ข่าว

‘น.ท.ชูพงศ์ ไชยหลาก’นักวิจัยคิดค้น‘ถุงเท้าป้องกันแบคทีเรีย’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

‘น.ท.ชูพงศ์ ไชยหลาก’ทหารอากาศนักวิจัยคิดค้น‘ถุงเท้าป้องกันแบคทีเรีย’ : คมคิดจิตอาสา โดยสันทนา รัตนอำนวยศิริ

             จากแนวคิดที่มองเห็นถึงสภาพปัญหาในปัจจุบัน การพัฒนาพัสดุสายพลาธิการของทหารอากาศ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการคิดค้น วิจัย และลงมือปฏิบัติ ผ่านกระบวนการศึกษาและเรียนรู้อย่างมุ่งมั่น ตั้งใจ ต่อยอดสู่การถ่ายทอดความรู้ด้านวิชาการ ด้วยผลงานหลากหลายมิติ เพื่อสนับสนุนกองทัพ และเสริมสร้างความพร้อมในการป้องกันประเทศ และผลงานยังมีแววก้าวเข้าสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งมุมมองของสายทหารในวันนี้โลดแล่นไปข้างหน้าได้อย่างกว้างไกล อาจเปรียบได้ว่า “ยามศึกเรารบ ยามสงบเราคิด”

             น.ท.ชูพงศ์ ไชยหลาก หัวหน้าแผนกวิจัยและตรวจทดลอง กรมพลาธิการทหารอากาศ กองทัพอากาศ เล่าว่า อาชีพหลักที่ทำทุกวันนี้คือ ทหารอากาศ ที่เป็นรั้วของชาติ แต่หน้าที่หลักที่ทำคือ งานตรวจทดลองคุณภาพพัสดุสายพลาธิการ เพื่อใช้ในกิจการพลาธิการ จำพวกอาภรณ์ภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้สำนักงาน ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ซึ่งทีมงานทุกคนในแผนก ร่วมกันพัฒนาชิ้นงานวิจัยหลากหลายด้าน เพื่อสนับสนุนกรมพลาธิการทหารอากาศ ให้เป็นองค์กรที่มีมาตรฐานเป็นเลิศด้านงานบริการ เช่น ผ้าขาวป้องกันสิ่งสกปรก ด้วยคุณสมบัติอันโดดเด่นของสารนาโนฟลูออโรคาร์บอน ป้องกันคราบสกปรกจากเหงื่อ น้ำชา กาแฟ เลือด และหมึกได้ การันตีด้วยรางวัลรองชนะเลิศ สิ่งประดิษฐ์คิดค้นและผลงานทางวิชาการของกองทัพอากาศ ประจำปี 2559 เครื่องหมายอินทรธนูที่มีดิ้นโลหะชุบทองเป็นส่วนประกอบ ใช้ซิลิกอนไดออกไซด์นาโน สามารถช่วยลดความหมองคล้ำของทองชุบเครื่องหมายอินทรธนู และเครื่องหมายแสดงความสามารถให้มีความสวยงามและคงทน
  
             “ปีนี้ แผนกวิจัยและตรวจทดลอง กรมพลาธิการทหารอากาศ กองทัพอากาศ ได้เข้าร่วมงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2559 เพื่อโชว์ศักยภาพของหน่วงานกองทัพอากาศ แต่ที่แผนกของผมภูมิใจนำเสนอมาก คือ ถุงเท้าป้องกันแบคทีเรีย และไมโครแคปซูลกลิ่นหอม เป็นผลงานวิจัยที่คิดค้นขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของกำลังพลที่ประสบปัญหาเชื้อรา โรคผิวหนังที่เท้า อันเนื่องมาจากความอับชื้นที่ไม่สามารถเปลี่ยนถุงเท้าเป็นระยะเวลาหลายวันขณะปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม นวัตกรรมนี้สามารถประยุกต์เข้าไปได้กระบวนการตกแต่งซิงค์ออกไซด์นาโนจากเส้นใยก่อนถักเป็นถุงเท้า หรือใช้กับถุงเท้าสำเร็จรูปได้เลย ซึ่งถุงเท้าที่เคลือบซิงค์ออกไซด์นาโน และไมโครแคปซูลหอมนี้ ทำให้สามารถใส่ถุงเท้าคู่เดิมได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนนานถึง 3 วัน จึงสะดวกกับกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ภาคสนาม รวมทั้งการนำเสนอสารฟลูออโรคาร์บอนสำหรับผ้าขาว ช่วยให้ผ้าสะท้อนน้ำและน้ำมัน ไม่ให้สิ่งสกปรกซึมแทรกเข้าสู่เส้นใยผ้า ยกระดับความมั่นใจให้แก่กำลังพลในทุกการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแผ่นดิน”

             น.ท.ชูพงศ์ ยังเล่าถึงประสบการณ์การทำงานในอาชีพทหารอากาศให้ฟังด้วยว่า หลังจากเรียนจบการศึกษานักเรียนจ่าอากาศ ในปีการศึกษา 2526 ก็เข้ารับราชการในตำแหน่งแรก คือ เจ้าหน้าที่ตรวจทดลอง กองวิทยาการ กรมพลาธิการทหารอากาศ รับผิดชอบการวิเคราะห์ วิจัย ตรวจทดลองคุณภาพ พัสดุสายพลาธิการ เพื่อใช้ในกิจการพลาธิการ จำพวกอาภรณ์ภัณฑ์ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้สำนักงาน ทำให้มีโอกาสได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างไม่หยุดนิ่ง อีกทั้งได้พัฒนาตัวเอง จนสามารถสอบผ่านเป็นนายทหารสัญญาบัตร ติดยศ “เรืออากาศตรี” และรับผิดชอบในตำแหน่ง “นายทหารตรวจทดลอง”
  
             “หลังจากได้เป็นนายทหารสัญญาบัตร ผมก็ได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโท คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ผมมีความคิดว่า อยากทำงานวิจัยเพื่อเสริมสร้างความพร้อมในการป้องกันประเทศ จากองค์ความรู้ที่ได้รับ ผสมผสานกับการมองเห็นปัญหาการขาดแคลนเสื้อเกราะกันกระสุนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมจึงได้คิดค้น วิจัย บูรณาการทางความคิด ร่วมกับ รศ.ดร.สมประสงค์ ภาษาประเทศ อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และสถาบันอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม ตกผลึกเป็นเสื้อเกราะกันกระสุนจากวัสดุสังเคราะห์ ด้วยการนำเส้นใยสังเคราะห์ที่สามารถหาได้ภายในประเทศ มาสังเคราะห์ผ่านกรรมวิธีต่างๆ ผลิตเป็นเสื้อเกราะกันกระสุน และส่งมอบให้แก่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างภาคภูมิใจ”

             นับเป็นก้าวสำคัญของวงการอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย ที่จะสามารถต่อยอดและพัฒนาในงานวิจัยเสื้อเกราะกันกระสุนที่ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ เพื่อนำไปใช้งานได้จริงในภาคสนาม เป็นการลดการนำเข้ายุทโธปกรณ์จากต่างชาติ ดึงประสิทธิภาพของแหล่งวัตถุดิบที่มีอยู่ในประเทศ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในทิศทางเดียวกันยังเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถและศักยภาพด้านการวิจัย เพื่อสร้างความมั่นคงของภาครัฐสู่ความยั่งยืน
 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ