ข่าว

“กาแฟขี้ชะมด”แห่งแรกในกระบี่ ฝีมือ"พิเชษฎ์ เป็ดทอง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย - สุรัตน์ อัตตะ

           

          “กาแฟขี้ชะมด”แห่งแรกในกระบี่ ฝีมือ"พิเชษฎ์ เป็ดทอง"

                 ความที่เสียดายสวนกาแฟ (พันธุ์โรบัสต้า) ถูกโค่นทิ้งเพื่อเปลี่ยนมาปลูกพืชเศรษฐกิจตัวใหม่อย่างปาล์มน้ำมัน เนื่องด้วยราคาผลผลิตกาแฟตกต่ำ ทำให้เขารู้สึกเสียดายและร้องขอทางครอบครัวให้เว้นไว้ส่วนหนึ่งเพื่อทดลองผลิตกาแฟขี้ชะมดที่ว่ากันว่ามีราคาแพงที่สุดในขณะนั้น (จนถึงขณะนี้) สำหรับแนวความคิดของเด็กหนุ่มหัวก้าวหน้าเมื่อครั้งยังรับราชการอยู่ที่สำนักงานปศุสัตว์กระบี่เมื่อ 5 ปีก่อนสำหรับ “พิเชษฎ์ เป็ดทอง” ยัง สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ของกรมส่งเสริมการเกษตร เกษตรกรหัวก้าวหน้าวัย 35 ปี และประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านดินแดง ต.ดินแดง อ.ลำทับ จ.กระบี่ และปัจจุบันยังเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์กาแฟขี้ชะมดหนึ่งเดียวในกระบี่ที่ปฏิเสธการทำเกษตรเชิงเดี่ยวหันมาผลิตกาแฟขี้ชะมด ภายใต้ตราสัญลักษณ์ทางการค้า “กาแฟขี้ชะมดลำทับ” 

“กาแฟขี้ชะมด”แห่งแรกในกระบี่ ฝีมือ"พิเชษฎ์ เป็ดทอง"

                  หลังเขาลาออกจากราชการมาดูแลสวนกาแฟอย่างเต็มตัวบนเนื้อที่ 15 ไร่ เมื่อปี 2555 จากนั้นก็ได้ปรับเปลี่ยนสวนกาแฟเดิมเป็นการทําเกษตรในรูปแบบผสมผสาน ปลูกพืชหลายๆ ชนิดในพื้นที่ ทําให้ได้รับผลผลิตตลอดเวลาต่อเนื่องทั้งปี  รวมถึงการเลี้ยงชะมดเพื่อผลิตกาแฟขี้ชะมดด้วยเนื่องจากพ่อแม่เคยทําสวนกาแฟและกาแฟที่ปลูกยังเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันยังสามารถทําสาวได้เหมือนการปลูกใหม่ เมื่อกาแฟให้ผลผลิตก็นํามาเลี้ยงชะมด ซึ่งกาแฟขี้ชะมดนี้มีราคาสูงกว่ากาแฟปกติหลายเท่า  

                “การทําเกษตรในปัจจุบันทุกคนมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิต การปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อให้ได้จํานวนต้นพืชเพิ่มมากขึ้น ทําให้ต้นทุนในการผลิตต้องเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทุกวันนี้ราคาสินค้าเกษตรเราไม่สามารถกําหนดเองได้ ทําให้บางช่วงเวลาไม่คุ้มทุน การทำกาแฟขี้ชะมดก็เป็นการผนวกระหว่างสัตว์และพืชทําให้ราคาผลผลิตสูงขึ้น และเป็นการอนุรักษสายพันธุ์ชะมดเพื่อให้คงอยู่และเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป สิ่งที่ภาคภูมิใจคือวันนี้กาแฟที่เป็นพืชเศรษฐกิจในอดีตยังคงอยู่ในพื้นที่ อ.ลําทับ และเป็นการสร้างมูลค่าทั้งกาแฟและชะมดให้อยู่รวมกัน ได้ประโยชน์เกื้อหนุนกัน” พิเชษฎ์ เผยเหตุผลการเปลี่ยนรูปแบบผลิตกาแฟธรรมดามาเป็นกาแฟขี้ชะมดระหว่างบรรยายสรุปให้คณะสื่อมวลชนตามโครงการสื่อมวลชนสัญจร โดยกรมส่งเสริมการเกษตรศึกษาดูแลศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรในพื้นที่ จ.กระบี่

“กาแฟขี้ชะมด”แห่งแรกในกระบี่ ฝีมือ"พิเชษฎ์ เป็ดทอง"

                 พิเชษฎ์เล่าต่อว่า เริ่มทดลองผลิตกาแฟขี้ชะมดมาตั้งแต่ปี 2555 หลังเดินทางไปเรียนรู้กรรมวิธีการผลิตจากแหล่งผลิตที่มีชื่อเสียงโด่งดังในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งชุมพร กาญจนบุรี และเชียงราย โดยนำข้อดีจากแหล่งผลิตเหล่านั้นมาปรับประยุกต์ใช้ในพื้นที่สวนกาแฟของตัวเอง เริ่มจากการดูแลต้นกาแฟให้ดีมีผลผลิตที่มีคุณภาพ การเก็บเกี่ยวผลผลิตที่สุกงอม การปฏิเสธใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตล้วนมีผลต่อคุณภาพกาแฟทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการกินเมล็ดกาแฟของตัวชะมดโดยตรง เนื่องจากเราไม่สามารถไปบังคับได้ 

                  “ที่อื่นเขาจะให้ชะมดกินเมล็ดกาแฟติดต่อกัน 5 วัน แต่ของเรากินสองวันเว้นหนึ่งวันให้อาหารปกติเพื่อสุขภาพของชะมด แล้วเมล็ดกาแฟที่ชะมดกินนั้นมันก็เลือกด้วย อย่างเมล็ดกาแฟที่เราให้บางตัวก็ไม่กิน บางครั้งกินแล้วก็คายออก ไม่กินต่อ เราก็จะรู้ว่าเมล็ดกาแฟสุกแค่ไหนชะมดถึงจะชอบกิน เราก็ศึกษาเรียนรู้ไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าเก็บมาให้ชะมดกินเหมือนเก็บขายทั่วไปอย่างนี้ไม่ได้" เจ้าของผลิตภัณฑ์กาแฟขี้ชะมดลำทับเผย

“กาแฟขี้ชะมด”แห่งแรกในกระบี่ ฝีมือ"พิเชษฎ์ เป็ดทอง"

                   พิเชษฎ์ระบุอีกว่า สำหรับกาแฟจะให้ผลผลิตและเก็บเกี่ยวได้ปีละครั้งเท่านั้นตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ มีระยะเวลาประมาณ 3 เดือน ช่วงนี้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำมาให้ชะมดกิน และแปรรูปตามกระบวนการจนแล้วเสร็จนำมาเก็บในสต็อกไว้เป็นเมล็ดบรรจุถุง ก่อนจะนำมาแปรรูปเพื่อจำหน่ายต่อไป ส่วนการดูแลชะมดก็จะให้อาหารตามปกติ รอจนกว่าจะถึงฤดูกาลผลิตใหม่ ซึ่งการผลิตกาแฟขี้ชะมดนั้นทุกคนสามารถทำได้และเหมาะมากกับผู้ที่ปลูกหรือเป็นเจ้าของไร่กาแฟอยู่เดิมแล้ว เนื่องจากเกษตรกรต้องใช้เมล็ดกาแฟมาเป็นอาหารให้ตัวชะมด  ส่วนตัวชะมดที่เลี้ยงจะเป็นเพศผู้หรือเมียก็ได้ เพราะไม่มีผลให้รสชาติของกาแฟเปลี่ยนไป ในขณะที่เมล็ดกาแฟสุกนั้นเป็นอาหารของชะมดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นชะมดตัวผู้หรือตัวเมีย ก็ให้ผลผลิตไม่ต่างกัน โดยจะเก็บเมล็ดกาแฟสุกจากต้นมาให้ชะมดกิน 1.5 กิโลกรัมต่อตัวในตอนเย็น เนื่องจากชะมดหากินในเวลากลางคืน วันรุ่งขึ้นแต่ละตัวก็จะขี้ออกมาโดยเฉลี่ยประมาณ 2-4 ขีด

                   “เคยมีคนต่อต้านว่าการทำกาแฟขี้ชะมดเป็นการทรมานสัตว์ ผมว่าไม่จริงครับ เพราะเวลาเราเอาเมล็ดกาแฟให้ชะมดกิน เขาจะกินไม่กินก็เป็นเรื่องของเขา เราไม่สามารถไปบังคับได้ บางตัวกินจนหมด บางตัวกินเข้าไปถ้าไม่ชอบก็คายออกมา ส่วนอาหารเราก็ให้ตามปกติอยู่แล้ว” พิเชษฎ์แจงพร้อมอธิบายวิธีการที่ได้มาของกาแฟขี้ชะมด โดยเริ่มจากการนำเมล็ดกาแฟที่สุกบนต้นมาให้ตัวชะมดกิน และจะสังเกตว่าชะมดจะเลือกกินเฉพาะเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพดี โดยจะกินเมล็ดกาแฟพร้อมกับเนื้อเข้าไปก่อนจะถ่ายออกมาเป็นก้อนๆ หลังจากนั้นก็นำเมล็ดกาแฟเหล่านั้นไปตากแดดจนแห้งแล้วบ่มต่ออีก 6 เดือน ก่อนจะแกะออกมาจากกะลาเพื่อนำไปแปรรูปต่อไป โดยเชื่อกันว่าการหมักหมมในทางเดินอาหารและกลไกการย่อยของชะมดเป็นตัวช่วยทำให้รสชาติของเมล็ดกาแฟจากขี้ชะมดนั้นดีกว่ากาแฟโดยทั่วไป    

“กาแฟขี้ชะมด”แห่งแรกในกระบี่ ฝีมือ"พิเชษฎ์ เป็ดทอง"

                   ปัจจุบันสวนกาแฟของเขามีพื้นที่ปลูกประมาณ 15 ไร่ เป็นสายพันธุ์โรบัสต้า ซึ่งปลูกกันมากทางภาคใต้ มีชะมดที่เลี้ยงไว้จำนวน 33 ตัว  โดยผลผลิตกาแฟขี้ชะมดจากสวนแห่งนี้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเมล็ดกาแฟคั่ว กาแฟสำเร็จรูป กาแฟชงพร้อมดื่มบรรจุซอง มีหลายขนาดและราคาให้เลือก สนนราคาจำหน่ายกิโลกรัมละ 1.8-2 หมื่นบาท โดยมีตลาดหลักโรงแรมต่างๆ ใน จ.กระบี่และภูเก็ต ลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งมีความชื่นชอบกาแฟขี้ชะมดเป็นพิเศษเนื่องจากมองว่าเป็นยาอายุวัฒนะ

                   สำหรับ พิเชษฎ์ เป็ดทอง ปัจจุบันอายุ 35 ปี เกิดในครอบครัวอาชีพเกษตรกร ทำการเกษตรมาตั้งแต่เด็กและศึกษาเล่าเรียนทางการเกษตรทั้งการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ จบการศึกษาปริญญาตรี และทำงานในส่วนราชการสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดกระบี่ เป็นเวลา 9 ปี หลังจากนั้นลาออกจากงานเข้าสู่ภาคการเกษตร พ.ศ. 2555 โดยการสมัครเป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์กับสำนักงานเกษตรอำเภอลำทับ และสำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ โดยการทำเกษตรในรูปแบบผสมผสาน ปลูกพืชหลายๆ ชนิดในพื้นที่ ทำให้ได้รับผลผลิตตลอดเวลาต่อเนื่องทั้งปี และเลี้ยงชะมดเพื่อผลิตกาแฟขี้ชะมดเนื่องจากพ่อแม่เคยทำสวนกาแฟและกาแฟที่ปลูกยังเหลืออยู่จนถึงปัจจุบัน

“กาแฟขี้ชะมด”แห่งแรกในกระบี่ ฝีมือ"พิเชษฎ์ เป็ดทอง"

                   นับเป็นอีกความภูมิใจของเขาและคนกระบี่ที่กาแฟและพืชเศรษฐกิจสำคัญในอดีตยังคงอยู่ในพื้นที่ อ.ลำทับ และเป็นการสร้างมูลค่าทั้งกาแฟและชะมดให้อยู่ร่วมกัน ได้ประโยชน์เกื้อหนุนกัน พื้นที่สวนกาแฟมีพันธุ์ไม้ที่หลากหลาย ต้นไม้ทุกชนิดอยู่ร่วมกันได้และยังให้ผลผลิตตลอดปี หมุนเวียนกันไป ปัจจุบันนี้สวนกาแฟลำทับของพิเชษฎ์ เป็ดทอง ถูกยกให้เป็นศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ภายในศูนย์นอกจากมีสวนกาแฟแล้วยังมีไม้ใช้สอยแซมกับพืชเศรษฐกิจ เช่น กล้วยหอมทอง มะละกอ อนุรักษ์ผึ้งโพรงไทย การเจาะน้ำจากต้นไผ่ การเลี้ยงไก่พื้นเมืองและยังเป็นสถานที่ศึกษาดูงานเศรษฐกิจพอเพียงที่สำคัญของ จ.กระบี่ อีกด้วย 

เส้นทางเติบโต “กาแฟขี้ชะมด”

         กาแฟขี้ชะมด หรือ กาแฟชะมด เป็นเมล็ดกาแฟที่สัตว์กลุ่มชะมดโดยเฉพาะคืออีเห็นข้างลาย กินและถ่ายออกมา ก่อกำเนิดที่หมู่เกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ก่อนแพร่ขยายไปสู่ฟิลิปปินส์ เวียดนามและไทยในเวลาต่อมา โดยคนอินโดนีเซียเรียกกาแฟชนิดนี้ว่าโกปี ลูวะก์  มีราคาซื้อขายที่สูงมาก เมื่อขายปลีกเป็นกาแฟปรุงสำเร็จถ้วยละ 500-1,500 บาท และขายเป็นเมล็ดกาแฟ กิโลกรัมละหลายหมื่น ผู้ผลิตกาแฟจากต้นตำรับอ้างว่าวิธีการที่ให้กำเนิดกาแฟชนิดนี้เป็นการเพิ่มคุณภาพผ่านกลไกสองอย่างคือ การคัดเลือกเมล็ดและการย่อย คือ ชะมดจะเลือกกินเมล็ดกาแฟซึ่งมีคุณภาพที่ดีกว่าและกลไกการย่อยของชะมดอาจจะเพิ่มรสชาติของเมล็ดกาแฟ คือชะมดจะกินเมล็ดกาแฟพร้อมกับเนื้อเข้าไป และจะเกิดการหมักหมมในทางเดินอาหารเอนไซม์ Protease ซึ่งช่วยย่อยโปรตีนจะซึมเข้าไปในเมล็ด ทำให้เกิดเพปไทด์ที่สั้นกว่าและจำนวนกรดอะมิโนอิสระที่มากกว่า ส่วนเมล็ดจะผ่านระบบทางเดินอาหารของตัวชะมดจนกระทั่งถ่ายออกมา ซึ่งชาวไร่จะเก็บและนำผ่านกระบวนการผลิตต่อไป กาแฟขี้ชะมดจัดเป็นกาแฟที่แพงที่สุดชนิดหนึ่งในโลก   ในประเทศเวียดนามกาแฟชะมดเรียกว่า cà phê Chồn ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Weasel coffee ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคมาก ส่วนในประเทศไทยเริ่มปรากฏไร่ผลิตกาแฟขี้ชะมดที่ จ.กาญจนบุรี ตราด ชุมพร และเชียงราย  

                                                                              .....................................................................

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ