามาสัมผัสอย่างจริงจังด้วยการช่วยงานผู้เป็นบิดา มาตั้งแต่เรียนระดับชั้นม.4 โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียนทุกวันมาช่วยทำบัญชีดูแลงานด้านการเงิน  กระทั่งจบมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนกาญจนาภิเษก จ.นครปฐม ก็เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สาขาบริหารธุรกิจและการตลาด แต่ก็ต้องเดินทางไปกลับระหว่างมหาวิทยาลัยกับบ้านพักทุกวันเพื่อมาช่วยงานธุรกิจโรงสีของครอบครัว จนเรียนจบปริญญาตรีในปี 2550 จึงเข้ามาดูแลกิจการอย่างเต็มตัว โดยมีผู้เป็นบิดาคอยให้คำปรึกษาดูแลอยู่ห่างๆ กระทั่งปี 2557 เข้าศึกษาในระดับปริญญาโทด้านส่งเสริมการเกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจจนสำเร็จการศึกษาในปี 2558   

เป้าหมายทายาทรุ่นสี่"นราพิมล"

           “จินเริ่มเข้ามาช่วยงานเตี่ยในปี 46 ตอนนั้นยังเรียนอยู่ม.4 ช่วงนั้นครอบครัวเราลำบากมาก เป็นผลพวงมาจากฟองสบู่แตกเมื่อปี 40 ครอบครัวเรานอกจากมีธุรกิจโรงสีข้าวแล้วยังทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย เมื่อธุรกิจอสังหาล้มก็ดึงโรงสีล้มตามไปด้วย จากเมื่อก่อนมีสินทรัพย์และเงินสดหมุนเวียนกือบ 500 ล้าน พอล้มปุ๊บกลายเป็นเรามีหนี้สินทันที 250 ล้านใช้เวลาหลายปีกว่าจะเคลียร์หนี้สินหมด พอเคลียร์หนี้จบก็มาเคลียร์เรื่องกงสีต่อ สมัยก่อนคนจีนทำธุรกิจแบบกงสี  แต่มันจะราบรื่นมากกว่านี้ถ้าน้ำไม่ท่วมซ้ำปี 54 ตอนนั้นเสียหายไป 10 กว่าล้าน โรงงานเสียหาย 100%” เจ้าของโรงสีนราพิมลย้อนอดีตอันขมขื่นก่อนจะก้าวมาสู่เส้นทางความสำเร็จในทุกวันนี้

           เธอยอมรับว่าการทำธุรกิจโรงสีในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย หากสายป่านไม่ยาวพอ ขณะเดียวกันการเกิดขึ้นของโรงสีหน้าใหม่เป็นจำนวนมาก ทำให้มีคู่แข่งมากขึ้น ในขณะที่พื้นที่การปลูกข้าวมีเท่าเดิมและนับวันมีแต่จะลดลง ขณะเดียวกันมีการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐที่เข้มงวดมากขึ้น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ขณะที่เงื่อนไขทางการค้าก็มีมากขึ้น ทำให้ทำธุรกิจโรงสีอย่างเดียวคงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องหาธุรกิจใหม่เข้ามาเสริมมาต่อยอดจากธุรกิจเดิม จึงมองว่าการปรับเปลี่ยนเป้าหมายทางธุรกิจจากโรงสีข้าวมาผลิตข้าวเปลือกสำหรับอาหารสัตว์น่าจะมีโอกาสทางธุรกิจมากกว่าจะมุ่งสีข้าวสารเพื่อการส่งออกเพียงอย่างเดียว

จากนั้นเธอก็หันมามุ่งธุรกิจผลิตข้าวเปลือกสำหรับอาหารสัตว์อย่างจริงจัง โดยระยะแรกทำควบคู่กันไปกับธุรกิจโรงสี แต่หลังจากเริ่มมั่นใจว่าธุรกิจอาหารสัตว์ไปได้ดีก็เลยหยุดกิจการโรงสีแล้วมาจับธุรกิจผลิตข้าวเปลือกสำหรับอาหารสัตว์อย่างเดียว ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการประมาณ 3 ปีแล้ว การดำเนินธุรกิจก็เหมือนเดิมทุกอย่างเพียงขั้นตอนสุดท้ายเปลี่ยนจากการสีข้าวเปลือกเป็นข้าวสารปรับมาเป็นข้าวเปลือกเพื่ออาหารสัตว์ ทั้งยังลดต้นทุนการสีด้วย โดยปริมาณข้าวเปลือกที่นำมาผลิตอาหารสัตว์ในฤดูเก็บเกี่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ 300-400 ตันต่อวัน โดยกระบวนการผลิตนั้นเริ่มจากรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในเครือข่าย จากนั้นนำมาอบ 1 วันแล้วปล่อยให้คืนตัวประมาณ 3-4 วัน แล้วนำมาทำความสะอาดอีกครั้งก่อนบรรจุถุงเพื่อจำหน่ายต่อไป

          “กระบวนการผลิตก็ไม่แตกต่างกัน แต่ของเราจะต่างจากที่อื่นตรงที่มีมาตรฐานครบทุกตัวรายแรกและรายเดียวในประเทศไทยขณะนี้ มีทั้ง GMP HACCP และ Q คือโรงงานได้มาตรฐาน กระบวนการผลิตได้มาตรฐาน และอาหารปลอดภัยได้ครบเมื่อปีที่แล้ว จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีรายใดได้ครบทั้ง 3 อย่าง ของเราก็ยังเป็นรายแรกและรายเดียวอยู่ในขณะนี้” เจ้าของโรงสีนราพิมลยืนยัน

          “ต้องยอมรับว่าปัจจุบันโรงสีทำยากมากขึ้น อย่างตอนที่มีโครงการรับจำนำ ตอนนั้นก็ไม่ได้เลวร้าย เพียงแต่มองว่าโครงการนี้น่าจะอยู่ได้ไม่นาน เราจึงจำเป็นต้องหาธุรกิจที่มารับช่วงต่อ ก็เริ่มมองหา เริ่มศึกษาข้อมูล เห็นว่าเราทำข้าวเปลือกมานานแล้วเรามีต้นทุนตรงนี้อยู่ แค่เปลี่ยนปลายทางจากโรงสีข้าวมาเป็นข้าวเปลือกเลี้ยงสัตว์ เพราะเวลาเราสีข้าวก็จะมีพ่อค้ามาหาซื้อข้าวราคาถูกๆ เช่น ข้าวเหลือง ข้าวฟันหนู หรือข้าวที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ไม่สามารถให้คนทานได้เพื่อเอาไปเลี้ยงสัตว์ พอเราเข้าไปศึกษาในเชิงลึกก็พบว่ามีทั้งกลุ่มคนเลี้ยงไก่ชน กลุ่มเลี้ยงนก กลุ่มเลี้ยงม้า สัดส่วนไก่ชนมากสุด รองลงมาเป็นกลุ่มนกและม้า เพียงแต่ใช้ข้าวเปลือกที่แตกต่างกัน ราคาก็ต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของข้าวเปลือก อย่างนกเขาชวาใช้ข้าวเปลือกเม็ดมะเขือเป็นข้าวเม็ดเล็กมาก  ส่วนกลุ่มไก่ มีทั้งไก่ชน ไก่พื้นบ้าน ไก่ทั่วไปใช้ข้าวเมล็ดยาว ไก่ตลาดระดับกลางและล่างไม่ได้เน้นของแพงมาก แต่ขอให้มีคุณภาพ ยกเว้นไก่ชนต้องของดีมีคุณภาพ ราคาไม่เกี่ยง เพราะไก่ชนบ้างตัวราคาเป็นหลักล้าน ต้องดูแลอย่างดีและอาหารก็ต้องดีด้วย เราเชื่อว่าอาหารที่ดีมีผลต่อสุขภาพไก่ที่ดี ส่วนกลุ่มนกพิราบกับนกเขาใหญ่ก็จะคล้ายๆ กัน”

         ปัจจุบันข้าวเปลือกอาหารสัตว์ ผลสำเร็จจากการต่อยอดธุรกิจของโรงสีนราพิมล ภายใต้ตราสัญลักษณ์ทางการค้า “ปั้นทอง” มีจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด สนนราคาจำหน่ายขึ้นอยู่กับปริมาณและชนิดของสัตว์เลี้ยง โดยจะมีการบรรจุถุงจำหน่ายเริ่มตั้งแต่ถุงละ 10 กิโลกรัม 20 กิโลกรัม 30 กิโลกรัม 40 กิโลกรัม และ 50 กิโลกรัม ราคาจำหน่ายเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 9.5 บาท

        “ถ้าลูกค้าอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เราจะมีบริการส่งถึงที่  ส่วนต่างจังหวัดก็จะส่งขายผ่านตัวแทนจำหน่าย แต่ลูกค้าต่างจังหวัดถ้าซื้อในปริมาณมากๆ เขาก็จะมารับสินค้าจากโรงงานผลิตโดยตรง ซึ่งลูกค้าของเราก็มาจากเกือบทุกภูมิภาค ทั้งกลาง อีสาน ใต้ ส่วนภาคเหนือจะน้อย อาจเป็นเพราะกลุ่มสัตว์เลี้ยงพวกนี้ยังมีน้อย” นักธุรกิจสาวกล่าวทิ้งท้าย

         ข้าวเปลือกสำหรับอาหารสัตว์ นับเป็นอีกก้าวย่างทางธุรกิจและเส้นทางแห่งความท้าทายของ “จินตนา จิระกุลสวัสดิ์” ที่สลัดออกมาจากธุรกิจโรงสีของผู้เป็นบิดา ใช้เวลาเพียงแค่ 3 ปีก็ได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครบทั้ง 3 อย่าง ประกอบด้วย มาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) มาตรฐานเอชเอซีซีพี (HACCP) และมาตรฐานคิว (Q) รายแรกและรายเดียวในปัจจุบัน โดยยึดหลักการบริหารซื่อสัตย์ต่อคู่ค้า ภายใต้แนวคิด เกษตรกรอยู่ได้ ธุรกิจมีกำไร ลูกค้าได้สินค้าคุณภาพในราคาที่ไม่แพง

                                                                                  .............................................................................................

 กว่าจะถึงวันนี้ “จินตนา จิระกุลสวัสดิ์”

     จินตนา จิระกุลสวัสดิ์ ปัจจุบันอายุ 34 ปี เกิดในครอบครัวทำธุรกิจโรงสีข้าว ในจ.นครปฐม เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้อง 4 คนของชาญศิลป์- ลูกจันทร์ จิระกุลสวัสดิ์ เริ่มเรียนอนุบาลที่ผไทวิทยานครปฐม ย้ายมาเรียนในระดับมัธยมศึกษาโรงเรียนกาญจนาภิเษก จ.นครปฐม จากนั้นมาเรียนต่อในระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สาขาบริหารธุรกิจและการตลาด ปริญญาโทด้านส่งเสริมการเกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน เริ่มเข้าสู่วงการธุรกิจโรงสีข้าวของครอบครัว ด้วยการช่วยผู้เป็นบิดาดูแลงานด้านการเงินและบัญชี ก่อนถูกมอบหมายให้ดูแลกิจการอย่างเต็มตัวในเวลาต่อมา ปัจจุบันนอกจากเธอจะดูแลธุรกิจโรงสีข้าวและธุรกิจข้าวเปลือกสำหรับอาหารสัตว์แล้วยังเจียดเวลาช่วยดูแลกิจการศูนย์อาหารยิ่งเจริญ (ฝั่งตรงข้ามม.มหิดล ศาลายา) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจของครอบครัวอีกด้วย

   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ