ข่าว

ฟื้นวิถีชุมชนด้วยพลังคนรุ่นใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

                เด็กหนุ่มจากชายขอบประเทศด้านตะวันออกที่เกิดในครอบครัวประกอบธุรกิจร้านอาหาร มีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการตลาดและการบัญชี หวังมาสานต่อธุรกิจของครอบครัวหรือเปิดกิจการเป็นของตัวเอง แม้จะประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ แต่สุดท้ายชีวิตกลับพลิกผันหันมาเอาดีกับการทำงานเพื่อสังคม นำความรู้ที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับแผ่นดินที่ตัวเองรักสำหรับ “จิตตินันต์ ใจสุทธิ์" หรือ เก้า ดีกรีปริญญาโทการตลาด จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปัจจุบันรั้งตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการมูลนิธิรากแก้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ที่มี ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย เป็นประธานมูลนิธิ ในปัจจุบัน

 ฟื้นวิถีชุมชนด้วยพลังคนรุ่นใหม่

              ชีวิตอันพลิกผันของเขาเกิดขึ้นเมื่อครั้งยังเรียนปริญญาตรีและโทที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมฉายแววเป็นผู้นำ เมื่อเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมนักศึกษา ในฐานะประธานชมรมอาสาพัฒนาของมหาวิทยาลัย ระหว่างนี้มีโอกาสออกค่ายอาสาฯ ทำกิจกรรมต่างๆ อาทิ สร้างอาคารเรียน สร้างห้องสมุดและกิจกรรมอื่นๆ ให้แก่โรงเรียนหรือหมู่บ้านในถิ่นทุรกันดารทุกปีในระหว่างปิดภาคการศึกษา ทำให้ได้เห็นและซึมซับวิถีชีวิตของเด็กๆ นักเรียนในชนบท ตรงจุดนี้เองทำให้เกิดการพลิกผันชีวิตครั้งสำคัญ จากเดิมที่เคยคิดอยากไปจะสานต่อธุรกิจของครอบครัวหลังเรียนจบหรือเปิดกิจการเป็นของตัวเอง แม้กระทั่งคิดอยากทำงานเป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชนที่มีรายได้ดี เงินเดือนสูง เป็นความตั้งใจเมื่อครั้งได้เข้าศึกษาในวันแรกๆ 

             “ผมเป็นคน จ.ตราด ครอบครัวทำธุรกิจร้านอาหาร หลังจบมัธยมปลายที่โรงเรียนตราษตระการคุณ จากนั้นก็มาต่อปริญญาตรีคณะพาณิชย์และการบัญชี สาขาบัญชี ที่ธรรมศาสตร์ แล้วต่อโทด้านการตลาด มหาวิทยาลัยเดียวกัน  ระหว่างเรียนก็ทำกิจกรรมไปด้วย เป็นประธานชมรมอาสาพัฒนาของมหาวิทยาลัย และมีโอากาสรู้จักกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เขาก็พาไปดูงานของมูลนิธิและมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน พอจบโทปี 52 ทางผู้ใหญ่ของมูลนิธิปิดทองฯ ก็ชวนมาทำงาน  ตอนแรกคิดจะทำสักปีหนึ่งก่อนเพื่อหาประสบการณ์ ทำอะไรเพื่อสังคมก่อนไปทำงานภาคธุรกิจ อีกอย่างสมัยทำกิจกรรมออกค่ายอาสาฯ ก็อยากจะลองของจริงดู แต่พอทำไประยะหนึ่งก็เกิดรักชอบ มองว่าเป็นงานที่มีความหมาย ท้าทายดี เป็นงานที่เห็นไม่ได้ในภาคธุรกิจก็เลยตัดสินใจทำงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้ก็เข้าปีที่ 6 แล้ว”

 ฟื้นวิถีชุมชนด้วยพลังคนรุ่นใหม่

               จิตตินันท์ ใจสุทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายพัฒนาโครงการ มูลนิธิรากแก้ว ย้อนอดีตชีวิตที่พลิกผันจากความตั้งใจเดิมจนก้าวมาสู่วิถีทางแบบใหม่ มุ่งมั่นทำงานรับใช้สังคม โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน คนหนุ่มสาวที่เปรียบเสมือนรากแก้วที่จะนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคงแข็งแรงในอนาคต ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายขององค์กรที่มุ่งเสริมความแกร่งให้แก่คนรุ่นใหม่ผ่านทางกิจกรรมจิตอาสาทำงานเพื่อสังคม ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิรากแก้วและภาคีเครือข่าย โดยได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยในภูมิภาค นำนักศึกษาที่สนใจร่วมกิจกรรมเพื่อสังคมในหลากหลายรูปแบบ  ภาคกลางมีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นแม่ข่ายให้แก่ 83 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีมหาวิทยลัยขอนแก่นดูแล 33 มหาวิทยาลัยในภาคอีสาน ภาคเหนือร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาเขตน่าน เพราะเป็นพื้นที่ที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ดูแลอยู่ ส่วนภาคใต้มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นฐานสำคัญ โดยแต่ละภูมิภาคจะโฟกัสเป้าหมายแตกต่างกันออกไปขึ้น อยู่กับสภาพภูมิสังคมและความต้องการของชาวบ้านที่นั่นด้วย

               “งานหลักของเราคือ การทำงานกับเยาวชนที่อยู่ในมหาวิทยาลัย ภูมิภาคไหนทำอะไรก็ต้องดูปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ลักษณะเมือง ชนบท อย่างอีสานน้ำเป็นปัญหาหลัก กิจกรรมต่างๆ ก็จะเน้นไปในเรื่องของน้ำเพื่อการเกษตร  ภาคใต้การส่งเสริมอาชีพเกษตร  ภาคเหนือปลูกป่าปลูกคน ทำงานให้คนอยู่กับป่าได้ ส่วนภาคกลางเรื่องข้าว คลองสวยน้ำใส ขณะเดียวกันที่ งานหลักทำงานกับเยาวชนที่อยู่ในมหาลัย ที่ผ่านมาพอตั้งเสร็จก็มีการวางแผนการศึกษาจนมีได้สรุปแนวทางปี 59 ก็มีแนวทางที่ชัดเจนก็คือว่าวิสัยทัศน์ขององค์การเราจะบูรณาการภาคการศึกษา มหาลัยมาทำงานร่วมกับส่วนราชการ ภาคเอกชน ส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคื่อนการพัมนาตามปรัชัญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยรากแก้วเป้นแกนหลัก ปี 59 ทำ 4 มหาลัยรัฐบาลแต่งตั้งให้มูลนิธิรากแก้วเป็นคณะกรรมการในยุทธศาสตร์ที่ 2 ซึ่งเป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง   การทำงานของเรามีแนวทางที่ชัดเจนคือ จะบูรณาการภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยมาทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ส่วนราชการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดผลสำเร็จให้ได้”

 ฟื้นวิถีชุมชนด้วยพลังคนรุ่นใหม่

              ส่วนวิธีการดำเนินงาน จิตตินันท์เปิดเผยว่า จะมอบให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นผู้พิจารณาร่วมกับคณะกรรมการของมูลนิธิในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เนื่องจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ได้ให้บริการงานวิชาการ ทำงานวิจัยในพื้นที่ จึงน่าจะรู้ดีที่สุดว่าพื้นที่ไหนเหมาะทำกิจกรรมอะไร โดยกิจกรรมที่ทำนั้นจะเน้นเป็นกิจกรรมต้นแบบหรือแปลงสาธิตสำหรับการเรียนรู้ของคนในชุมชนหรือบุคคลทั่วไปด้วย อย่างหมู่บ้านสหกรณ์คลองโยง ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ก็ได้ผ่านกระบวนการคัดเลือกของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีงานบริการวิชาการในพื้นที่อยู่แล้ว ทำให้รับรู้ปัญหาในสิ่งที่ชุมชนต้องการดี เมื่อมูลนิธิร่วมกับภาคีเครือข่ายเข้ามาก็จะทำให้สามารถแก้ปัญหาอย่างตรงจุดตามหลักวิชาการ 

             “อย่างที่คลองโยง เราพบว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องต้องการก็คืออยากได้ข้าวพันธุ์ปิ่นแก้วกลับคืนมา เพราะที่นี่แต่เดิมมีการปลูกข้าวพันธุ์ปิ่นแก้วกันมาก เป็นแหล่งกำเนิดของข้าวพันธุ์นี้ เมื่อนโยบายรัฐเปลี่ยนไปสนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาปลูกข้าวเพื่อการค้ามากขึ้น ข้าวปิ่นแก้วก็ค่อยๆ หายไปไม่เหลือเมล็ดพันธุ์ข้าวเอาไว้ บังเอิญโชคดีที่กรมการข้าวเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ แต่เขาก็หวงมาก ชาวบ้านก็ทำเรื่องเพื่อขอเมล็ดพันธุ์ไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เรื่องก็ไม่คืบหน้า ทางมหาวิทยาลัยร่วมกับมูลนิธิก็ทำเรื่องขอไปอีกครั้ง กรมการข้าวจึงอนุมัติเมล็ดพันธุ์มาจำนวน 300 เมล็ด เพื่อนำมาเพาะขยายพันธุ์ต่อไป แล้วอีกอย่างในพื้นที่ ต.คลองโยง ก็เป็นพื้นที่โฉนดชุมชนที่รัฐบาลออกให้เป็นแห่งแรกของประเทศด้วย”

             จิตตินันท์ให้เหตุผลทำไมมูลนิธิถึงเลือกหมู่บ้านคลองโยงเป็นพื้นที่นำร่องในการสร้างศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบ โดยมีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นแม่ข่ายหลักและจะมีการขยายผลต่อไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็จะขยายหาของดีในพื้นที่อื่นๆ มาจุดประกายให้ครอบคลุมทั่วทุกจังหวัด โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่นั้นๆ เป็นแม่ข่ายหลักร่วมกับมูลนิธิ ส่วนราชการ ภาคเอกชน และชุมชน ในการขับเคลื่อนดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้

                                                                       ..............................................

 กว่าจะมาเป็น“มูลนิธิรากแก้ว”

              มูลนิธิรากแก้ว ไก่อกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี 2556 เป็นมูลนิธิในเครือมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีปี 2552 มีเป้าหมายเพื่อสร้างห้องเรียนนอกตำรา ส่งเสริมอุดมศึกษา สร้างการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน โดยการนำนักเรียน นิสิต นักศึกษา และคณาจารย์ ร่วมเรียนรู้นอกห้องเรียนจากปัญหาจริงในชุมชน และนำความรู้ความสามารถมาดำเนินโครงการพัฒนา โดยใช้หลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชน สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนพึ่งตนเองได้ และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตามแนวพระราชดำริ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โดยทำงานร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิมั่นพัฒนา ปัจจุบันมี ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เป็นประธานมูลนิธิ

                 นอกจากนี้ มูลนิธิรากแก้วยังร่วมมือกับภาคการศึกษาในการสนับสนุนการพัฒนานิสิตนักศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจและเห็นถึงความสำคัญของปัญหาสังคมและการใช้ชีวิตอย่างมีภูมิคุ้มกันตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในการทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น โดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการและศึกษาดูงานตัวอย่างโครงการพัฒนาที่นำแนวพระราชดำริและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้และเกิดผลสำเร็จ และจัดเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของนิสิตนักศึกษาและอาจารย์ในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อถอดบทเรียนและนำแนวปฏิบัติที่ดีมาเผยแพร่และปรับใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดการต่อยอดและขยายผล โดยมูลนิธิจะรวบรวมและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาจิตอาสาของเยาวชนและการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไป

                                                             ............................................................. 

             

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ