ข่าว

สุขที่ได้ทำ...หาได้จากที่นี่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“วิลาวัลย์ออร์คิด” สู้ด้วยใจรัก

          จะมีอะไรดีไปกว่าการได้ใช้ชีวิตอย่างมี “ความสุข” เป็นความสุขจากการได้ทำในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่รัก และได้อยู่กับสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบ และยังเป็นความสุขที่สามารถหาเลี้ยงชีพได้อีกด้วย
          “วิลาวัลย์ อากาศเมฆ” เจ้าของกิจการฟาร์มกล้วยไม้ “วิลาวัลย์ออร์คิด” เป็นอีกหนึ่งคนต้นแบบ ที่นำหลักของการทำงานด้วยความสุขนำทางชีวิต งานที่เกิดจากความชอบปลูกต้นไม้ ได้อยู่กับของสวยๆ งามๆ และสามารถสร้างรายได้พอเลี้ยงตัว ที่สำคัญยังเป็นงานอิสระ ได้เป็นนายของตัวเอง และยังได้ทำงานตรงสายกับที่เรียนมาด้วย

 

สุขที่ได้ทำ...หาได้จากที่นี่
          จากคนเมืองแพร่ เรียนจบจากคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเมื่อจบการศึกษาได้ทำงานเป็นเซลส์ขายยา และปุ๋ย โดยทำงานประจำนานถึง 16 ปี จากนั้นจึงคิดขยับขยาย ประกอบกับได้มองเห็นโอกาสของการเข้ามาทำฟาร์มกล้วยไม้ตัดดอกเพื่อการส่งออก โดยได้รู้จักกับชาวสวนกล้วยไม้ที่ทำอยู่ก่อนแล้วที่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ และเริ่มต้นด้วยการเช่าที่ทำสวนกล้วยไม้ตั้งแต่ปี 2551
          แต่ไม่นานหลังจากนั้นก็เจออุปสรรครุนแรงจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศเมื่อปี 2554 กล้วยไม้ที่กำลังให้ผลผลิตเต็มที่เสียหายทั้งหมด ทำให้ขาดทุน จึงได้เซ้งที่ตรงนั้นไปและหาซื้อที่ใหม่ ก็มาได้เป็นสวนกล้วยไม้เดิมที่ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งทางเจ้าของเดิมต้องการจะเลิกทำเพราะได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วมเช่นกัน โดยการเริ่มลงทุนครั้งใหม่นี้ เดิมร่วมหุ้นกับเพื่อนทำด้วยกัน แต่ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการฟาร์มกล้วยไม้แห่งนี้ และบริหารจัดการด้วยตัวเอง
          สำหรับ “วิลาวัลย์ออร์คิด” คือกิจการฟาร์มกล้วยไม้ตัดดอก โดยปลูกกล้วยไม้สกุลหวายมีชื่อเรียกว่า “บอมโจแดง” เพื่อการส่งออกเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% โดยมีผู้ส่งออกกล้วยไม้มารับถึงหน้าฟาร์ม มีตลาดหลัก คือ จีนและยุโรป ส่วนที่เหลือจำหน่ายในประเทศ มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อแบบชั่งกิโลเพื่อนำไปกำเตย และส่งจำหน่ายที่ปากคลองตลาด ตลาดดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ปัจจุบันใช้พื้นที่ปลูกราว 16 ไร่ และสามารถสร้างรายได้ต่อปีถึงหลักล้านบาท
          “ตอนที่ตัดสินใจออกจากงานประจำและมาทำสวนกล้วยไม้นั้น คือเราได้เห็นช่องทางและโอกาส รู้ว่าการเกษตรบางอย่างทำแล้วอาจไม่คุ้ม แต่สำหรับกล้วยไม้ สามารถตัดดอกขายได้ทุกวัน และยังได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานราชการ เพราะว่าเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออก จึงคิดว่าน่าจะพอไปได้” วิลาวัลย์ เล่า
อย่างไรก็ตาม หลังประสบปัญหาน้ำท่วม แม้ว่ากล้วยไม้จะหายไปจากตลาดจำนวนมาก แต่การเริ่มต้นใหม่ก็ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น
          “ตอนนั้นก็ท้อเหมือนกันนะ แต่เหมือนกับว่าเรามีเงินทุนมาก้อนหนึ่ง จากการเซ้งที่เดิม และยังมีต้นพันธุ์ที่เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไว้ จึงตัดสินใจทำต่อ เริ่มต้นใหม่อีกครั้งในปี 2555 ทำเรื่อยมาจนถึงปี 2559 ถือว่าคุ้มทุนในแง่ของการลงทุนปัจจัยการผลิต การเพาะปลูก ซึ่งยังไม่รวมต้นทุนหลักที่เป็นที่ดิน แต่หากรวมแล้วตอนนี้ก็ยังไม่คุ้ม”
          ทั้งนี้ กล้วยไม้พันธุ์ “บอมโจแดง” เป็นพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย เป็นที่ต้องการของตลาด และออกดอกได้ตลอดทั้งปี ซึ่งตลาดส่งออกจะมีการคัดขนาดของช่อ แบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือช่อสั้น 40-45 เซนติเมตร, ยาว 50 เซนติเมตร และยาวพิเศษ 55 เซนติเมตร ส่วนช่อดอกที่ไม่ได้ขนาดตามความต้องการของตลาดส่งออก ก็จะมีพ่อค้ามารับชั่งเป็นกิโลกรัมขาย ส่วนเรื่องราคาจะเป็นไปตามกลไกของตลาด แล้วแต่ช่วงผลผลิตออกมาน้อย และตามความต้องการของตลาด ราคาจึงจะขึ้นลงตามสถานการณ์ที่ว่า แต่โดยเฉลี่ยแล้วทั้งปี ราคาจะอยู่ที่ประมาณช่อละ 1.50 บาท จากต้นทุนการผลิตอยู่ที่ช่อละ 1 บาท ซึ่งราคาในประเทศเองก็จะอิงกับราคาส่งออกด้วย
          เจ้าของกิจการฟาร์มกล้วยไม้วิลาวัลย์ออร์คิด บอกอีกว่า การดูแลฟาร์มกล้วยไม้นั้น ตนเองเป็นผู้ดูแลหลักอยู่คนเดียว เน้นหลักการบริหารจัดการ และต้องทันกับสถานการณ์ต่างๆ อยู่เสมอเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอด เช่น ช่วงที่ขาดแคลนกระบะซึ่งทำจากกะลามะพร้าว ก็ไปอ่านเจอว่ามีการใช้อิฐบล็อกแทนได้ เป็นต้น และเพื่อให้กล้วยไม้สามารถทำรายได้ให้ต่อเนื่อง จึงแบ่งการผลิตออกเป็น 2 ช่วง เนื่องจากกล้วยไม้จะมีรอบการปลูกทุก 4 ปี เมื่อครบ 4 ปีจะต้องรื้อปลูกใหม่
          “การจะรื้อปลูกใหม่ทีเดียวทั้งหมดจะทำให้รายได้หายไป จึงต้องรื้อปลูกใหม่เพียงครึ่งเดียวก่อน เพื่อให้ยังคงมีรายได้ต่อเนื่องและในปีนี้ก็ถึงรอบที่รื้อปลูกใหม่แล้ว หลังจากเริ่มปลูกที่ฟาร์มกล้วยไม้ใหม่เมื่อปี 2555”
          ส่วนการบริหารจัดการอื่นๆ เช่น ฟาร์มเราพยายามใช้ปุ๋ยเคมีเท่าที่จำเป็น มีการเลือกใช้ยาและปุ๋ยที่สามารถปรับสภาพน้ำเพื่อให้ปุ๋ยเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ใช้งานได้เต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องของเทคนิคการดูแลผลผลิต ที่เชื่อมโยงไปกับต้นทุน โดยเราต้องการใช้สารเคมีน้อย หรือแม้แต่เรื่องน้ำ ก็พยายามไม่ทิ้งลงไปในคลองสาธารณะเพื่อให้สามารถใช้หมุนเวียนภายในสวนได้ โดยที่ฟาร์มมีแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นบ่อน้ำ ซึ่งขุดดินจากบ่อมาทำเป็นคันกั้นน้ำในสวนกล้วยไม้ด้วย ส่วนน้ำในบ่อก็จะมีการบริหารจัดการ

 

สุขที่ได้ทำ...หาได้จากที่นี่
          สำหรับการมองไปข้างหน้านั้น วิลาวัลย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการปลูกกล้วยไม้ถือว่าเต็มพื้นที่แล้ว แต่นี่ก็ยังเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ส่วนหากสามารถทำตลาดส่งออกได้เอง ก็อยากที่จะทำ ซึ่งคงต้องใช้เวลาศึกษาพอสมควร และจะต้องมีคนเข้ามาช่วยเพิ่มด้วย เพราะตัวเองก็ยังยุ่งแต่กับเรื่องการผลิต การเพิ่มผลผลิต และการพัฒนาสายพันธุ์
          เธอกล่าวด้วยว่า การทำการเกษตรนั้น จะว่าง่าย ก็ไม่ง่าย จะว่ายาก ก็ไม่ยาก ที่สำคัญคือต้องอาศัย “ใจรัก” และ “ช่างสังเกต” คือต้องมีความละเอียดพอสมควร อีกทั้ง ปัจจุบันก็เห็นคนรุ่นใหม่หันมาทำการเกษตรมากขึ้น มาช่วยกิจการของพ่อแม่ที่มีอยู่แล้ว คือมาช่วยในแง่ของตลาด และมีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเสริมประสิทธิภาพ เช่น การใช้แขนกลเข้ามาฉีดยาแทนแรงงานคน เพื่อแก้ปัญหาแรงงาน นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อติดตามข่าวสารต่างๆ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการด้วย เช่นการใช้แอพพลิเคชั่นพยากรณ์อากาศ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรใช้กันจำนวนมาก หรือในกรุ๊ปไลน์ของกลุ่มเกษตรกร         กล้วยไม้ด้วยกันเอง ก็จะมีการแจ้งข่าวสาร ทำให้เกษตรกรสามารถทราบข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น เช่น เรื่องราคา คือจะช่วยให้สามารถทันเหตุการณ์ต่างๆ ได้มากขึ้น จากเมื่อก่อนที่บางสวนจะไม่ค่อยทันกับการขึ้นลงของราคานัก
          ส่วนตนเองก็คิดเตรียมไว้ให้ลูกเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ลูกยังอยู่ในวัยเรียน และในอนาคตลูกๆ จะต้องการเข้ามาทำต่อหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับเขาเอง
          ทั้งนี้ เกือบ 10 ปีที่ผ่านมาหลังจากลาออกจากงานและมาปลุกปั้นกิจการฟาร์มกล้วยไม้ด้วยตนเองนั้น วิลาวัลย์ กล่าวว่า มีทั้งความเหนื่อย และปัญหา แต่คิดว่า ไม่ว่าจะทำงานอะไรทุกอย่างก็เจอปัญหาทั้งสิ้น และมองว่าการทำเกษตร ไม่ยากและไม่ง่าย ที่สำคัญคือเราจะต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งแม้เราจะมีความรู้ในเรื่องการเพาะปลูก แต่ก็ต้องศึกษาอยู่เสมอให้มีความทันสมัย ปรับตัวและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจเกิดขึ้นในตลอด อย่างค่าแรงที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนเราสูงขึ้นตามไปด้วย และแรงงานขาดเราก็ต้องใช้แรงงานต่างด้าว ขณะที่ราคากล้วยไม้ไม่ได้สูงขึ้นตาม เราจึงต้องอาศัยการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้ขาดทุน และรักษาสภาพคล่องไว้ตลอด
          “อย่างที่บอกไว้ว่าการทำเกษตรจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะการเกษตรเราก็ต้องพึ่งพาธรรมชาติ เดี๋ยวน้ำท่วม เดี๋ยวภัยแล้ง น้ำเค็มบ้างล่ะ แต่เราก็ต้องพยายามปรับตัวเพื่อให้เราอยู่รอดให้ได้ คือต้องวางแผนการจัดการ เช่น รอบการปลูก ไม่ให้ตรงกับคนอื่น และการดูแลผลผลิตไม่ให้ลดลง” วิลาวัลย์ กล่าว
          เจ้าของกิจการวิลาวัลย์ออร์คิด ยังบอกอีกว่าฟาร์มกล้วยไม้ของตนนั้น ถือเป็นฟาร์มขนาดเล็ก แต่ก็มองหาโอกาสการขยับขยาย ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมด้วย และแม้จะเป็นฟาร์มขนาดเล็ก แต่ตลาดกล้วยไม้ส่งออกก็ยังมีโอกาสที่ดี เป็นโอกาสให้กับฟาร์มขนาดเล็กได้ ซึ่งแม้กลไกจะทำให้ราคามีขึ้น มีลง มีความไม่แน่นอนอยู่ แต่ก็ทำให้สามารถเลี้ยงตัวอยู่ได้
 
เรื่อง : อนัญชนา สาระคู

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ