ข่าว

ธีรพงศ์ จันศิริตั้ง'ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน'ยกระดับปลาทูน่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ธีรพงศ์ จันศิริตั้ง'ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน'ยกระดับ'ปลาทูน่า'ให้แตกต่างและหลากหลาย : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยสันทนา รัตนอำนวยศิริ

            ถ้าพูดถึง “ธุรกิจแปรรูปปลาทูน่ากระป๋อง รายใหญ่ที่สุดของโลก” ต้องยกให้ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทที่มุ่งพัฒนาต่อยอดธุรกิจผลิตทูน่ากระป๋อง เน้นการสร้างนวัตกรรม ควบคู่กับการเพิ่มคุณภาพบุคลากร เพราะขณะนี้ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” กลายเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการพัฒนาขับเคลื่อนประเทศทุกด้าน ยิ่งกลุ่มภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ มีความจำเป็นต่อการยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการให้แตกต่างหลากหลายอย่างมาก เพื่อเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพาสังคมไทยก้าวสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ “ประเทศไทย 4.0”

            ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จึงร่วมมือกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ภาคการศึกษา สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม และบุคลากรนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตอบโจทย์แก้ปัญหาด้านต่างๆ ของทุกภาคส่วน ผ่านการจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน" หรือ Global Innovation Incubator (Gii) ศูนย์นวัตกรรมแห่งแรกของไทยที่ลงทุนโดยภาคเอกชน

            ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ทียู กล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีอัตราค่าแรง หรือต้นทุน ถูกที่สุดในโลกอีกแล้ว ทำให้ไทยไม่มีอำนาจในการต่อรองด้านอื่นๆ นอกจากด้านราคา ดังนั้น นวัตกรรมจึงเป็นคำตอบที่จะสร้างความแตกต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทำธุรกิจ เป็นเหตุผลที่ ไทยยูเนี่ยน ก่อตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน” ที่ใช้เงินลงทุน 600 ล้านบาท ในระยะ 3 ปี ให้เป็นศูนย์นวัตกรรมที่สร้างความเข้มแข็ง เพิ่มกำไร เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และความอยู่รอดของธุรกิจ

            “ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน เป็นการนำวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า การจดลิขสิทธิ์ เพื่อไม่ให้สินค้าที่คิดค้นขึ้นถูกลอกเลียนแบบได้ รวมถึงเป็นแหล่งองค์ความรู้ และผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย สร้างนวัตกรรมที่มีประโยชน์ แปลกใหม่ไม่เหมือนใคร โดยไทยยูเนี่ยนตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2020 บริษัทจะมีรายได้สูงถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา คาดหวังว่า ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนจะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 10% เป็นศูนย์ที่เพิ่มความสามารถในการทำกำไร และคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยบริษัทให้ความสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้วัตถุดิบให้เกิดมูลค่าอย่างเต็มที่ 2.ด้านสิ่งแวดล้อม และ 3.ด้านการพัฒนาชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย"

            ธีรพงศ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีคุณภาพสูง ได้แก่ นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยระดับอาจารย์ นิสิต นักศึกษา จำนวนมาก แต่ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมยังขาดความสนใจในการลงทุนด้านนวัตกรรม ทำให้ไม่มีการประสานให้เกิดการวิจัยร่วมกันในเชิงพาณิชย์ระหว่างภาครัฐกับเอกชน ซึ่งไทยยูเนี่ยนมีความภาคภูมิใจและยินดีอย่างยิ่งที่สามารถสร้างศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนขึ้นภายใต้การสนับสนุนส่งจากรัฐบาล ทั้งด้านการลดหย่อนภาษี และมาตรการสิทธิประโยชน์ต่างๆ เชื่อว่าอีก 3 ปีข้างหน้า จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในวงการธุรกิจ ได้เห็นนวัตกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น

            “นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังมีแผนจะขยายพื้นที่ศูนย์นวัตกรรมฯ ให้ใหญ่ขึ้นอีก 5-10 เท่า ในปี 2017 จากปัจจุบันมีพื้นที่ 1,200 ตร.ม. มีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสร้างนวัตกรรมประมาณ 70 คน ไทยยูเนี่ยนจะชักชวนผู้มีความรู้ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ มาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต สร้างนวัตกรรมเพื่อความแตกต่างให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมถึงทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดโอกาสให้ผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ร่วมกัน เพราะศูนย์นวัตกรรมที่เริ่มต้นจากการพัฒนาปลาทูน่า เตรียมแผนขยายขอบเขตไปสู่อาหารสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ เช่น กุ้ง ที่ได้มีการเตรียมทีมงานในการใช้นวัตกรรมพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และในไตรมาส 4 นี้ จะมีการเปิดตัวสินค้าที่เกิดจากนวัตกรรม งานวิจัยเชิงพาณิชย์ ภายใต้การคิดค้นจากศูนย์นวัตกรรมแห่งนี้ด้วย”

            ธีรพงศ์ มองปัญหาการลงทุนนวัตกรรมในประเทศไทย ที่ยังไม่สามารถเดินไปถึงโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ประเทศไทย 4.0 ว่า การลงทุนนวัตกรรม ต้องเริ่มจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร ว่า เห็นความสำคัญหรือไม่ มีเงินลงทุนหรือไม่ และมีกำลังคนเพียงพอที่จะรองรับการทำงานหรือไม่ เพราะนวัตกรรมเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เวลา กว่าจะเห็นผล ซึ่งบริษัทคนไทยมีความสามารถในการลงทุน แต่ไม่ต้องการรอคอยนาน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเข้ามากระตุ้น ทั้งด้านภาษี เงินทุน หรือสิทธิประโยชน์ เพื่อให้เกิดการลงทุนได้ง่ายขึ้น ส่วนเรื่องบุคลากร ไทยยูเนี่ยนมีความสามารถที่จะดึงคนเก่งทั่วโลกมาทำงานในไทยได้อย่างแน่นอน

            “ไทยยูเนี่ยน คาดหวังค่อนข้างสูงว่า ถ้าผลงานของศูนย์นวัตกรรม เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จะนำไปสู่ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ทั้งด้านคุณภาพ ต้นทุน ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ความแตกต่างจากคู่แข่ง และนำไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ หากในปี 2020 บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โฉมหน้าของไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จะแตกต่างจากปัจจุบัน ทั้งในแง่ผลิตภัณฑ์ และภาพลักษณ์ของบริษัท ที่มีความน่าเชื่อทั้งด้านรายได้ ความสามารถในการทำกำไร เป็นผู้นำนวัตกรรม และการสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจ”

            ความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิตคนในสังคม ไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่ควรจะเป็นความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน ซึ่ง “ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป” บริษัทเอกชนที่พร้อมลงทุนในการพัฒนา การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างสินค้า และบริการที่มีคุณภาพ สร้างกำไร และยกระดับคุณภาพชีวิตของคน เพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้แก่ประเทศไทยสืบต่อไป

            ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันคนบริโภคปลากระป๋องน้อยลง เพราะมองว่าปลากระป๋องก็คือปลากระป๋อง ไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นจุดเริ่มทำให้ไทยยูเนี่ยนอยู่เฉยไม่ได้ ต้องคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งต้องลงทุนสูงและใช้ระยะเวลายาวนาน มองภาพทูน่าได้ครบทุกด้าน เพื่อให้เพิ่มยอดขาย มีตลาดกว้างขึ้น และเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพิ่มกำไร สร้างนวัตกรรม เพิ่มผลิตภัณฑ์ เพิ่มบุคลากรด้านวิจัย และวิทยาศาสตร์ให้แก่ประเทศ

            “ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน เปิดมาประมาณปีกว่าๆ ภายใต้ความร่วมมือของ ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และจะขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มรภ.จันทรเกษม และ จุฬาฯ เพื่อชักชวนมาทำงานวิจัย คิดค้น สร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน”

            ดร.ธัญญวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ภายในปี 2016 ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน ตั้งเป้าจะเพิ่มนักวิจัยให้ได้มากกว่า 100 คน ขณะนี้ได้ลงนามความร่วมมือในโครงการแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยผลิตนักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ กับ 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รับบัณฑิตสาขาด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เข้าทำงานในศูนย์นวัตกรรม และทำงานวิจัยควบคู่กันไป โดยจะมีอาจารย์จาก 3 มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษา ผลงานวิจัยที่ได้นอกจากเป็นประโยชน์ต่อบริษัท นิสิต นักศึกษาแล้ว ยังได้ยกระดับดีกรีและใช้เป็นผลงานในการจบปริญญาโท และปริญญาเอก ได้ด้วย

            ขณะนี้ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน ได้จดสิทธิบัตรไปแล้ว 4 เรื่อง เป็นการนำนวัตกรรมผลิตงานวิจัยที่จะนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ แตกต่างจากสินค้าชนิดอื่นๆ คาดว่า ภายในปี 2016 ไทยยูเนี่ยนจะออกผลิตภัณฑ์ตัวแรกของโลกเกี่ยวกับปลาทูน่า ที่ไม่เคยเห็นผลิตภัณฑ์เช่นนี้ที่ไหนมาก่อน เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทแรกที่ได้นำนวัตกรรมมาผลิตปลาทูน่าที่คุ้มค่า มีการใช้ปลาทูน่าสร้างมูลค่าในการทำอาหารให้คนได้รับประทานมากขึ้น เป็นการเพิ่มกำไร โดยการทำให้ปลาทูน่ามีคุณภาพสูง ควบคู่ไปกับการลดใช้พลังงานทุกด้าน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่ธุรกิจของไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ