ข่าว

Eco Action Arts โมเดลผักตบชวา ประตูบานใหม่ของงานศิลปะไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หัตถกรรมจักสานจากผักตบชวา ในรูปแบบที่แปลกใหม่ ผ่านศิลปินชื่อ “เก่ง” นพพร พลวิฑูรย์ ในรูปแบบของแอ็กชั่นโมเดล นาม “Eco Action Arts"

                       เมื่อกล่าวถึงงานฝีมือหรืองานทำมือในประเทศไทยแล้ว งานหัตถกรรมจักสาน เป็นหนึ่งในงานที่เป็นที่รู้จักและนิยมผลิตกันอย่างแพร่หลาย สร้างรายได้เสริมให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ โดยงานจักสานนั้น ก็มีวัสดุที่สามารถนำมาใช้ได้มากมาย นำมาผลิตได้ทั้งของใช้และของที่ระลึก ชิ้นงานแต่ละชิ้นต่างต้องใช้ฝีมือในการสร้างและใช้เวลาในการทำที่ยาวนานจึงจะได้ผลงานแต่ละชิ้น แต่ปัจจุบันผลงานหัตถกรรมเหล่านี้กำลังได้รับความสนใจจากผู้ซื้อน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ราคาของผลงานตกลงไปตามความต้องการของตลาดที่ลดลง ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ที่แสวงหาทางออกให้งานจักสานไทยกลับมาก้าวตามสมัยอีกครั้ง

                       ครั้งนี้ขอนำผู้อ่านมารู้จักกับงานหัตถกรรมจักสานที่ทำจากผักตบชวา ในรูปแบบที่แปลกใหม่และแตกต่าง ผ่านศิลปินชื่อ “เก่ง” นพพร พลวิฑูรย์ ผู้นำเสนองานสานผักตบชวาในรูปแบบของแอ็กชั่นโมเดล นาม “Eco Action Arts" (อีโค แอ็กชั่น อาร์ตส์) ที่จะมาเปิดประตูบานใหม่ของงานจักสาน ประยุกต์งานหัตกรรมมาผนวกกับศิลปะสมัยใหม่ ให้งานจักสานไทยกลับมาโลดแล่นและเป็นที่รู้จักในอีกรูปแบบหนึ่ง

                       ความเป็นมาของ “โมเดลผักตบชวา” เป็นอย่างไร นพพร ผู้ได้รับฉายาว่า “นักปั้นพืช” เล่าว่า ก่อนจะมาทำ “โมเดลผักตบชวา” เคยทำธุรกิจส่วนตัวเกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์มาก่อน จนถึงช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ธุรกิจก็มีปัญหา และยังนำเงินส่วนหนึ่งไปเล่นหุ้น จนสุดท้ายพบกับความล้มละลาย จึงกลับมาคิดว่าชีวิตน่าจะมีอะไรมากกว่าสิ่งที่เคยทำมา จึงมองหามุมมองใหม่ๆ ให้ชีวิตตัวเอง มาวันหนึ่งได้ไปเดินที่สวนจตุจักร เจอป้าคนหนึ่งกำลังทำงานจักสานเป็นรูปช้างและยีราฟ ขายราคาตัวละ 20 บาท ซึ่งมองว่าถูกเกินไป เมื่อนึกถึงเวลาและฝีมือในการสร้างสรรค์ผลงานแบบนี้ ด้วยความอยากรู้นั่นเองจึงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับผักตบชวาไปจนถึงงานจักสานด้วยตัวเอง ทำให้รู้ว่างานจักสานในปัจจุบันกำลังเสื่อมความนิยม เพราะมีรูปแบบเดิมคล้ายๆ กันหมด ทำให้คนไม่เห็นถึงความสำคัญและไม่ได้รับรู้ถึงวิธีการทำว่ายากแค่ไหน จึงคิดจะสร้างผลงานใหม่ๆ ในรูปแบบของตัวเองขึ้นมา เพื่อให้คนได้กลับมาสนใจและเห็นคุณค่าของงานจักสานอีกครั้ง

                       “ถ้าสมมุติว่าผมสานกระเป๋า ผมก็ควรสานให้กระเป๋าใบนั้นออกมาเป็นรูปแบบของตัวเอง นำเสนอในสไตล์ที่ทันสมัยและเป็นที่น่าสนใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพราะหากทำตามแบบเดิมๆ ก็เหมือนๆ กันหมด หมดสมัยแล้ว เริ่มขายไม่ได้ ราคาก็ตก ผมจึงตัดสินไปเรียนรู้การทำงานจักสานที่ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร เมื่อเรียนรู้ด้านพื้นฐานแล้ว ก็รู้สึกว่างานเหล่านี้ สามารถนำไปประยุกต์ได้มากกว่าขอบเขตที่มีอยู่ จึงข้ามจากทำของใช้อย่างกระเป๋า ไปลองทำงานในรูปแบบของประติมากรรม”

Eco Action Arts โมเดลผักตบชวา ประตูบานใหม่ของงานศิลปะไทย

                       นพพร เล่าต่อว่า งานประติมากรรมที่เลือกนำเสนอเป็นรูปแบบของ Acton Model (แอ็กชั่นโมเดล) ด้วยมองว่าการนำเสนอผลงานแบบนี้จะทำให้กลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่หันกลับมาสนใจงานมากขึ้น อีกทั้งยังไม่ไปซ้ำกับของที่มีอยู่ทั่วไป จนถูกเหมารวมไปกับพวก Mass Products (แมสโปรดักส์) ที่สามารถผลิตซ้ำมาวางขายเป็นจำนวนมาก

                       “ผมไม่อยากให้มองว่างานที่ผมทำมาเป็นเหมือนแค่ของชำร่วยที่มีขายทั่วไป ชิ้นงานแต่ละชิ้น ผมพัฒนารูปแบบการสานขึ้นมาเอง จากรูปแบบพื้นฐานที่มีการสอนทั่วไป จนได้ออกมาเป็นแขนขาไปจนถึงรูปร่างลำตัว ซึ่งในแต่ละส่วน ผมก็วางลวดลายของผักตบชวาให้ดูเป็นมัดของกล้ามเนื้อลงไปด้วย ทำให้ผลงานทุกชิ้น มีลักษณะเฉพาะของตัวเองและไม่สามารถทำซ้ำหรือเลียนแบบได้”

                       แต่แค่นั้นยังไม่พอ เพราะนพพรยังต้องการให้โมเดลผักตบชวา เป็นงานศิลปะที่มีคุณค่าทางจิตใจคู่กันไปด้วย จึงพยายามใส่เรื่องราวต่อๆ ลงไปให้คนได้คิดตาม ทำให้คนเห็นว่าผลงานที่สร้างมา มีเป้าหมายมากกว่าที่จะเป็นแค่การขายของ

                       “ผมเชื่อว่างานศิลปะอยู่ที่มุมมองของคน ไม่จำเป็นต้องศึกษาเบื้องลึกอย่างจริงจังขนาดนั้น ผมรู้ถึงพื้นฐานของสิ่งที่จะทำ แล้วจึงสร้างผลงานออกมาตามความรู้สึกโดยที่ไม่ต้องร่างแบบ เช่น ผลงานที่เป็นนักมวย ผมต้องมองว่าอะไรคือพื้นฐานของมัน อย่างการต่อสู้และท่วงท่า เสร็จแล้วจึงนำเสนอออกมาในรูปแบบที่ผมต้องการ พร้อมใส่แนวคิดและแง่มุมของตัวเองลงไปด้วย”

Eco Action Arts โมเดลผักตบชวา ประตูบานใหม่ของงานศิลปะไทย

                       เมื่อสามารถสร้างผลงานได้แล้ว นพพรก็มีความต้องการที่จะโชว์ผลงานของตัวเองออกไปให้คนได้รับรู้ จึงไปเช่าที่ในตลาดนัด โดยไม่ได้ขายอะไรเลย ตั้งใจไปนั่งทำผลงานให้คนที่ผ่านไปมาได้เห็นเฉยๆ แต่ก็มีคนจาก ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ มาพบเข้า จึงชักชวนให้นำผลงานไปโชว์ที่งานของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ในนามของ “Eco Action Arts” 

                       นอกจากนี้ยังมีคนเอาเรื่องราวของโมเดลผักตบชวา ไปเสนอจนได้คัดเลือกให้ลงในหนังสือ "LivingThai" ซึ่งหนังสือดังกล่าว เป็นหนังสือฟรีที่วางตามศูนย์ราชการต่างๆ และสนามบิน ทำให้ผลงานของอีโค แอ็กชั่น อาร์ตส์ ได้เป็นที่รู้จักของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้มีสื่อและออแกไนเซอร์ให้ความสนใจเข้ามาติดต่อ ให้ไปโชว์ผลงานและออกรายการต่างๆ อย่างรายการ “บันทึกไทย Thailand Book of Records” จากนั้นเรื่องราวของอีโค อ็กชั่น อาร์ตส์ และโมเดลผักตบชวา ก็แพร่หลายกันไปแบบปากต่อปาก และตัวของนพพรเองก็ได้รับการเรียกขานกันในวงการว่า “นักปั้นพืช” ​ซึ่งนอกจากงานแสดงต่างๆ ปัจจุบัน นพพร จะอัพเดทผลงานต่างๆ อยู่เสมอผ่านทางเฟซบุ๊ก ecoaction art และอินสตาแกรม ecoactionart

                       “เสียงตอบรับในการออกโชว์ตามงานต่างๆ ของอีโค แอ็กชั่น อาร์ตส์ เป็นไปด้วยดี โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นงานแบบนี้มาก่อน ต่างประหลาดใจที่ผมสามารถนำพืชน้ำอย่างผักตบชวามาสร้างผลงานแบบนี้ได้ เพราะในต่างประเทศแม้จะมีพืชน้ำแต่ก็ไม่มีใครให้ความสำคัญเอามาทำงานโมเดลมาก่อน”

Eco Action Arts โมเดลผักตบชวา ประตูบานใหม่ของงานศิลปะไทย

นพพร กล่าวถึงอุดมการณ์ในการสร้างผลงานว่า 

                       “เจตจำนงของผม คือการนำเสนอศิลปะธรรมชาติ วัตถุดิบในธรรมชาติ ที่คนส่วนใหญ่มองว่าไร้ค่า ความงดงามบนความไม่สมบูรณ์แบบ หรือความไม่สวยงามคือความงามพื้นฐานของธรรมชาติ นั่นเป็นมุมมองของผมผ่านผลงานการปั้นพืช”

                       สำหรับผลงาน “โมเดลผักตบชวา” เริ่มแรก นพพร เคยคิดว่าจะขายในสไตล์เหมือนงาน โอท็อป ทั่วไป แต่เมื่อไปดูงานโอท็อปต่างๆ แล้ว พบว่าถ้าเอางานศิลปะมาขายในรูปแบบนี้ ซึ่งผู้ซื้อไม่ได้มองถึงคุณค่าของศิลปะ แต่มองว่างานเหล่านั้นก็แค่จักสานที่ดูซ้ำๆ เท่านั้น ทำให้ผลงานถูกกดราคา เขาจึงเปลี่ยนใจ มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ขึ้นมา สะสมผลงานนำงานออกไปจัดแสดงในงานแกลลอรี่ต่างๆ เพื่อที่จะผลักดันให้งานจักสานโมเดลผักตบชวา ในนาม “Eco Action Arts” เป็นที่รู้จักในระดับที่กว้างขึ้น ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่มองไปถึงในระดับโลก ให้คนได้เห็นคุณค่าของผลงาน และรู้จักชื่อของผู้สร้างผลงานให้มากขึ้นไปด้วย ซึ่งเมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว ก็จะนำงานเหล่านี้มาส่งต่อไปให้ผู้ชื่นชอบ ในลักษณะของการประมูล ซึ่งในส่วนของการประมูล นี่เองที่จะเป็นส่วนที่ทำรายได้ให้อีโค แอ็กชั่น อาร์ตส์ โดย นพพร เชื่อว่าผลงานแต่ละชิ้นจะสามารถเริ่มต้นการประมูลได้ในราคาถึงหลักหมื่น   

                       "เหตุผลที่ผมไม่ได้ทำขายในทันที เพราะผมตั้งใจที่จะสะสมผลงานให้ผู้คนติดตาม ผมเชื่อว่าแบบนั้น ยั่งยืนกว่า เพราะหากทำมาแล้วขายไปตัวต่อตัวได้เงินมา ทั้งหมดก็จบอยู่แค่นั้น ไม่ได้เป็นที่พูดถึงอะไรกัน คนทำผลงานศิลปะต้องทำให้คนเห็นให้ได้ว่าผลงานของเรามีอะไรดี มีผลงานเพียงชิ้นเดียวที่ผมยอมขาย เพราะผู้ซื้อเดินทางมาจากญี่ปุ่นเพื่อผลงานของผมโดยเฉพาะ ซึ่งขายไปในราคา 7,500 บาท แต่ผู้ชื้อกล่าวว่าผลงานของผมควรมีราคาสูงกว่านี้เสียด้วยซ้ำ ทำให้ผมเชื่อว่าเมื่อผลงานของผมเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในวงกว้างแล้ว ผลงานใหม่ๆ ที่ผมสร้างขึ้นมาในอนาคต จะมีมูลค่ามากขึ้นไปอีกในการประมูล และชื่อของเจ้าของผลงานอย่างผมก็จะถูกพูดถึงด้วยเช่นกัน”

Eco Action Arts โมเดลผักตบชวา ประตูบานใหม่ของงานศิลปะไทย

                       แม้งานศิลปะของอีโค แอ็กชั่น อาร์ตส์ ไม่สามารถสอนกันโดยตรงได้ แต่นพพรเชื่อว่าผลงานเหล่านี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้พบเห็น มีแรงส่งให้คนที่เกิดมุมมองแบบเดียวกัน รู้สึกแบบเดียวกัน นำสิ่งที่ได้เห็นไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ ประยุกต์สร้างผลงานในรูปแบบของตัวเองออกมา ไม่ว่าจะออกมาในแบบแมสโปรดักส์ก็ดี หรือผลงานศิลปะก็ดี ก็จะทำให้งานหัตถกรรมของไทยในรูปแบบใหม่นี้ เป็นที่รู้จักและกระจายกันออกไป ไม่ได้อยู่ที่เพียงใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว

                       “ผมบอกทุกคนที่ได้เห็นผลงานของผมเวลาออกไปจัดแสดงงานในที่ต่างๆ ไม่ว่าคุณได้อะไรจากการดูงานของผมไป คุณอยากไปทำต่อยอดในชีวิต ผมก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะผักตบชวาในบ้านเมืองของเราเยอะมาก ถ้างานของเราสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นๆ สามารถลงมือสร้าง ลงมือทำคิดค้นผลงานใหม่ๆ ออกมาได้ ต่อให้ออกมาสวยกว่าผม ดีกว่าผมก็ล้วนเป็นสิ่งที่ดี” 

                       นั่นคือเรื่องราวของ “นักปั้นพืช” นามว่า นพพร พลวิฑูรย์ ที่ยังคงสานต่ออุดมการณ์ของตัวเองต่อไป เพื่อให้ชื่อ Eco Action Arts และโมเดลผักตบชวา เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดงานหัตถกรรมยุคใหม่ และเผยแพร่งานหัตถกรรมและศิลปะไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

 

*******************************

เรื่อง ฐิติพล ขำประถม

ภาพ วัชรชัย คล้ายพงษ์

******************************

Eco Action Arts โมเดลผักตบชวา ประตูบานใหม่ของงานศิลปะไทย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ