ข่าว

เติมนวัตกรรม'เก้าอี้'เพื่อสุขภาพปั้นZEDEREแข่งในเวทีระดับโลก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เติมนวัตกรรม'เก้าอี้'เพื่อสุขภาพปั้น'ZEDERE'แข่งในเวทีระดับโลก : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดย...กุมุทนาถ สุตนพัฒน์

            เมื่อพูดถึง “เฟอร์นิเจอร์” ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับหลายๆ คน เนื่องจากผู้คนทั่วไปไม่ได้ซื้อเฟอร์นิเจอร์กันทุกวัน จึงถือเป็นภารกิจท้าทายของผู้บริหารหนุ่มน้อยวัย 23 ปี “เคนจิ" นัยธาดา นันทน์วิธู ที่ต้องกลับมารับผิดชอบบริหารธุรกิจของครอบครัว ซึ่งเป็นผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์หนัง หลังจากคุณพ่อผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวเสียชีวิตลง ทั้งที่ไม่เคยรับรู้เรื่องราวการดำเนินธุรกิจของครอบครัวมาก่อน เพราะถูกส่งไปเรียนหนังสือและใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศตั้งแต่อายุเพียง 10 ขวบ 

            อย่างไรก็ตาม เคนจิได้ฝ่าฟันอุปสรรคและเรียนรู้การบริหารธุรกิจของครอบครัวมาได้อย่างดี โดยมีคุณแม่เป็นอีกหนึ่งแรงที่ช่วยประคับประคอง จนถึงวันนี้แบรนด์ ZEDERE ที่เขาปลุกปั้นได้ออกไปจดทะเบียนในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ออสเตรเลีย นอร์เวย์ สิงคโปร์ และจีน

            “นัยธาดา นันทน์วิธู” กรรมการบริหาร บริษัท ทีมเฟอร์น (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์หนังแบรนด์ ZEDERE บอกว่า สนใจเรื่องการทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก โดยมีจุดเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือชีวประวัติของผู้ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ จึงได้เลือกเรียนทางด้านธุรกิจการตลาดโดยตรง ซึ่งอีกเหตุผลหนึ่งที่เลือกเรียนด้านนี้ เพราะเป็นคนที่ไม่ชอบเรียนหนังสือ หรือเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง โดยเฉพาะวิชาที่ต้องการใช้การคำนวณอย่างวิชาคณิตศาสตร์นั้น แทบจะไม่ย่างกรายเข้ามาอยู่ในความทรงจำเอาเสียเลย 

            “ผมยอมรับเลยว่าไม่ชอบเรียนหนังสือ และไม่ใช่คนเรียนเก่ง โดยเฉพาะคณิตศาสตร์นี่ไม่อยู่ในหัวเลย มีอย่างเดียวที่เข้าหัวและสนุกกับมันคือ การอ่านหนังสือประวัติผู้คนที่ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะนักธุรกิจเก่งๆ ตรงนี้จุดประกายทำให้ผมอยากทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก”

            การถูกส่งไปเรียนหนังสือในต่างประเทศตั้งแต่วัย 10 ขวบ ใช้ชีวิตอยู่ไกลห่างจากพ่อแม่ที่คอยดูแลประคบประหงม ทำให้หนุ่มน้อยคนนี้ต้องดูแลรับผิดชอบและทำอะไรด้วยตัวเองเสียเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อร่ำเรียนจบก็ยังไม่คิดกลับบ้านในทันที ด้วยความอยากเรียนรู้จากครูอาจารย์ภายนอกสถาบันและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้วยตัวเอง ในปีแรกเขาจึงตัดสินใจไปทำงานกับยูเอ็นเอสซีอาร์ (UNSCR) ซึ่งเป็นหน่วยงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการระดมทุนช่วยผู้ลี้ภัย 

            เขาบอกว่าไม่ผิดหวังกับการเลือกเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานที่นั่นเป็นเวลา 1 ปี เพราะได้ครูดีมาช่วยสอนหลักคิด การพูด การนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจได้ แม้ระยะเวลาการทำงานจะค่อนข้างสั้น เพราะช่วงนั้นสัญญาณจากธุรกิจทางบ้านไม่ค่อยดีนัก โดยได้รับผลกระทบจากการที่จีนเปิดประเทศ และมีการผลิตสินค้าราคาถูกออกมาตีตลาด ทำให้ยอดขายสินค้าของครอบครัวตกลงมาก

            เมื่อกลับมารับช่วงธุรกิจของครอบครัว “เคนจิ” บอกว่า ช่วงแรกค่อนข้างเหนื่อย เพราะทุกอย่างไม่ค่อยเป็นระบบนัก ขณะที่ตอนทำงานในต่างประเทศเขาคุ้นเคยกับการทำงานทุกอย่างเป็นระบบไปหมด แต่กลับมาทำงานเมืองไทยแทบหาระบบไม่ได้เลย จึงต้องเริ่มปรับกระบวนการทำงานต่างๆ ในบริษัทให้เป็นระบบมากที่สุด รวมถึงการปรับรูปแบบของสินค้าใหม่ทั้งหมด ซึ่งเดิมสินค้าของบริษัทจะเน้นเก้าอี้ปรับนอน กลุ่มลูกค้าจะเป็นร้านเสริมสวย และราคาก็ไม่แพง

            “เห็นสินค้าตอนนั้น เราเองยังไม่อยากซื้อเลย ผมเข้ามาพยายามปรับใหม่ ซึ่งการทำงานก็ลองผิดลองถูกมาตลอด บังเอิญได้เรียนรู้งานกับบริษัทที่ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเรารับจ้างผลิตให้เขา จึงคิดว่าหากยังมุ่งผลิตสินค้าราคาถูกและใช้ชื่อคนอื่นก็คงทำต่อไปไม่ได้ เพราะหากคู่ค้าไปเจอผู้ผลิตรายอื่นที่มีราคาถูกกว่าคงไม่เลือกเรา จึงมีแนวคิดที่จะทำแบรนด์เป็นของตัวเอง”

            นอกจากนี้ ยังคิดว่าเมื่อเรามีเครือญาติทำธุรกิจฟอกหนังอยู่แล้ว ทำไมถึงไม่คิดผลิตสินค้าที่ราคาแพงไป จึงทำการปรับเปลี่ยนการผลิต เน้นสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาแพง และเมื่อทำไปได้ระยะหนึ่งก็มีลูกค้าเก่าแก่ติดต่อกลับมา ได้เห็นสินค้าของเรามีคุณภาพดีขึ้น ก็เข้ามาช่วยด้านการทำตลาด ซึ่งเราก็มองว่าการมีต่างชาติมาร่วมงานอย่างน้อยถือเป็นหน้าตา เป็นภาพลักษณ์ เพราะเวลาไปคุยกับลูกค้าเราจะเหมือนเด็ก ยังต้องเพิ่มประสบการณ์ในการพูดการเจรจา ตอนนั้นคิดว่าหากถูกหลอกก็คิดว่าทุกอย่างคือการเรียนรู้ ทำให้แข็งแรงขึ้น

            สำหรับแบรนด์ ZEDERE เป็นภาษาอิตาเลียนแปลว่า เชิญนั่ง อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกคู่ค้าต่างชาติไม่เห็นด้วย ไม่อยากให้ทำโฆษณา เพราะทำให้ต้นทุนสูง อีกทั้งการทำแบรนด์ในต่างประเทศเป็นเรื่องยาก เราไม่มีบุคลากรในการทำงานด้านนี้ แต่ในเมืองไทยนั้นนิยมในเรื่องการทำแบรนดิ้ง จึงมองว่าการทำแบรนด์ในประเทศง่ายกว่ามาก และเราก็เชื่อว่าสินค้าเหล่านี้ยังสามารถเติบโตไปต่อได้ จากการที่ภาวะผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความต้องการสูงตามไปด้วย

            ผู้บริหารหนุ่มบอกว่ายอมรับว่าช่วงแรกๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าเก้าอี้พวกนี้ขายอะไร เพราะจะเน้นแต่การออกแบบให้มีรูปลักษณ์สวยงาม เรียบร้อย แต่จริงๆ แล้ว เก้าอี้เหล่านี้มีความลึกซึ้งอยู่มาก จุดแรกที่ขายคือ เรื่องของสรีระ พร้อมกับปรับโครงสร้างให้แข็งแรง เอาไม้เข้ามาเสริมให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น วัตถุดิบข้างในที่รุ่นเก่าๆ จะเน้นราคาถูกที่ตอบสนองกับราคา แต่เมื่อคิดว่าน่าจะยกระดับทำให้เป็นสินค้าระดับพรีเมียมไปเลย ไหนๆ จะทำชื่อของเรา น่าจะทำให้ดีๆ เลย ใช้วัตถุดิบที่ดีที่สุด

            เมื่อปลุกปั้น ZEDERE มาระยะหนึ่ง ก็มีโอกาสไปออกงานแสดงสินค้าเฟอร์นิเจอร์นานาชาติที่ประเทศสิงคโปร์ ถือเป็นการออกงานในต่างประเทศครั้งแรกและใหญ่มาก จากที่ก่อนหน้านี้ในการออกงานแสดงสินค้าแต่ละครั้งจะขายสินค้าได้ประมาณ 2-3 ตู้คอนเทนเนอร์ หากเป็นเก้าอี้ก็ประมาณ 500-600 ตัว แต่การออกงานครั้งนั้นขายได้ทั้งหมด 19 คอนเทนเนอร์ ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะมีการพูดคุยสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างดีี ทำให้ทุกอย่างออกมาดี

            แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ “เคนจิ” บอกว่า เคยมองพลาดมาหลายอย่าง เช่น การออกแบบก็ตามใจตัวเอง มุ่งแต่จะทำสินค้าให้สวยงาม โดยใช้มุมมองของตัวเอง ไม่ได้รับรู้ว่าลูกค้ามองสวยเหมือนกันหรือไม่ แต่ทุกวันนี้การออกแบบจะเริ่มจากการรับฟังเสียงสะท้อนของลูกค้า ฟังคำแนะนำที่ได้รับมา และการสังเกตจากการออกงานที่ลูกค้าเข้ามาลองนั่งแล้วมีการขยับตัว ซึ่งก็คาดเดาเอาว่าคงนั่งไม่สบาย หรือต้องการความสะดวกสบายเพิ่มเติมในส่วนต่างๆ

            สิ่งเหล่านั้นทำให้พบว่าทุกคนมีสรีระที่ไม่เหมือนกัน วันนี้สินค้าบริษัทมีประมาณ 22 รูปแบบ 22 การนั่ง โดยสิ่งแรกที่ออกแบบคือ ฟังลูกค้า ต่อไปเป็นเรื่องการใช้นวัตกรรม ซึ่งต้องมีการพัฒนาตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกลไกอะไร ทุกอย่างเรามีหมด ไม่ว่าจะเป็นเตียงที่ปรับได้ โดยนำไฟฟ้ามาช่วย หรือเก้าอี้ไฟฟ้า ปรับด้วยบลูทูธผ่านมือถือ การติดเซ็นเซอร์ตรวจสอบ เชื่อมระบบกับโทรศัพท์มือถือ เพียงแค่แตะเก้าอี้จะปรับเอนให้อย่างเหมาะสม และยังมีอีกหลายอย่างที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทุกวันนี้บริษัทสามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วภายใน 4 ปี หลังจากทำแบรนดิ้ง ปัจจุบันมีแกลเลอรี่ทั้งสิ้น 826 สาขาทั่วโลก และสินค้า ZEDERE มียอดขายติดอันดับ 5 ของโลก

            “แนวคิดของเราคือ การหาเสื้อผ้าที่พอดีตัวให้กับลูกค้า เมื่อลูกค้าใส่เสื้อผ้าที่พอดีตัวจะมีความมั่นใจ เช่นเดียวกับการมองหาเก้าอี้ หากพบว่าพอดีตัวก็จะส่งเสริมหลายๆ อย่าง จะไม่เมื่อยหลัง ดูแลเรื่องสรีระ ระบบหายใจ”

            จับไลฟ์สไตล์ผนึกเฟอร์นิเจอร์กลยุทธ์การขายสร้างความคุ้นชิน

            เพราะผู้คนไม่ได้ซื้อเฟอร์นิเจอร์กันทุกวัน จึงถูกมองเป็นเรื่องไกลตัว จากมุมมองนี้ทำให้ “นัยธาดา นันทน์วิธู” นำแนวคิดไลฟ์สไตล์โชว์รูม มาใช้ในการสร้างแบรนด์ของสินค้า ZEDERE เพื่อรองรับเฟอร์นิเจอร์ที่นั่งสบาย เป็นการเชิญชวนให้คนเข้ามาทดลองนั่ง โดยอันดับแรกพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้ามานั่ง เลยคิดว่าจะใช้กาแฟ อาหาร หรือเครื่องดื่ม เป็นตัวดึงดูด 

            จึงนำมาสู่การเปิด Zedere De Cafe ที่เมกาบางนา ชูแนวคิดที่มีกาแฟอยู่ข้างหน้า อย่างน้อยหากลูกค้าไม่ซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม่เป็นไร แต่หากได้ลองสัมผัสจริง เมื่อมานั่งในร้าน สักวันหนึ่งอาจจะซื้อและจดจำชื่อสินค้าได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสินค้าไลฟ์สไตล์ที่คนซื้อง่ายและเข้าถึงง่าย 

            “เราอยากให้คนเข้ามาลิ้มลองกาแฟและได้สัมผัสเฟอร์นิเจอร์ของเราบ่อยๆ แต่เมื่อถึงตรงนี้ ก็มองว่าธุรกิจยังต้องปรับตัวตลอดเวลา แม้ยอดขายเก้าอี้ในแกลเลอรี่แห่งนี้จะสูงพอสมควรถึง 6 ล้านบาทต่อเดือน”

            ทั้งนี้ ถือว่าแกลเลอรี่รูปแบบร้านกาแฟ ซึ่งเปิดให้บริการที่เมกาบางนาเป็นที่แรกมาเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์จะมีลูกค้ามาเป็นครอบครัว ปล่อยให้ลูกๆ นั่งกินกาแฟ แล้วพ่อแม่จะเดินเลือกเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งการที่คนรุ่นใหม่หรือลูกๆ ได้เห็นบ่อยๆ ก็รู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้ไม่แปลก วันหนึ่งจะรู้สึกดีกับเฟอร์นิเจอร์เพื่อสุขภาพ

            พร้อมกันนี้ เขายังแตกไลน์ธุรกิจเพิ่มเติม โดยแปรรูปหนังให้เป็นไลฟ์ไตล์มากขึ้น เพราะทุกวันจะมีเศษหนังที่เหลือจากการผลิตเก้าอี้ก็จะทิ้ง จึงมีแนวคิดนำไปผลิต รองเท้า และนาฬิกา เป็นต้น ซึ่งการผลิตรองเท้า หลายคนบอกว่าหนังเฟอร์นิเจอร์จะนุ่มและยืดกว่าหนังรองเท้าที่ปกติจะแข็ง จึงหาช่างที่มีเทคโนโลยีที่ดี ก็ประสบความสำเร็จ สามารถผลิตสินค้าอื่นๆ มาเสริมธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ได้

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ