ข่าว

“เสื่อกก”ฟื้นชีวิตชาวนา แปรรูปเติมสีสันสร้างงานสร้างรายได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - กุมุทนาถ สุตนพัฒน์

        “เริ่มต้นมีแค่เสื่อกกราคา 70-80 บาท ขายก็แทบจะไม่ได้ ตอนนี้พัฒนารูปแบบสินค้ามีความหลากหลายมากขึ้น เช่น กระเป๋า รองเท้า มีการย้อมสีเพิ่มความสวยงาม สามารถขยับราคาสินค้าขึ้นไปตามความเหมาะสม แต่ราคาไม่แพงมาก ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แถมยังส่งขายต่างประเทศด้วย”

        “ในวิกฤติย่อมมีโอกาส”แต่การจะสร้างโอกาสได้ คนที่เจอปัญหา เจอความเดือดร้อน ต้องไม่ท้อแท้ หรือหมดอาลัยตายอยาก เพราะนั่นจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ ดังนั้นการที่จะฝ่าวิกฤติไปได้จิตใจต้องสู้ต้องเข้มแข็ง ต้องพร้อมจะลุกขึ้นสู้ เช่นเดียวกับ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสื่อกกบ้านบางพลวง”ที่ไม่ยอมแพ้ หลังต้องเผชิญกับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ซึ่งเดิมมีอาชีพทำนา และทำเสื่อกกเป็นอาชีพเสริม แต่ประสบปัญหาน้ำท่วมนา 2-3 ปีซ้อน ส่วนสื่อกกที่ต่างคนต่างทำต่างคิดต่างขายก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่มาของแนวคิดการรวมตัวตั้งกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสื่อกก

 

“เสื่อกก”ฟื้นชีวิตชาวนา แปรรูปเติมสีสันสร้างงานสร้างรายได้

 

          ชุ่ม ยะประดิษฐ์ หรือ ป้าชุ่ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสื่อกกบ้านบางพลวง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี บอกเล่าถึงที่มาที่ไปว่า เมื่อทำนาก็น้ำท่วม ทำเสื่อกกก็ขายไม่ได้ จึงมองหาแนวทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อยอดจากเสื่อกก โดยช่วงเริ่มต้นของการรวมตัวมีสมาชิก 50 คน ใช้เงินทุนของตัวเอง ลงทุนคนละ 50 บาท ได้เงินทุนตั้งต้นประมาณ 7,000 บาท ผลิตสินค้าเล็กๆ น้อยๆ ออกวางขายมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาเจอมรสุมน้ำท่วมหนักในปี 2554 นาข้าวเสียหายมาก ทำให้ขาดทุน จึงไม่มีรายได้และไม่มีเงินลงทุนเพิ่ม แต่ก็ยังมีโชคเมื่อธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์) ปล่อยสินเชื่อภัยพิบัติในวงเงิน 5 แสนบาท ซึ่งไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำให้กลุ่มมีเงินทุนเข้ามาเพิ่ม และสามารถผลิตสินค้าออกวางจำหน่ายได้ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันสมาชิกก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันยอดอยู่ที่กว่า 100 คน

         กลุ่มวิสาหกิจชุมชนภายใต้การนำของป้าชุ่มแห่งนี้ แม้สมาชิกจะประกอบด้วยชาวนาเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีความสนใจใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมกันอยู่เสมอจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต อย่างในส่วนของป้าชุ่มที่มีหน้าที่คิดและพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ก็จะค้นหาคอลเลกชั่นสินค้ากระเป๋าแบรนด์เนมจากต่างประเทศ มาปรับใช้กับแนวสินค้าของกลุ่มเพื่อให้ทันสมัยและดูดี รวมทั้งเป็นผู้ติดต่อประสานงานกับองค์กรภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน ส่วนสมาชิกคนอื่นๆ ก็มีวิธีการบริหารจัดการกันภายในกลุ่ม แบ่งงานและความรับผิดชอบออกเป็นแผนกอย่างชัดเจน เช่น แผนกปลูกต้นกก แผนกทำเส้นกก แผนกแปรรูป แผนกย้อมสี แผนกทำกระเป๋า แผนกทำรองเท้า เป็นต้น ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีระบบ

 

“เสื่อกก”ฟื้นชีวิตชาวนา แปรรูปเติมสีสันสร้างงานสร้างรายได้

 

         “การทำตลาด พวกเราก็ทำกันเอง โดยจะเดินสายออกบูธในงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของเราเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างมากขึ้น แม้บางครั้งการไปออกงานจะขายสินค้าได้ไม่มากนัก แต่เราต้องขยันออกไปหาตลาด ออกไปแนะนำผลิตภัณฑ์ ซึ่งหลังจากการออกบูธจะมีคำสั่งซื้อสินค้าตามมาจำนวนมาก ถือว่าเป็นการทำตลาดที่ไม่สูญเปล่า” ป้าชุ่มบอก

         การเดินสายออกงานแสดงสินค้าต่างๆ จนผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับความสนใจมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง ยังทำให้มูลค่าของสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย จากเริ่มต้นมีแค่เสื่อกกราคา 70-80 บาท แถมยังขายไม่ค่อยได้ ปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบและมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น กระเป๋า รองเท้า มีการย้อมสีเพิ่มสีสันและความสวยงามมากขึ้น จนขยับราคาสินค้าขึ้นไปได้ตามความต้องการและเหมาะสม แต่ก็ไม่ได้เพิ่มราคาจนแพงเว่อร์ ช่วยเพิ่มยอดขายได้ต่อเนื่อง แม้แต่เสื่อกกก็ยังสามารถปรับขึ้นราคาจากเดิมไปเป็น 100 บาทได้ หลังจากลูกค้าสนใจมากขึ้น แถมยังมีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศด้วย เช่น ลาว เวียดนาม และออสเตรเลีย

         ในช่วงแรกผลิตภัณฑ์ของกลุ่มมีเพียงสินค้าไม่กี่ประเภท แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาสินค้าเพิ่มเติมจนมีอยู่กว่า 100 รายการ ตั้งแต่ชิ้นเล็กจนถึงชิ้นใหญ่ ราคาเริ่มตั้งแต่ 10 บาท ไปจนถึง 5,000 บาท โดยใช้กกเป็นวัตถุดิบ เพราะสามารถหาได้ในพื้นที่ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เมื่อความต้องการสินค้ามีมากขึ้น ทำให้กกที่ขึ้นเองตามธรรมชาติไม่เพียงพอ จึงต้องช่วยกันปลูกกกขึ้นมาเพิ่มด้วย ก็ใช้พื้นที่ในหมู่บ้านเป็นแหล่งปลูก โดยสมาชิกแต่ละคนจะปลูกกกเพื่อผลิตสินค้าของตัวเอง หากไม่พอใช้สามารถมาใช้กกของส่วนกลางที่ปลูกไว้ประมาณ 10 ไร่ได้

 

“เสื่อกก”ฟื้นชีวิตชาวนา แปรรูปเติมสีสันสร้างงานสร้างรายได้

 

         ป้าชุ่มบอกด้วยว่า การเติบโตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ นอกเหนือจากการร่วมมือร่วมแรงกันเองแล้ว ยังได้รับแรงสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน เช่น เอสเอ็มอีแบงก์ ปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมให้อีก 2 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่ม ทำให้สามารถผลิตสินค้าป้อนตลาดได้เต็มที่ และกระทรวงพลังงานที่เข้ามาดูการทำงานแล้วพบว่าชาวบ้านยังใช้วิธีการแบบง่ายๆ บ้านๆ ทำให้เสียเวลาและสิ้นเปลืองทรัพยากรมากเกินไป จึงมอบเครื่องอบและเตาย้อมสีชีวมวลมาให้ ซึ่งเครื่องอบช่วยให้การอบเส้นกกทำได้ในปริมาณที่มากและเร็วขึ้น ส่วนเตาย้อมสีชีวมวลช่วยลดการใช้ไม้ฟืนที่เป็นเชื้อเพลิงลงไปครึ่งหนึ่งเลย จากเดิมที่ใช้เตาฟืนทั่วไปจะใช้ฟืนครั้งละ 10 กิโลกรัม ก็จะลดเหลือเพียง 5 กิโลกรัมเท่านั้น เป็นการประหยัดพลังงานและเงินทุนลงได้มาก

         นอกจากนี้ กรมพัฒนาชุมชน และกระทรวงพาณิชย์ ก็มาช่วยดูแลและแนะนำด้านการตลาด ล่าสุดการท่องเที่ยวจังหวัดนครนายกได้จัดทำแพ็กเกจท่องเที่ยว โดยสั่งซื้อกระเป๋าเดินทางที่ตกแต่งด้วยเสื่อกกจำนวนมากไปเป็นของแถมด้วย อีกทั้งยังมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นและเวียดนาม ซึ่งได้รับความรู้กลับมามากมาย โดยมีการแนะนำให้ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ เมื่อเหลือใช้ก็ขายออกไปนอกเขต รวมถึงแนะนำด้านการตลาด ถือเป็นการเปิดโลกและจุดประกายความคิดให้กลุ่มได้เห็นว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปถึงไหนแล้ว ทำให้เรารู้ว่าควรจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด จึงจะทำให้การดำเนินงานของกลุ่มเดินหน้าได้ด้วยดี

        “ความร่วมแรงร่วมใจกันในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ทำให้ปัจจุบันสมาชิกมีรายได้ค่อนข้างแน่นอนประมาณ 4,000-8,000 บาทต่อเดือน หากขยันมากจะมีค่าโอทีด้วย รายได้จะขยับขึ้นไปถึง 1 หมื่นบาทต่อเดือน นอกจากนี้ วัตถุดิบเหลือใช้คือเส้นกก ยังสามารถทำรายได้ให้กลุ่มได้อีกด้วย โดยจะส่งไปขายที่ จ.จันทบุรี มหาสารคาม และป้อนให้โรงงานที่โคราช โดยคิดราคาเป็นตารางวาละ 1,600 บาท ก็เป็นรายได้เสริมเข้ากลุ่มอีกทางหนึ่ง”

 

“เสื่อกก”ฟื้นชีวิตชาวนา แปรรูปเติมสีสันสร้างงานสร้างรายได้

 

       เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้าที่ทำนาทั้งนาปีและนาปรังควบคู่กับการทำนากก จะมีรายได้ 5-7 หมื่นบาทต่อปี แต่ระยะหลังรายได้ไม่ค่อยดี เนื่องจาก อ.บ้านสร้าง เป็นแหล่งรับน้ำ ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าน้ำจะลด เมื่อน้ำลดแล้วก็ต้องรีบทำนา เพราะน้ำทะเลจะหนุนเข้ามาอีก ถือว่ามีความยากลำบากมาก 

        ล่าสุด ป้าชุ่มบอกว่า มีโครงการที่จะสร้างสรรค์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมแบบครบวงจร โดยร่วมกับเทศบาลและคนในชุมชน เชิญชวนคนมาท่องเที่ยวดูการทำงานของกลุ่ม ชมวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ด้วยการเดินชมหรือนั่งเรือในคลอง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้รู้จักมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่ได้ไปออกงานแสดงสินค้านอกพื้นที่      

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ