ข่าว

"หัวโขนเล็ก"เปลี่ยนชีวิต เป้าหมายธุรกิจวัดที่"ความสุขใจ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - อนัญชนา สาระคู

        “คำว่าธุรกิจสำหรับผม มันเลยจากคำว่าขายสินค้าไปแล้ว เราก็เป็นผู้บริโภคมาก่อนเรารู้ว่าเราต้องการอะไร เราทุกคนต้องการสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ว่าคุณจะขายอะไรก็ตาม ฉะนั้นผมว่าหัวใจของทุกธุรกิจไม่ต่างกันเลย มันคือการใส่ใจ”

 

"หัวโขนเล็ก"เปลี่ยนชีวิต เป้าหมายธุรกิจวัดที่"ความสุขใจ"

 

         “ผมว่าการกดชัตเตอร์ลั่นภาพผ่านวิวไฟน์เดอร์ กับการประดิษฐ์หัวโขนมีความคล้ายคลึงกันในใจความสำคัญ การถ่ายภาพข่าว คือการมองภาพทั้งหมดแล้วเลือกองค์ประกอบที่ดีที่สุดก่อนตัดสินใจลั่นชัตเตอร์ ซึ่งโมเมนต์ที่สำคัญที่สุดขณะนั้นคือใจ ที่ต้องนิ่งและมีสมาธิ ขณะที่การทำหัวโขนก็ต้องใช้ความละเอียด ประณีต และใจที่เป็นสมาธิมากๆ จึงจะสามารถประกอบสร้างขึ้นมาสำเร็จเป็นเศียรหนึ่งที่สวยงาม”

         นั่นคือคำบอกเล่า ของ “แมน น้อยพิทักษ์” อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการภาพข่าว เครือเนชั่น เมื่อถามถึงการเปลี่ยนผ่านอาชีพจากช่างภาพสื่อมวลชนที่ทำอยู่เกือบ 30 ปี ก่อนตัดสินใจขอเออร์ลี่รีไทร์ ออกมาเป็นเจ้าของธุรกิจร้านกาแฟเล็กๆ และเปิดแกลเลอรี่หัวโขนเล็กย่านพุทธมณฑลสาย 5 ในวันนี้

        แมน น้อยพิทักษ์ หรือน้าแมน ในวงการช่างภาพข่าว เล่าย้อนความหลังว่า ก้าวเข้าสู่วงการสื่อมวลชนเมื่อ 30 ปีที่แล้วในสายข่าวอาชญากรรมของหนังสือพิมพ์เล็กๆฉบับหนึ่ง ก่อนจะเข้าประจำการที่หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น รับหน้าที่ถ่ายภาพข่าวเกือบทุกสาย ตั้งแต่อาชญากรรม สังคม ศิลปวัฒนธรรมและการเมือง โดยเป็นช่างภาพประจำทำเนียบรัฐบาล

 

"หัวโขนเล็ก"เปลี่ยนชีวิต เป้าหมายธุรกิจวัดที่"ความสุขใจ"

 

        นับตั้งแต่ยุครัฐบาลน้าชาติ หรือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี เรื่อยมาจนถึงยุคนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ระหว่างนั้นเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ รับหน้าที่ถ่ายภาพในม็อบผู้ชุมนุมจนได้รางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยมมาเป็นเกียรติประวัติผลงาน จากภาพ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ชุมนุมขณะนั้นถูกจับกุม หลังจากนั้นก็ยังยึดอาชีพช่างภาพเรื่อยมาจนถึงจุดอิ่มตัวจึงขอต้นสังกัดเออร์ลี่รีไทร์ออกมา

        น้าแมน เล่าว่า เมื่อถึงวันที่ต้องตัดสินใจทิ้งอาชีพสื่อมวลชน ก็ถามตัวเองว่าจะทำอะไรต่อหลังจากเกษียณ โชคดีมากที่ 6 ปีก่อนหน้านี้ ได้เปิดร้านกาแฟชื่อ Coffee & Frame by Man ที่ย่านพุทธมณฑลสาย 5 โดยทดลองเปิดเฉพาะเสาร์อาทิตย์ ขายกาแฟสด กาแฟเวียดนาม และอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี มีลูกค้าประจำระดับหนึ่ง ทำให้สามารถตัดสินใจขอลาออกมาทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น

        จากนั้นถือเป็นจังหวะชีวิตที่ดีมากเมื่อได้เจอกับครูปุ๊ก (นางจิตตรัตน์ รุ่งเช้า) วิทยากรจากศูนย์กาญจนาภิเษก วิทยาลัยในวัง ศาลายา ที่เข้ามาสอนการประดิษฐ์หัวโขนเล็ก ซึ่งถือเป็นศิลปะไทยขั้นสูง ที่ต้องอาศัยความประณีต ละเอียดอ่อนในทุกขั้นตอน โดยแรกเริ่มเลยยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถเรียนได้สำเร็จ แต่ด้วยความเมตตาใส่ใจในการสอนของครูปุ๊ก และความมุ่งมั่น ทำให้สามารถเรียนรู้ฝึกฝนจนสำเร็จ ทั้งเศียรพ่อแก่ เศียรพระพิฆเนศร และมีโครงการเรียนต่อยอดไปยังเศียรอื่นๆ อีก

 

"หัวโขนเล็ก"เปลี่ยนชีวิต เป้าหมายธุรกิจวัดที่"ความสุขใจ"

 

        “มีบางคนเคยบอกว่าโอกาสถ้าไม่คว้าไว้มันจะกลายเป็นอากาศ พอมีโอกาสได้เรียนหัวโขนเล็ก มันเหมือนห่างไกลจากอาชีพที่ผมทำอยู่มาก เราไม่มีพื้นฐานศิลปะ ไม่รู้จักลายไทย จะไปรอดเหรอ นิ้วผมกดชัตเตอร์มาตลอด 30 ปี จะทำได้เหรอกับการปั้นดิน เขียนลายหน้า แต่ผมก็มาคิดอีกมุม ถ้าเราไม่กล้าเรียนรู้ ไม่เปิดใจ เราก็จะไม่ได้อะไรใหม่ๆ ที่สำคัญคือตัวผมเองบูชาพ่อแก่อยู่แล้ว เคยไปถ่ายภาพทำข่าวสารคดีเรื่องเศียรพ่อแก่ ครั้งนั้นก็เคยคิดว่าถ้ามีโอกาสจะต้องเรียนรู้ศิลปะแขนงนี้ให้ได้ ผมคิดเองนะว่าในที่สุดพ่อแก่คงเมตตาให้โอกาสนั้นกับผม รวมถึงครูปุ๊กด้วย กลายเป็นว่าหัวโขนเล็กเปลี่ยนชีวิตผมไปเลย”

         หลังจากเรียนสำเร็จก็ทดลองโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว และเฟซบุ๊กของร้านทำให้มีผู้สนใจติดต่อเข้ามาจำนวนมาก บางส่วนขอมาเรียนบ้าง เลยคุยกับครูปุ๊ก ซึ่งครูก็ยอมสละเวลาพักผ่อนวันอาทิตย์เข้ามาสอนลูกศิษย์โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย รุ่นแรกที่เปิดสอนรับจากผู้สนใจ 10 ราย ตั้งเป้าไว้เรียน 8 ครั้งจบ แต่เอาเข้าจริงเรียนยาวไปถึง 12 ครั้ง แต่สามารถเรียนสำเร็จแค่ 2 คน

 

"หัวโขนเล็ก"เปลี่ยนชีวิต เป้าหมายธุรกิจวัดที่"ความสุขใจ"

 

         “งานหัวโขนเล็ก เป็นงานที่ต้องการใจที่รักและมีสมาธิมากนะผมว่า ต้องละเอียด ประณีต อดทน ฝึกฝน และต้องการความพยายามอย่างสูง ผลที่ออกมาเลยเห็นๆ กันว่าถ้าใจมาไม่เต็มร้อย ทำไม่สำเร็จกันครับ ฉะนั้น ถ้าเปิดคอร์สรุ่นต่อๆไป คงต้องคุยกับคนที่มาเรียนอย่างจริงๆ จังๆ เพราะครูเสียสละเวลามาถ่ายทอดวิชาให้แล้ว อยากได้คนที่ตั้งใจมากจริงๆ มาเรียน นักเรียนเรียนสำเร็จกันออกไป ก็เป็นความภูมิใจของครูและของนักเรียนทั้งหมดนะครับ ที่วางแผนนานแล้วคืออาจจะเปิดเรียนแค่ปีละครั้ง ขึ้นอยู่กับครูครับ”

         เมื่อถามถึง “หัวโขนแกลเลอรี่” ที่น้าแมนเปิดมุมเล็กๆ ในร้านเพื่อวางเศียรที่ทำสำเร็จ น้าแมนบอกว่า ความตั้งใจแรกคือ การเรียนรู้ศิลปะแขนงนี้ให้สำเร็จ แล้วต่อยอดเป็นอาชีพต่อไป ตอนนี้เศียรที่เสร็จแล้วก็เลยใส่ตู้วางไว้ เผื่อมีผู้สนใจสามารถเช่าไปบูชา หรือจะหาซื้อไปเป็นของขวัญให้ญาติผู้ใหญ่ ซึ่งจะมี 2 ราคา คือ แบบทองวิทยาศาสตร์ (ทองปลอม) ราคา 1,990 บาทต่อเศียร และทองคำเปลว (ทองแท้) ราคา 2,590 บาทต่อเศียร โดยจุดเด่นของหัวโขนเล็กที่ร้านคือเป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมด ไม่ใช่งานหล่อเศียรสำเร็จรูป เราใช้วิธีกลิ้งเศียร ติดลายกันชิ้นต่อชิ้น ประกอบสร้างจนสำเร็จเป็นลายชิ้นใหญ่ประดับลายบนเศียรแต่ละเศียรดังนั้นแต่ละเศียรจึงใช้เวลาทำประมาณ 2-3 สัปดาห์

 

"หัวโขนเล็ก"เปลี่ยนชีวิต เป้าหมายธุรกิจวัดที่"ความสุขใจ"

 

         “จังหวะว่างๆ ก็นั่งทำหัวโขนเล็กไปเรื่อยๆ ครับ ช่วงนี้ออเดอร์มากหน่อยก็ต้องทำทั้งวัน หลังจากใช้ชีวิตรีบเร่งในการทำงานข่าวมาตลอดชีวิต วันนี้ผมใช้ชีวิตช้าๆ แล้วครับ ค่อยๆ ทำไป การเรียนรู้ศาสตร์แขนงนี้ซึ่งถือกันว่าเป็นศิลปะชั้นสูง บอกได้เลยว่าเรียนกันไม่มีวันจบสิ้น มีอะไรที่เราไม่รู้อีกตั้งมากมาย การเรียนรู้ที่ดีที่สุดนอกเหนือจากครูที่ดีแล้ว คือการลงมือทำ แต่สำคัญที่สุดสำหรับการทำหัวโขน คือการใช้ใจทำครับ เพราะเป็นงานที่ต้องใส่ใจทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกลิ้งเศียร การกรุกระดาษ การปั้นดินติดลาย ลงสี ลงทอง เขียนหน้า ไม่มีขั้นตอนไหนที่ทำมั่วๆ ผ่านๆ ได้เลย บางขั้นตอนต้องใช้ใจสัมผัสระหว่างทำเลยครับ” น้าแมน กล่าว

        “นอกจากเปิดหน้าร้านในร้านแล้ว โครงการต่อไปจะใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์มากขึ้น เบื้องต้นก็จะขยายตลาดทางแฟนเพจเฟซบุ๊กของร้านกาแฟในชื่อเดียวกับทางร้าน และยังเตรียมเจาะตลาดต่างประเทศที่ยังเปิดกว้างอีกมาก เพราะที่ผ่านมาเริ่มมีออเดอร์มาจากเมืองนอกบ้างแล้ว และคาดว่าจะเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ” น้าแมนกล่าว

        ขณะที่ครูปุ๊กบอกว่า เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจในตัวลูกศิษย์คนนี้จึงตัดสินใจถ่ายทอดศิลปะการทำหัวโขนให้ และก็ไม่ผิดหวังเพราะน้าแมนสามารถทำได้อย่างประณีต สวยงาม แม้จะยังต้องเรียนรู้เพิ่มเติมต่อไปเรื่อยๆ แต่เชื่อว่าลูกศิษย์คนนี้จะไปได้ดีในเส้นทางสายนี้

 

"หัวโขนเล็ก"เปลี่ยนชีวิต เป้าหมายธุรกิจวัดที่"ความสุขใจ"

 

       “เราเห็นความตั้งใจ แรกๆเขียนลายไทยไม่เป็นตัวเลย ก็ยังมีที่ต้องพัฒนา ต้องเรียนรู้เพิ่ม แต่คะแนนความมุ่งมั่นอุตสาหะ ความประณีตละเอียดลออเขาทำได้ดี เป็นลูกศิษย์ที่ครูภูมิใจมากคนหนึ่ง” ครูปุ๊กกล่าว

       “วันนี้ใช้ชีวิตช้าๆ” ดูจะเป็นคำพูดที่ติดปากน้าแมน จากความตั้งใจแรกที่หวังใช้พื้นที่ในร้านกาแฟเล็กๆ เป็นที่พักผ่อนกายและใจของตัวเองและครอบครัว รวมถึงของกลุ่มเพื่อนๆ ที่แวะเวียนมาเยี่ยมเยียน วันนี้ร้านกาแฟแห่งนี้ได้ก้าวข้ามไปสู่การสร้างความสุขให้แก่ผู้อื่นด้วยการเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ พบปะสนทนากันด้วยจิตใจที่ปรารถนาดีและเกื้อกูลต่อกัน

        สอดคล้องกับบรรยากาศที่ร่มรื่นด้วยบึงบัวด้านหลังร้าน มีต้นไม้ใหญ่น้อยเป็นฉากหลัง มีมุมห้องสมุดเล็กๆ ให้ยืมหนังสือไปอ่านกันได้ ส่วนภายในร้านก็ประดับด้วยภาพวาด ภาพถ่ายฝีมือน้าแมนที่เก็บสะสมมา เรียกได้ว่าถ่ายภาพมุมไหนของร้านก็ออกมาสวยทุกช็อต บวกกับงานหัวโขนเล็กที่ประดับภายในร้าน ช่างสมกับสโลแกนของทางร้านที่ว่า เสพงานศิลป์ กินกาแฟริมบึง ดึงชีวิตให้ช้าๆ

 

"หัวโขนเล็ก"เปลี่ยนชีวิต เป้าหมายธุรกิจวัดที่"ความสุขใจ"

 

        “ผมเป็นลูกจ้างกินเงินเดือนมาตลอดชีวิต ถึงวันที่ผมลุกมาทำธุรกิจของตัวเอง คำว่าธุรกิจสำหรับผม มันเลยจากคำว่าขายสินค้าไปแล้ว เราก็เป็นผู้บริโภคมาก่อนเรารู้ว่าเราต้องการอะไร เราทุกคนต้องการสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ว่าคุณจะขายอะไรก็ตาม ฉะนั้นผมว่าหัวใจของทุกธุรกิจไม่ต่างกันเลย มันคือการใส่ใจ ทำร้านกาแฟร้านอาหารเราก็คิดถึงคนกินเราก็อยากให้เขาได้สิ่งที่ดีกับสุขภาพของเขา ถึงจุดนี้ผมเปลี่ยนชีวิตมาทำหัวโขนแกลเลอรี่ด้วย ผมก็อยากให้ทุกคนมีความสุขใจเหมือนที่ผมสัมผัสได้ตอนลงมือทำหัวโขน จึงเปิดพื้นที่ในร้านขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่เล็กๆ สำหรับผู้สนใจเข้าเรียนรู้ศิลปะชั้นสูงแขนงนี้”

         แมน น้อยพิทักษ์ อดีตช่างภาพข่าว ในวันที่ผันตัวเองมาทำธุรกิจเล็กๆ ยืนยันว่าเป้าหมายของธุรกิจนอกจากธุรกิจไปรอดเลี้ยงตัวเองเลี้ยงครอบครัวได้แล้ว ที่เหลือขอเป็นแค่ความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่มีร่วมกันระหว่างตนเองกับลูกค้า เพราะเชื่อว่าเมื่อหน่วยเล็กที่สุดของสังคมมีความสุขแล้ว วงของความสุขนั้นจะขยายออกไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด

         “ความเติบโตของธุรกิจผมวัดที่ปริมาณของความสุขใจ ถ้าลูกค้าเข้ามามีความสุขเราก็สุขไปด้วย สิ่งอื่นๆ จะตามมาเอง ผมเชื่อแบบนั้นนะ” แมน น้อยพิทักษ์ อดีตช่างภาพข่าวกล่าว

 

"หัวโขนเล็ก"เปลี่ยนชีวิต เป้าหมายธุรกิจวัดที่"ความสุขใจ"

 

บอกเล่าที่มาของ “หัวโขน”

         สำหรับ “หัวโขน” ถือเป็นศิลปะที่สืบทอดกันมานับแต่สมัยรัตนโกสินทร์ และมารุ่งเรืองมากในสมัยรัชกาลที่ 6 เนื่องจากสนพระราชหฤทัยและทรงอุปถัมภ์ด้านการแสดงและการสร้างหัวโขน แต่เดิมหัวโขนถือเป็นส่วนประกอบสำคัญให้ผู้แสดงใช้สวมในการแสดงโขน โดยเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ และเป็นที่เคารพนับถือเปรียบเสมือนครูของเหล่านาฏศิลป์ทั้งหลาย ต้องมีการเซ่นสรวงบูชาอย่างเหมาะสม โดยมีหัวโขนประเภทต่างๆ เช่น ศีรษะเทพเจ้า พระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร พระคเณศ ศีรษะพระครู เช่น พระครูฤาษีพ่อแก่ ศีรษะพระราม พระลักษมณ์ ศีรษะยักษ์ ศีรษะลิง ศีรษะสัตว์ต่างๆ เป็นต้น

         การสร้างหัวโขนนอกจากเพื่อใช้สวมในการแสดงโขน ยังเป็นการเผยแพร่สืบทอดวัฒนธรรมแต่ดั้งเดิมมิให้สูญหาย และปัจจุบันมีการสร้างเป็นรูปลักษณะหลากหลายมากขึ้น เช่นการสร้างหัวโขนในขนาดกลาง และขนาดเล็กสำหรับผู้สนใจไว้บูชา และสะสม เนื่องจากถือว่าเป็นงานศิลปะชั้นสูง ต้องอาศัยความประณีตละเอียดอ่อนในการประประดิษฐ์ขึ้นมาแต่ละชิ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ