ข่าว

ทิ้งชีวิตคนเมืองสู่ "ชาวนามืออาชีพ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“อยากเป็นต้นแบบในการปลูกข้าวกินเองและอยู่อย่างพอเพียง อย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสไว้ ซึ่งเราต้องทำเท่าที่ทำได้จึงเริ่มจากปลูกกินเองก่อนและแจกญาติด้วย”

เรื่อง : กุมุทนาถ สุตนพัฒน์

          แม้จะเป็นลูกชาวนามาตั้งแต่เกิด พ่อแม่มีอาชีพทำนาบนพื้นที่กว่า 300 ไร่ แต่เป็นวิธีการทำนาแบบดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการปลูก เก็บเกี่ยวจนถึงการขายให้โรงสี จึงไม่ได้ทำให้การหันกลับมาเริ่มต้นอาชีพเกษตรกรปลูกข้าวของนางพยาบาลอย่าง “สายพิน ชูเชื้อ” สานต่อได้ง่ายนัก แม้ปัจจุบันจะสามารถสร้างแบรนด์ “บ้านข้าวหอม” ให้เป็นที่รู้จัก และได้รับการคัดเลือกให้เป็นต้นแบบผลิตข้าวของ จ.สิงห์บุรี และเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอท็อป)  ต.หัวไผ่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี

 

ทิ้งชีวิตคนเมืองสู่ "ชาวนามืออาชีพ"

          สายพินเล่าว่า ครอบครัวของเธอทำนามาตั้งแต่เกิด แม้จะรายได้ไม่แน่นอน เพราะราคาข้าวขึ้นๆ ลงๆ เอาแน่นอนไม่ค่อยได้ แต่พ่อแม่สามารถส่งลูก 3 คนเรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีได้ทั้งหมด จนกระทั่งพ่อเสียชีวิต เหลือแม่ทำนาเพียงคนเดียวก็มองว่าคงไม่ไหวแน่จึงลาออกจากนางพยาบาลที่ยึดเป็นอาชีพมานานกว่า 25 ปี เพื่อรับช่วงการทำนาต่อในปี 2556 ซึ่งเมื่อชีวิตพลิกผันให้ต้องกลับมาเป็นชาวนาเต็มตัว เธอจึงมีเป้าหมายที่จะทำนาเชิงคุณภาพ ไม่ใช่ทำนาในแบบเก่าๆ เดิมๆ อีกต่อไป โดยเริ่มจากการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เพื่อบริโภคเองภายในครอบครัวและเครือญาติก่อน 

          การเริ่มต้นอาชีพใหม่นี้เธอมีสามีที่ทำงานเป็นวิศวกรมาช่วยเป็นเพื่อนคู่คิด ช่วยลงมือและลงแรง มีการลองผิดลองถูกด้วยกัน ซึ่งเป็นการนำเอาประสบการณ์และความรู้จากทั้งอาชีพพยาบาล คือ การเน้นใช้ความรู้ด้านโภชนาการและความสะอาดมาใช้ ขณะที่อาชีพวิศวกรในโรงงานของสามีก็ทำให้มีความรู้ด้านเครื่องจักรต่างๆ สามารถนำมาใช้ยกระดับการทำนารูปแบบใหม่ ถือเป็นข้อดีจากการที่เธอและสามีเคยทำงานประจำมาก่อนแล้วสามารถนำมาปรับใช้กับการทำนา

 

 

ทิ้งชีวิตคนเมืองสู่ "ชาวนามืออาชีพ"

          “คิดว่าคนหนึ่งคนสามารถปรับเปลี่ยนอาชีพกันได้ ซึ่งเรามีต้นทุนจากพ่อแม่ที่อยู่ในวงการทำนามาช่วยผลักดัน เมื่อต้องทำนาเองก็ทำได้ เพราะเหมือนเราก็มีตัวตนอยู่แล้ว สามารถเปลี่ยนมาเป็นเกษตรกรได้ และเราก็อยากเป็นต้นแบบในการปลูกข้าวกินเอง อยากอยู่อย่างพอเพียงอย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสไว้ ดังนั้น เราจึงทำเท่าที่ทำได้ เริ่มจากการปลูกข้าวกินเองและแจกญาติ เลือกปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เนื่องจากต้องการเลือกข้าวที่มีคุณภาพ อันนี้เห็นมาจากมูลนิธิเพื่อพึ่งพาฯ” 

          สายพินบอกว่า การเริ่มต้นชีวิตใหม่ถือว่ายากพอสมควรกว่าจะฝ่าด่านมาได้ เพราะมีความยากตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงการหาตลาดรองรับ โดยเฉพาะเรื่องการทำตลาดถือว่าเป็นจุดอ่อนอย่างมาก เนื่องจากไม่เคยทำมาก่อน แต่ก็พยายามหาข้อมูลและเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา โดยเข้าร่วมอบรมกับหลายๆ หน่วยงานเมื่อมีโอกาส เพื่อตักตวงความรู้ให้มากที่สุด นอกจากนี้ในแต่ละวันยังอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับข้าวและค้นหาข้อมูลต่างๆ จากอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมอยู่เสมอ

 

ทิ้งชีวิตคนเมืองสู่ "ชาวนามืออาชีพ"

          สำหรับขั้นตอนการทำนาที่เปลี่ยนจากรูปแบบเดิมเป็นการทำนาคุณภาพนั้น เธอเล่าว่าเป็นการทำแบบค่อยๆ ปรับเปลี่ยนจากแบบเดิมไป โดยยังยึดฤดูกาลที่พ่อแม่ลงมือทำไว้เช่นเดิมคือ ทำนาวันแม่ เก็บเกี่ยวันพ่อ เริ่มต้นจากการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ 3 ไร่ ก่อนจะเพิ่มเป็น 10 ไร่ 20 ไร่ จนปัจจุบันอยู่ที่ 50 ไร่ และยังคงปลูกข้าวหอมมะลิขาวอีก 30 ไร่ มีการขุดบ่อน้ำขนาดใหญ่ไว้ใช้ทำการเกษตรตลอดปี นอกจากนี้ยังมีผักและผลไม้ที่ปลูกไว้บริโภคภายในครอบครัว มีการแปรรูป มีโรงสีขนาดเล็กไว้สีข้าวเอง

          แน่นอนว่าความพยายามปลูกข้าวคุณภาพย่อมทำให้ต้นทุนสูงกว่าการปลูกข้าวแบบใช้สารเคมี พี่สายพินอธิบายว่า แม้การทำเกษตรอินทรีย์จะจ่ายค่าปุ๋ยและสารเคมีต่ำ เพราะไม่ได้ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช แต่ก็มีต้นทุนแรงงานเข้ามาแทน โดยหากใช้สารเคมีจะลงทุนไม่เกิน 3,000 บาท ส่วนการใช้แรงงานกำจัดวัชพืชจะต้องจ่ายค่าจ้างแรงงานสูงถึง 30,000 บาท ขณะที่ผลผลิตเมื่อเทียบกับข้าวเคมีจะได้ผลผลิตไร่ละ 1,000 กิโลกรัม แต่ข้าวปลอดเคมีจะได้ผลผลิตไร่ละ 500 กิโลกรัม จึงทำให้ราคาข้าวปลอดสารเคมีแพงกว่าข้าวเคมีทั่วไป

ทิ้งชีวิตคนเมืองสู่ "ชาวนามืออาชีพ"

          “พี่พยายามเป็นต้นแบบการปลูกข้าวคุณภาพแม้จะมีต้นทุนสูงกว่าข้าวเคมี แต่สามารถขายได้ในราคาที่ดี ซึ่งการทำงานแวดวงอื่นมาก่อนทำให้เรามีโอกาสเห็นโลกกว้างกว่าชาวนาทั่วไป และนอกจากการทำนาคุณภาพแล้วยังมองไกลไปถึงการบริหารจัดการข้าวด้วย โดยเรามีโกดังเก็บข้าวประมาณ 20 ตัน เพื่อจัดและจำหน่ายให้ลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคโดยตรงได้บริโภคข้าวคุณภาพตลอดทั้งปี แต่จะไม่ขายให้พ่อค้าแม่ค้า เพราะไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งยังขายในราคาเป็นธรรม”

          เมื่อสามารถผลิตข้าวที่มีคุณภาพได้แล้วก็ต้องมีการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจากการที่เรามีข้าวหอมมะลิขาว ข้าวหมอมะลิแดง และข้าวไรซ์เบอร์รี่ ก็จะมีการแยกบรรจุภัณฑ์ของแต่ละชนิด และยังนำข้าวสาร 3 สีมารวมกันใส่ในถุงเดียวกันอีก ถือว่าได้รับความสนใจจากลูกค้าอย่างดี ลูกค้าซื้อเป็นของฝาก เป็นของชำร่วยจำนวนมาก รูปแบบของบรรจุภัณฑ์ก็เป็นแนวอีโค ใช้กระดาษที่มีคุณสมบัติย่อยสลายได้ จะไม่ใช้คลิปเย็บ เลือกใช้กระดาษหรือกาวแทน แต่จะใช้ใช้วิธีการสอดกระดาษให้ยึดกันเอง โดยนำแนวคิดมาจากการเดินสำรวจผลิตภัณฑ์ แพ็กเกจจิ้งสินค้าต่างๆ ตามห้างสรรพสินค้า และนำมาประยุกต์ใช้

ทิ้งชีวิตคนเมืองสู่ "ชาวนามืออาชีพ"

          สำหรับช่องทางการจำหน่ายนั้นจะเปิดจำหน่ายที่บ้าน ร้านค้าย่อยใน จ.สิงห์บุรี ล่าสุดได้จำหน่ายผ่านสังคมออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก ทำให้คนสามารถเข้ามาเลือกชมและสั่งซื้อได้สะดวกขึ้น ขณะเดียวกันก็ออกบูธตามงานต่างๆ ของหน่วยงานราชการ ถือเป็นการเปิดตัวและเปิดแบรนด์ทำให้คนรู้จักมากขึ้น พร้อมกับการบอกปากต่อปาก ส่วนใหญ่ลูกค้าจะมาจากการที่มีความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าว จากการที่เธอเคยเป็นคนทำงานมาก่อนและควบคุมการผลิตเองทุกขั้นตอน

          ผลจากความมุ่งมั่นในการทำนาคุณภาพทำให้แปลงนาของสายพินได้มาตรฐานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (จีเอ็มพี) และได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) ซึ่งก็จะมีผู้ใหญ่เดินทางมาดูแปลงนาด้วยตัวเอง เพื่อจะดูว่ามีการดำเนินการต่างๆ จริงหรือไม่ ซึ่งความแตกต่างของบ้านข้าวหอมคือมีธรรมาภิบาล เปิดกว้าง พร้อมเปิดแปลงนาให้มีการตรวจสอบว่าได้คิดและลงมือทำเอง

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจะมีกลุ่มเครือข่ายข้าวเพื่อสุขภาพ จ.สิงห์บุรี จะมีองค์ความรู้ เจ้าหน้าที่จะมีงานวิจัยในการเพิ่มมูลค่าเพิ่มของข้าว มีการต่อยอดข้าว รวมถึงสนับสนุนด้านเงินทุนด้วย ส่วนการสร้างแบรนด์ก็จะไปอบรมโครงการผู้ประกอบการรายใหม่กับกระทรวงอุตสาหกรรม

          “อุปสรรคสำคัญคือ ตลาดข้าวคุณภาพยังไม่เปิดกว้างมาก แต่หากไม่คิดเปลี่ยนก็ทำไม่ได้ เพราะราคาข้าวระดับนี้ต้องหันมาทำนาคุณภาพมากกว่าทำนาปริมาณ ส่วนเงินทุนก็เป็นสิ่งสำคัญ ในช่วงแรกก็ลงทุนเอง ค่อยๆ ทำตามกำลังที่มี จะไม่ทำอะไรเกินตัว เราไม่เพียงคิดแค่การทำนา แต่ยังได้ต่อยอดธุรกิจ ด้วยการเปิดโฮมสเตย์ รองรับลูกค้าที่เดินทางไกลมาจากต่างจังหวัด เพื่อซื้อข้าวจากนาผืนนี้ โดยจัดสรรพื้นที่บ้านทรงไทย 2 ห้อง พร้อมกับจัดกิจกรรมสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนรู้การทำนา และเที่ยวชมการดำเนินงาน”

          สายพินบอกว่า เป้าหมายในอนาคตไม่ได้กำหนดอะไรที่ชัดเจน ตอนนี้คงทำนาในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ ก่อน ไม่ได้เร่งขยายพื้นที่ทำนาเพิ่มขึ้น แต่ต้องการรักษามาตรฐานและคงคุณภาพที่ดีไว้ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจ พยายามเก็บลูกค้าที่มีอยู่ให้ได้ ส่วนลูกค้าใหม่ก็มักจะมาจากการบอกต่อจากลูกค้ารักสุขภาพ เมื่อมีความมั่นใจก็จะเข้ามามากขึ้น ซึ่งไม่ได้ตั้งใจทำเป็นธุรกิจ แต่อยากผลิตข้าวเพื่อสุขภาพให้คนที่รักสุขภาพจริงๆ

          เธอทิ้งท้ายว่าอาชีพชาวนาที่พ่อแม่ทำมานั้น มีบุญคุณกับเธออย่างมาก เมื่อถึงเวลาก็ต้องทำให้เป็นอาชีพ จะปลูกฝังให้ลูกได้ตระหนักเช่นกัน และมั่นใจว่าการทำนาจะสร้างเป็นอาชีพให้ลูกได้ในอนาคต และเชื่อว่าลูกจะสามารถต่อยอดได้และดีกว่าที่เธอทำไว้อย่างแน่นอน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ