ข่าว

“อาหารอร่อย-รสชาติเดียว”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แบบฉบับคนรุ่นใหม่บริหารร้าน “วัวนู้ด”

โดย : อนัญชนา สาระคู

          “Passion” หรือ การที่เราหลงใหล ชื่นชอบในสิ่งหนึ่งมากๆ"... คำๆ นี้ได้ถูกเอ่ยถึงบ่อยๆ ในวงสนทนาของเราในครั้งนี้
          เพราะความชื่นชอบใน “อาหาร” รักที่ได้ทำ ได้ลิ้มลองความอร่อย และมีความสุข เมื่อได้รับคำชื่นชมจากอาหารที่ได้ทำ ก่อให้เกิดเป็นธุรกิจร้านอาหาร “วัวนู้ด” (Wuanood) ร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อกรอบ ของสามสาวพี่น้องในตระกูล “หงสกุล” คือ “พิ้งค์” ชลิตา หงสกุล, “พลอย” สมิตดา หงสกุล และ “แพร” นริศรา หงสกุล
          ไม่เพียงเท่านี้ นอกจากความชื่นชอบในอาหารแล้ว ทั้งสามยังมีความตั้งใจจริงในการก่อร่างสร้างธุรกิจของตน จน “วัวนูด” สาขาแรกที่อาคารมหาทุนพลาซ่า ย่านเพลินจิต ประสบความสำเร็จอย่างดี จึงตามมาด้วยการขยายสาขาที่สองในขณะนี้
          “สาขาแรกที่อาคารมหาทุน ผลตอบรับถือว่าดีมาก มีคนเข้ามาแน่นทุกวัน ซึ่ง แพร ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่งของคนทำร้านอาหาร แต่เราก็ใช้จ่ายในการซ่อมแซมร้านเยอะ เพราะเป็นตึกค่อนข้างเก่า จึงต้องดูแลและซ่อมแซมเพิ่มเติม และร้านก็เปิดมาสองปีแล้ว อีกอย่างเราก็มองการขยายสาขาด้วย จึงใช้เงินมาลงทุนเพิ่มเติมที่สาขาแห่งใหม่นี้ด้วย” แพร เล่าให้ฟัง ในขณะที่พวกเราพูดคุยกันในร้าน วัวนู้ด สาขาใหม่ที่ตึกเอ็มไพร์ ทาวเวอร์
          จากครอบครัวที่ชอบสรรหาร้านอร่อย “แพร” และ “พลอย” เปิดการสนทนาของเราโดยบอกเล่าถึง “สูตรก๋วยเตี๋ยวเนื้อกรอบ” ของร้านวัวนู้ด ว่าเป็นสูตรดั้งเดิมของคุณยายจากร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อกรอบหลังตึกการบินไทย ที่เปิดมานานกว่า 30 ปีแล้ว และแพรได้รับการถ่ายทอดมาโดยตรง ก่อนที่คุณยายจะขายกิจการไปให้เจ้าอื่นดำเนินการต่อ แต่สำหรับร้าน “วัวนู้ด” ได้แยกมาเปิดร้านใหม่ ซึ่งก็ได้เพิ่มเติมเมนูอื่นๆ เพื่อให้เกิดความหลากหลาย และสามารถดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น

 

“อาหารอร่อย-รสชาติเดียว”


          “ก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่เคยคิดจะทำร้านอาหารค่ะ เพราะทุกคนก็มีงานประจำทำกันหมด แต่หากถามว่าส่วนตัวแล้ว สนใจหรืออยากทำอะไรมากที่สุด คำตอบที่ได้ก็คืออยากเปิดร้านอาหารนี่แหละ เพราะเป็นคนชอบทำอาหาร ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้มีพรสวรรค์ทำได้ทุกอย่าง แต่ว่าเรามีความชอบ ชอบมาตั้งแต่เล็กแล้ว เวลาคุณแม่ คุณยายทำอาหารในครัว ก็จะไปช่วยหยิบ ช่วยจับ” แพร ซึ่งเป็นคนริเริ่มที่จะเปิดกิจการร้านอาหาร กล่าวและเล่าว่า
          หลังจากเรียนจบปริญญาโทด้านบริหาร กลับมาทำงานไม่นานก็รู้สึกว่ายังไม่ใช่งานที่เราอยากทำ ประจวบเหมาะกับคุณยาย แม้ท่านไม่ใช่ยายแท้ๆ แต่ก็เป็นญาติสนิทกัน ท่านทำร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อกรอบ หลังการบินไทย ได้มีโอกาสพูดคุยกัน คุณยายบอกว่าจะขายกิจการแล้ว ทำให้เรารู้สึกเสียดาย ว่าก๋วยเตี๋ยวเนื้อกรอบอร่อยๆ ที่กินมาตั้งแต่เด็ก ถ้าปิดไปแล้วจะไปหากินได้อีกที่ไหน และหลายๆ คนก็อยากกินก๋วยเตี๋ยวของคุณยายต่อ จึงขอเข้าไปเรียนกับท่าน
          โดยสาขาแรกเราใช้เวลาเตรียมการประมาณ 1-2 เดือน เพราะเป็นความบังเอิญมากๆ ที่ได้ทำเลตรงนั้น และก่อนหน้านี้ แพร ยังได้เรียนทำอาหารฝรั่งเศสที่ “เลอ กอร์ดอง เบลอ” ซึ่งแม้จะไม่ใช่ทำอาหารไทย แต่ก็ได้เรียนรู้เทคนิควิธีการ ยืนยันได้ว่าเราชอบทำอาหารจริงๆ
          ขณะที่ พลอย บอกว่า ก่อนหน้านั้น ทำงานเป็นกราฟฟิก ดีไซเนอร์ ในบริษัทโฆษณาแห่งหนึ่ง แต่มีจุดเปลี่ยนจากที่ตัวเองเคยได้รับอุบัติเหตุ ทำให้ในช่วงพักงาน ได้มีเวลาอยู่กับตัวเองและได้คิด คือเราต้องทำอะไรในสิ่งที่ชอบ อย่าไปเสียเวลากับอย่างอื่น และส่วนตัวแล้วก็เป็นคนชอบกิน ชอบทำอาหาร คือมีความชื่นชอบด้านอาหาร และบ้านเราก็เป็นบ้านที่ชอบกินกันอยู่แล้ว
          “ความจริง ก่อนหน้านี้พลอยไม่กล้าออกจากงานประจำ ก็คงเหมือนกับคนสมัยก่อนที่คิดว่าการมีงานประจำทำ จะมีความมั่นคงกว่า แต่เมื่อได้มีเวลาพัก ทำให้คิดว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้น ไม่ได้ตอบ passion ของเรานัก จึงออกมา และมาเปิดร้านเบเกอรี่ของตัวเอง พอแพรมาบอกว่าอยากทำร้านก๋วยเตี๋ยว เลยเข้ามาทำร่วมกัน และตอนนั้นก็คิดขึ้นมาทันทีว่าชื่อร้านจะต้อง วัวนู้ด นะ” พลอย เล่า

 

“อาหารอร่อย-รสชาติเดียว”


          เมื่อมีคำถามว่าทำไมเป็นชื่อ “วัวนู้ด” พลอย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลด้านการตลาดและแบรนดิ้งของร้าน ขยายความว่า คือเราอยากให้ชื่อร้านที่คนได้ยินแล้ว ค่อนข้าง “โดนใจ” และเกิดการตั้งคำถามขึ้นมาด้วย ซึ่งทุกคนก็จะถามเราแบบนี้ว่าทำไมถึงใช้ชื่อนี้ อีกอย่างก็คิดว่าเป็นชื่อที่แปลกดี และยังสามารถเล่นกับคาแรกเตอร์ได้อีก คือแบบโลโก้เป็นวัว “เซ็กซี่” ซึ่งพลอยออกแบบโลโก้เองด้วย จึงคิดว่า ชื่อกับโลโก้ยังสามารถเล่นอะไรต่อไปได้อีกมาก
          สำหรับร้าน “วัวนู้ด” มองกลุ่มเป้าหมายลูกค้า เป็นกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ ที่ทำงานมาได้ระยะหนึ่งแล้ว รวมไปถึงชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย ซึ่งคนกลุ่มนี้ชอบที่จะกินอาหารท้องถิ่น แต่อาจจะไม่อยากไปนั่งกินอาหารสตรีทฟู้ด ร้านเราจึงเสนออาหารที่กินง่าย สะอาด อยู่ในห้องแอร์ แต่เราก็เสนออาหารที่มีรสชาติเข้มข้น และใช้วัตถุดิบที่ดี ส่วนเนื้อที่เรานำมาใช้ ก็จะมีให้เลือกในแบบธรรมดาและพรีเมียม เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่จับต้องได้
          “เนื้อวัวที่เรามาใช้เป็นสายพันธุ์ไทย-เฟรนช์ ซึ่งคัดเลือกมาแล้ว พบว่าเหมาะสำหรับก๋วยเตี๋ยวแบบไทยๆ คือจะมีมันแทรกนิดหน่อย แต่ไม่มากนัก แต่ที่เด่นของทางร้านก็คือ เนื้อกรอบ จะเป็นส่วนหน้าขาและมีเอ็นแทรก ซึ่งจะกรุบกรอบและไม่เหนียว แต่เราก็จะคัดมาให้ทั้งในแบบพรีเมียม และธรรมดา ซึ่งจะมีราคาย่อมเยาลงมาหน่อย แต่ก็จะเป็นเนื้อกรอบเหมือนกัน เพียงชิ้นจะเล็กลง นั่นก็เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารของเราได้ด้วย และไม่ว่าลูกค้าจะเลือกเนื้อแบบไหน แต่ลูกค้าก็จะได้น้ำซุปที่รสชาติเข้มข้น หอมเครื่องเทศในแบบเดียวกันหมด”
          เจ้าของร้านวัวนู้ด บอกให้ฟังด้วยว่า การทำร้านอาหารสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ อาหาร เราอยากให้ทุกคนได้มาลอง ได้มากินแล้วรู้สึกดี รู้สึกว่าอร่อย ซึ่งจะเน้นในเรื่องนี้เสมอ เพราะไม่ว่าจะบริการดีแค่ไหน หรือจะอยู่ทำเลดีแค่ไหนก็ตาม แต่หัวใจสำคัญคือที่อาหารต้องอร่อย และสม่ำเสมอในรสชาติ
          “เราต้องการสื่อข้อความเหล่านี้ไป เราจึงเน้นการสื่อสารไปทางสื่อโซเชียล ออนไลน์ต่างๆ ในชื่อเดียวกับร้านคือ Wuanood ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์ เหมือนกับเราสร้างคอมมูนิตี้เล็กๆ ขึ้นมา รวมทั้งเล่าถึงสตอรี่ ที่มาที่ไปของอาหารของเรา ให้พวกเขาได้รับทราบ ตลอดจนได้ลุ้นไปกับเราว่าเราค่อยๆ เติบโตไปอย่างไร ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่เรา 2-3 คนเท่านั้นที่จะสื่อสารให้กับลูกค้าได้ แต่พนักงานของเราทุกคนก็จะได้รับการอบรมในเรื่องเหล่านี้ สามารถพูดคุย บอกเล่ากับลูกค้าได้เช่นกัน เพราะทุกคนก็เป็นเหมือนเจ้าของร้านเช่นเดียวกัน”
          ส่วนการขยายธุรกิจในอนาคตนั้น มองว่าจะทำธุรกิจภายใต้แบรนด์ “วัวนู้ด” โดยจะสร้างให้มีความเข้มแข็ง ไปได้ไกลๆ และอาจจะมีโปรดักส์ไลน์อื่นๆ เพิ่มเติม

 

“อาหารอร่อย-รสชาติเดียว”


          การขยายสาขา เราจะไม่เน้นขยายทีละมากๆ แต่จะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างสาขาแรก พอทำได้มา 1 ปีแล้วประสบความสำเร็จดี ทางร้านก็ขยายธุรกิจในแบบการรับส่งถึงที่ (เดลิเวอรี่) รวมถึงการรับงานนอกสถานที่ (แคเตอริ่ง) ด้วย ซึ่งเราก็ทำได้แล้วตามเป้าหมายในปีที่สอง จนล่าสุดคิดว่าพร้อมที่จะเปิดร้านวัวนู้ดสาขาสองแล้ว เราก็ดำเนินการ ซึ่งมองว่าธุรกิจร้านอาหาร เป็นธุรกิจที่เติบโตได้เรื่อยๆ ตามการเติบโตของจำนวนประชากรอยู่แล้ว และร้านเราอยู่ในระดับกลางไปถึงบน ขณะที่ตลาดร้านอาหารในกลุ่มนี้ ยังมีช่องว่างที่จะทำให้เราสามารถเข้าไปแทรกในธุรกิจนี้ได้ จึงอยากจะเข้าไปแชร์ในส่วนนี้ด้วย
          “ในความคิดเรา คือจะเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ขยายตัวตามศักยภาพ ซึ่งความยากสำหรับสาขาแรกคือ ทำอย่างไรให้คนชื่นชอบ เมื่อได้กินอาหารในร้านเราแล้ว เขากลับเข้ามาอีก ส่วนความยากสาขาที่สอง คือทำอย่างไรที่จะให้ทั้งสองร้านเหมือนกัน มีมาตรฐานเดียวกัน คือแพรไม่อยากให้เกิดการเปรียบเทียบว่ากินร้านนี้อร่อยมากกว่าหรือน้อยกว่า ซึ่งตรงนี้คือความยาก ดังนั้น สูตรต้องเป๊ะ รสชาติต้องแม่น แต่หากสามารถจัดทำระบบได้ดีแล้ว มีความมั่นคงแล้ว การที่จะเปิดสาขาที่ 3, 4 หรือ 5 ก็เชื่อว่าจะทำได้ง่ายขึ้น แต่ตอนนี้ ร้านเรายังอยู่ในขั้นของการจัดทำระบบที่ว่านี้อยู่ ทำให้ยังไม่พร้อมที่จะขยายมากนัก” แพร กล่าว
          อย่างไรก็ตาม หากมองถึงความตั้งใจ ก็คิดอยากขยายสาขาได้มากๆ หากสามารถทำได้ตามทุนที่เรามี รวมถึงการขยายสาขาไปต่างประเทศด้วย เพราะเรามีลูกค้าชาวต่างชาติ ที่เขาชอบและติดต่อเราว่าอยากไปเปิดร้านที่บ้านเขาหรือไม่ ซึ่งเราก็คิดนะ แต่ก็ต้องการวางระบบของทางร้านของเราให้มั่นคงก่อน โดยการจะขยายไปต่างประเทศ มองว่าคงไปในรูปแบบของแฟรนไชส์ เช่นที่ สิงคโปร์ และมาเลเซีย เป็นต้น
          นอกจากนี้ ความยาก ในการทำธุรกิจร้านอาหารก็คือ การบริหารคน คือตอนทำงานประจำความยากคือการที่เราต้องทำงานที่รับผิดชอบให้ได้ แต่พอมาเปิดธุรกิจของตัวเอง ความยากอยู่ตรงที่เราจะบริหารคนอย่างไรที่จะให้เขาทำในสิ่งที่เราต้องการ ให้ทุกคนทำออกมาให้ได้ผลในอย่างที่ต้องการ ให้เขารู้สึกรักงาน ไม่ใช่ทำเพราะถูกบังคับ เพราะคิดว่าอยากให้อยู่กันแบบสบายใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งเราก็อยู่กับเป็นแบบครอบครัว
          “เราก็ได้คุณแม่มาช่วยให้คำแนะนำตลอด อย่างก่อนหน้านี้ ทำงานประจำ พลอยอาจจะยังไม่มีทักษะการบริหารคนเท่าไร แต่คุณแม่ท่านทำธุรกิจอยู่แล้ว ท่านก็จะมาสอนวิธีการพูด การบริหารคน ซึ่งท่านก็ให้คำปรึกษามาตลอด” พลอย กล่าว
          ทั้งนี้ หากมองกระแสการสร้างธุรกิจของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ นั้น พลอย และแพร ในฐานะคนรุ่นใหม่ บอกว่า น่าจะเกิดจากการที่ปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสาร และหาข้อมูลได้หลากหลายและง่ายมากขึ้น ไม่ว่าจะต้องการข้อมูล ความรู้ใด ก็สามารถค้นหาได้รวดเร็ว และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การจะออกจากงานประจำเพื่อมาทำธุรกิจส่วนตัวนั้น สิ่งสำคัญคือ การทำให้ผู้ใหญ่เห็นความตั้งใจจริงของเราด้วย และทำอย่างจริงจังเพื่อให้ท่านมีความเชื่อใจ และมั่นใจว่าเราสามารถทำได้
          “ให้ท่านมั่นใจว่าเรามีความตั้งใจริง ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง และการที่ทางบ้านเขาเห็นว่าเราสนใจในเรื่องอาหารจริงๆ เขาก็จะคอยสนับสนุน เชื่อว่าเราทำได้ และไม่ได้ทำตามเทรนด์ในปัจจุบัน” แพร กล่าว
ขณะที่ พลอย เสริมด้วยว่า เราจะต้องมี passion มากพอ ซึ่งพลอยเชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้ เพราะหากเรามีความชื่นชอบอะไรมากๆ แล้ว เราก็อยากจะเรียนรู้ในสิ่งนั้นเพิ่มเติม ทั้งการหาข้อมูล การเรียนต่อ ที่สำคัญคือการลงมือทำอย่างจริงจัง

         

“อาหารอร่อย-รสชาติเดียว”

 

          3 สาว “วัวนู้ด” แบ่งหน้าที่ลงตัว
          “เป็นความภาคภูมิใจค่ะ เหมือนกับเราที่เริ่มจากศูนย์จริงๆ ค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมีคนชื่นชอบ คือไม่ใช่แค่เพื่อนมากินแล้วชมว่าอาหารเราอร่อย แต่คนที่เขาชื่นชอบเป็นลูกค้าจริงๆ ที่มาแล้วและกลับมาอีก มีลูกค้าประจำสั่งกลับบ้าน หรือมาผูกปิ่นโตกับเราเลย และก็มาเรื่อยๆ จึงคิดว่านี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการ และทำให้เราได้ภูมิใจ ซึ่งก็อยากให้พนักงานของเราทุกคนภูมิใจด้วย” แพร หนึ่งในผู้ก่อตั้งร้านวัวนู้ด กล่าว
          สำหรับร้าน “วัวนู้ด” นอกจาก “แพร” นริศรา ซึ่งเป็นคนริเริ่มที่จะเปิดร้านอาหารแห่งนี้ขึ้นมาแล้ว ยังมีพี่สาวอีก 2 คนที่เข้ามาช่วยกันก่อร่างสร้างธุรกิจร้านอาหารให้เป็นรูปเป็นร่าง ตามความถนัดของแต่ละคนด้วย
          โดย “แพร” นริศรา น้องสาวคนเล็ก ดูแลรับผิดชอบด้านอาหารและการบริหารร้าน จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับปริญญาโท ด้านการบริหารและการตลาด มหาวิทยาลัย Exeter ในอังกฤษ รวมทั้งมีประสบการณ์ในการเข้าเรียนหลักสูตรอาหารฝรั่งเศส จากสถาบัน เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต
          “พลอย” สมิตดา คนกลาง ดูแลด้านการตลาดและทรัพยากรบุคคล จบการศึกษาปริญญาตรีมหาวิทยาลัย Loyola Marymount ด้านกราฟฟิกดีไซน์ ปัจจุบันยังมีร้านเบเกอรี่ ออนไลน์ ในชื่อ tadaaakitchen อีกด้วย
          ส่วน “พิ้งค์” ชลิตา พี่สาวคนโต ซึ่งจบการศึกษาทางด้านบริหารการเงิน จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท บริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ที่เข้ามาช่วยดูแลในด้านการเงินและการลงทุน และยังมีธุรกิจส่วนตัวคือชุดกีฬากับเพื่อนสนิทภายใต้แบรนด์ wakingbee
          “เราช่วยกันสร้างขึ้นมา ซึ่งพลอยเองจะดูในด้านแบรนดิ้งมากกว่า ส่วนด้านอาหาร รู้อยู่แล้วว่าแพรจะมีความชำนาญมากกว่า ซึ่งเขาเรียนรู้วิธีการมา เช่น การลวกเส้นก๋วยเตี๋ยว ส่วนพลอยก็จะดูแบรนดิ้ง และช่วยคอมเมนท์เรื่องอาหาร มีอะไรที่คิดว่าโอเคเราก็จะมาแชร์ไอเดียกัน ส่วนพี่สาวอีกคน พี่พิ้งค์ เขาเรียนด้านการเงินมาโดยตรง ก็จะมาเป็นที่ปรึกษาให้เรา และช่วยเราดูในด้านนี้” พลอย กล่าว
          เรียกได้ว่าแบ่งหน้าที่กันลงตัว...ในแบบฉบับการสร้างธุรกิจของคนรุ่นใหม่ครอบครัวเดียวกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ