ข่าว

“ไพรทิพ”ส่งต่อของดีจากท้องถิ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แปรรูปเพิ่มมูลค่า-สร้างรายได้ชุมชน

 

          “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสนามจันทร์” ใน จ.นครปฐม อาจกล่าวได้ว่าเป็นต้นแบบของการผลิต “สินค้าเพื่อสุขภาพจากชุมชน” คือได้ทั้งประโยชน์ต่อผู้บริโภค และช่วยแก้ปัญหา เพิ่มรายได้ให้แก่คนในภาคเกษตร และชุมชนของตนเอง โดยผลิตสินค้าแปรรูป คือ ผักกรอบ ผลไม้กรอบ ภายใต้แบรนด์ “ไพรทิพ” (Pritip) อาทิ กระเจี๊ยบกรอบ, บร็อกโคลี่กรอบ เห็ดหอมกรอบ และเห็ดสามอย่างกรอบ เป็นต้น รวมทั้งแบรนด์ “ใช่เลย” คือผลิตภัณฑ์กล้วยหอมทองอบกรอบ และส้มสายน้ำผึ้งกรอบ

          ด้วยตลาดการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพกำลังเติบโตนี่เอง ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสนามจันทร์ตัดสินใจลงทุนขยายกำลังการผลิต นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 10 ปี ตั้งแต่เริ่มผลิตสินค้าก็ว่าได้ ที่กลุ่มได้กู้เงินเพื่อลงมาลงทุนขยายโรงงาน

 

“ไพรทิพ”ส่งต่อของดีจากท้องถิ่น

 

          “ปกติเราทำธุรกิจ จะเน้นหลักคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง คือขอทำให้อยู่แบบยาวๆ ไม่คิดตั้งเป้าหมายเพื่อหลอกตัวเอง เพราะรู้ดีว่ากำลังการผลิตของเรายังไม่มากนัก การจะขยายจึงต้องดูที่จังหวะ ภาวะเศรษฐกิจ แต่เมื่อปีที่ผ่านมาได้ไปออกงานแสดงสินค้า ทั้งงาน “เฮลท์” และงาน “ออร์แกนิก” ซึ่งสินค้าเราได้รับความสนใจมาก ทำให้มั่นใจว่าตอนนี้ตลาดกำลังมาแน่นอนแล้ว” สะอาด จึงสมานญาติ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสนามจันทร์ กล่าว

          เมื่อกลุ่มเห็นว่าตลาดสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพเหล่านี้กำลังเป็นที่ต้องการในกระแสคนรักสุขภาพ และเป็นที่สนใจจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดในเอเชีย เช่น จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น จึงตัดสินใจลงทุนเพิ่ม เพื่อขยายโรงงาน เพิ่มกำลังการผลิตสินค้าอีก 3 เท่า โดยใช้เงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 5 ล้านบาท และมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกัน

          อย่างไรก็ตาม ก่อนจะมาเป็น “ไพรทิพ” อย่างในปัจจุบัน ที่เป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน มีผู้คนจากต่างถิ่นเข้ามาขอดูงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาขอติดต่อมาศึกษา ทำงานวิจัย และเมื่อไม่นานมานี้ ภริยานายกรัฐมนตรียังนำภริยาทูตเข้ามาดูงานที่โรงงานด้วย อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจให้แก่อีกหลายๆ คน ได้คิดเริ่มสร้างกิจการ

          สะอาด บอกว่า ไพรทิพ เคยเป็นแบรนด์สำหรับสินค้าชาสมุนไพร ชาใบหม่อนมาก่อน แต่พบว่าตลาดค่อนข้างแคบ ประกอบกับตอนนั้นเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตไม่สูงนัก ทำให้น้ำชาที่ผลิตไม่สามารถอยู่ได้นานในอุณหภูมิปกติ จะต้องแช่ตู้เย็นเท่านั้น จึงแข่งขันกับผู้ผลิตชาเจ้าใหญ่ๆ ไม่ได้ ซึ่งแม้รสชาติเราจะสู้ได้ แต่ก็สู้การตลาดไม่ได้ จึงเลิกไป

          “ผมจึงพยายามหาเทคโนโลยีในการผลิตใหม่ๆ จนมาได้เทคโนโลยีอบแห้งโดยใช้ระบบสุญญากาศ ทำให้ผักแห้ง และมีความกรอบ โดยยังคงสีสันและรสชาติเดิม รวมทั้งคุณค่าของพืชผักนั้นๆ ก็ยังคงเดิม ซึ่งได้มีการส่งวิเคราะห์แล้ว” สะอาดกล่าว และเล่าว่า จึงเริ่มจากผักใกล้ตัวและสามารถหาได้ในท้องถิ่น คือ “กระเจี๊ยบเขียว”

          การตัดสินใจเลือกที่กระเจี๊ยบเขียว ก็เพราะว่าเป็นพืชผักที่มีอยู่ในพื้นที่ จ.นครปฐมอยู่แล้ว โดยเฉพาะใน อ.บางเลน และอ.กำแพงแสน แต่ก็พบว่าคนไทยไม่นิยมกินกันนัก ขณะที่คนญี่ปุ่นนิยมมาก จึงได้เริ่มต้นหาข้อมูล พบว่ากระเจี๊ยบเขียวมีใยอาหารสูงมาก ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก โรคกระเพาะ และรักษาแผลในกระเพาะอาหาร กำจัดพยาธิตัวจี๊ด พอเราค้นพบตัวนี้ จึงคิดว่าได้เปรียบเพราะอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว

           “เราใช้กระเจี๊ยบเขียวในพื้นที่ใกล้เคียง แรกๆ ก็ไปซื้อที่โรงงานรับซื้อกระเจี๊ยบเขียวเพื่อส่งออกก่อน เพราะจะมีการคัดขนาดที่ไม่ได้ตามมาตรฐานกำหนดออก เราก็ไปซื้อในส่วนนั้น คือไม่ได้ขนาดตามที่โรงงานกำหนด แต่เราสามารถนำมาแปรรูปได้ ซึ่งตอนนั้นเกษตรกรจะไม่ได้ประโยชน์ส่วนนี้เลยเพราะกระเจี๊ยบจะถูกคัดทิ้งไปเลย แต่เมื่อได้มีการคุยกันกับเกษตรกร จึงตกลงว่าเกษตรกรจะคัดขนาดแยกให้ และมาส่งให้เรา ซึ่งเราจะให้ราคาเท่ากับที่โรงงานส่งออกให้ ถือเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่ง ซึ่งเกษตรกรพอใจ เพราะเป็นการประกันได้ว่าเขาจะไม่เสียของ และดีกว่าที่เกษตรกรจะนำไปขายในตลาด ซึ่งจะถูกกดราคาไปกว่าครึ่ง อย่างตอนนี้กระเจี๊ยบเขียวราคากิโลกรัมละ 25 บาท แต่ราคาตลาดสดจะอยู่ที่ 10-20 บาท ขึ้นอยู่กับความต้องการในช่วงนั้นๆ แล้วยิ่งช่วงกระเจี๊ยบล้นตลาด บางทีขายกันที่ กก.ละ 5 บาทก็มี ขณะเดียวกันเราก็จะได้วัตถุดิบที่ดี มีคุณภาพตามที่โรงงานส่งออกกำหนด เหมือนเราได้ของที่เป็นมาตรฐานญี่ปุ่น ได้ผักที่ปลอดภัย”

 

“ไพรทิพ”ส่งต่อของดีจากท้องถิ่น

 

          สำหรับผลตอบรับที่ออกมาครั้งแรกนั้น ถือว่าค่อนข้างดีมาก ลูกค้ายังไม่เคยได้ลองกินที่ไหนมาก่อน ส่วนที่คนที่ไม่กินผักก็อยากจะทดลองกินดู จากนั้นก็ได้รับคำแนะนำจากลูกค้ามาเรื่อยๆ จึงได้พัฒนารสชาติต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น รสวาซาบิ รสสาหร่าย และรสต้มยำ และยังเพิ่มสินค้าอื่นเข้ามา คือ บร็อกโคลี่ และเห็ด โดยใช้เทคโนโลยีเดิม รวมทั้งกล้วยหอมทอง และส้มสายน้ำผึ้ง

          ส่วนตัวเองนั้นก่อนที่จะมารวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสนามจันทร์ มีอาชีพมาหลายอย่าง จนเมื่อปี 2540 ซึ่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ จึงตัดสินใจออกจากงานและมีความตั้งใจมาประกอบธุรกิจของตัวเอง ก็เริ่มจากการเพาะเห็ด และมาร่วมกลุ่มก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน เริ่มต้นสมาชิก 5-6 คน จนปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 50 คนแล้ว ซึ่งรวมถึงกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกวัตถุดิบป้อนให้กลุ่มเราด้วย ก็ดึงมาเป็นสมาชิกและเราซื้อของจากสมาชิกของเรา

          “จากกลุ่มแม่บ้านในตอนนั้น ก็ไปสมัครเป็นผู้ผลิตสินค้าโอท็อป เป็นสินค้าโอท็อป ในรัฐบาลช่วงนั้น ซึ่งให้การสนับสนุนทั้งด้านการตลาด การออกบูธแสดงสินค้า การจัดฝึกอบรม โดยผมเข้าโครงการของภาครัฐที่ให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาชุมชน,กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม”

          ในด้านการตลาดนั้น ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐในการออกงานต่างๆ รวมถึงงานแสดงสินค้าอาหาร ไทยเฟ็กซ์ ที่ได้มีโอกาสแนะนำสินค้าให้แก่ผู้นำเข้าจากต่างประเทศ และสินค้าของไพรทิพ ยังมีวางจำหน่ายที่ร้านเลม่อน ฟาร์ม และร้านดอยคำ ซึ่งมีการขยายไปตามการขยายตัวของร้านที่ว่านี้ นอกจากนี้ยังมีร้านเพื่อสุขภาพที่เกิดขึ้นใหม่ๆ มาติดต่อ ทำให้สินค้าเราค่อยๆ ขยายเป็นที่รู้จักออกไป อีกทั้งก็ขยายด้วยการบอกต่อ ปากต่อปาก

          นอกจากนี้ ทางการบินไทยยังเคยนำสินค้าไพรทิพไปเสิร์ฟบนเครื่องบิน ทำให้สินค้าเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น ขณะเดียวกันปัจจุบันตามสังคมออนไลน์มีบล็อกเกอร์ด้านสุขภาพ แนะนำสินค้าของเรา ทั้งๆ ที่ก็ไม่ได้รู้จักกับเราเลย ทำให้แฟนคลับที่ตามเขาอยู่ก็หาซื้อสินค้าของเราด้วยเช่นกัน

          อย่างไรก็ตาม นอกจากการผลิตสินค้าแบรนด์ของเราเองแล้ว ยังรับผลิตสินค้าให้แบรนด์อื่นด้วย แต่ต้องคัดเลือกพอสมควรว่าเขามีความตั้งใจจริงจะมาเป็นพาร์ทเนอร์กับเราหรือไม่ หรือต้องการแค่มาดูว่าเราผลิตอย่างไรเท่านั้น

          สะอาด กล่าวด้วยว่า การขยายตลาดของสินค้าแบรนด์ไพรทิพนั้น จะเน้นขยายไปตามร้านค้าเพื่อสุขภาพต่อไป โดยไม่เน้นไปที่ร้านสะดวกซื้อเพราะมองว่าเป็นคนละตลาดกัน แต่การจะขยายธุรกิจได้มากขึ้น อยากเน้นไปที่การส่งออก ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิต และก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2560 โดยทางกลุ่มเองยังต้องการการสนับสนุนในด้านเงินทุนเรื่องเครื่องจักร

          “อยากให้มีโครงการอย่างบีโอไอ ที่ให้รายใหญ่ช่วยรายย่อย และสามารถนำเงินที่ช่วยเหลือรายย่อยไปหักลดหย่อนภาษีประจำปีได้ เป็นลักษณะเหมือนกับการให้รายใหญ่ทำ ซีเอสอาร์ เหมือนโครงการประชารัฐ” สะอาดกล่าวเพิ่มเติม

 

“ไพรทิพ”ส่งต่อของดีจากท้องถิ่น

 

          ทั้งนี้ นอกจากการทำธุรกิจบนหลักการ ในแบบค่อยเป็นค่อยไปแล้ว “สะอาด” ในฐานะประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสนามจันทร์ ยังกล่าวถึงการสร้างประโยชน์ ได้เป็นผู้ให้ด้วยว่าเราพยายามหาเทคโนโลยีต่างๆ จากหลายแหล่ง รวมทั้งทางอินเทอร์เน็ต มาศึกษา มาลองทำ ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งไม่ได้หวังที่จะร่ำรวย แต่ก็ขอให้เราทำได้ อยู่ได้ ครอบครัวเราอยู่ได้ รวมทั้งคนที่เชื่อมต่อกับเราเขามีรายได้ และอยากให้ประโยชน์นั้นกระจายออกไป

          อย่างคนมาดูงานกับเรา ดีใจที่อย่างน้อยเราก็ได้เป็นแรงผลักดันให้อีกหลายๆ คน เขาเห็นว่าเรามาจากเล็กๆ และก็อยู่มาได้จนวันนี้ เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้คนได้ หรือคนเขามาดูงาน แต่เขาก็มีปัญหามาด้วย อย่างส้มจากแม่ฮ่องสอน เขามาขอให้เราช่วยว่าจะทำอย่างไรดี ทั้งๆ ที่ส้มก็อร่อยแต่มีขนาดเล็ก เราก็ช่วยแก้ปัญหาให้เขาได้ และเราก็ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วย

          “ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราให้กับเขา ก็มักจะได้รับประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งกลับมาเสมอ หรือแม่แต่นักศึกษาที่มาดูงาน นอกจากที่เขาจะได้ประโยชน์จาการศึกษาแล้ว เขาก็มาช่วยดูว่าเรายังบกพร่องในจุดไหน มีปัญหาตรงไหน ก็มาช่วยแนะนำและแก้ปัญหาให้กับเราได้เช่นกัน หรืออย่างน้อยก็นำปัญหาเราไปผลักดันต่อให้” สะอาด กล่าว

 

เรื่อง : อนัญชนา สาระคู

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ