ข่าว

แต้มศิลปะเพิ่มสีสันซาลาเปาเริ่มจากความชอบสู่เส้นสร้างอาชีพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แต้มศิลปะเพิ่มสีสัน'ซาลาเปา'เริ่มจากความชอบสู่เส้นทางสร้างอาชีพ : คมคิดธุรกิจนิวเจน โดยกุมุทนาถ สุตนพัฒน์

            “ซาลาเปา” อาหารกึ่งขนมที่ใครๆ ก็รู้จัก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามยุคสมัย มีการเพิ่มเติมไส้ให้หลากหลายขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หรือทำให้มีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกันไป รวมทั้งมีการพัฒนาหน้าตาให้สวยงาม สดใส ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค โดยหากพูดถึงความโดดเด่นในด้านนี้แล้ว หนึ่งในนั้นคงต้องยกให้ “แหม่ม ซาลาเปาลาวา” ธุรกิจครอบครัวเล็กๆ จากต่างจังหวัดที่กำลังก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศ

            “กนกลักษณ์ ศรีลา” หรือ โรส ในฐานะผู้จัดการของ “แหม่ม ซาลาเปาลาวา” เล่าให้ฟังว่า เธอเป็นคน จ.นครสวรรค์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี แต่ไม่ได้ชื่นชอบในอาชีพโปรแกรมเมอร์ เพราะรู้สึกว่าเป็นศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีความบันเทิง ต้องอาศัยข้อมูลล้วนๆ ในการทำงาน ไม่มีความสวยงามเข้ามาเกี่ยวข้องสักเท่าไหร่ แต่เมื่อเข้ามาเรียนรู้การทำเว็บไซต์บอกเลยว่าชอบมาก เพราะได้ออกแบบอย่างที่ต้องการ ซึ่งเธอรู้สึกว่าเวลาได้ทำสิ่งสวยๆ งามๆ นั่นคือความสุขที่ได้รับ 

            เดิมครอบครัวของเธอมีอาชีพบรรจุขนมส่งให้แม่ค้าในตลาด และคุณแม่ทำหมูสะเต๊ะขายด้วย จุดพลิกผันมาสู่อาชีพแม่ค้าซาลาเปาเกิดขึ้นเมื่อน้องสาว ซึ่งเรียนคหกรรมศาสตร์ลงมือทำซาลาเปาไส้ลาวามาให้ชิม ครั้งนั้นด้วยความที่เป็นคนต่างจังหวัดจึงไม่เคยรู้จักซาลาเปานี้มาก่อน แต่เมื่อชิมแล้วรู้สึกว่าอร่อยจึงลองทำกินและขายไปด้วย จากนั้นก็คิดว่าอยากลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อให้เป็นธุรกิจของครอบครัว โดยในช่วงแรกทำขายส่งเพื่อนน้องและญาติๆ เป็นแบบผลิตตามคำสั่ง ในสองสัปดาห์แรกปรากฏว่ามีลูกค้ามาถามหาไส้หมูแดง ไส้หมูสับ เพราะคนต่างจังหวัดไม่รู้จักไส้ลาวา เลยขอสูตรซาลาเปาไส้หมูแดงและหมูสับจากคุณพ่อ ซึ่งเมื่อ 50 ปีก่อนก็ขายซาลาเปาอยู่ที่ จ.นครสวรรค์

            โรส บอกว่า คุณพ่อเลยต้องรับหน้าที่สอนให้ลูกๆ ในการทำซาลาเปาแบบดั้งเดิม เมื่อเริ่มขายอย่างจริงจังจึงคิดว่าสูตรที่สืบทอดมาบวกกับไส้ลาลา น่าจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้บ้าง จึงเอาศิลปะมาผสมผสาน เพื่อให้มีความโดดเด่นแปลกตาจากซาลาเปาทั่วไป โดยเริ่มแต่งหน้าซาลาเปายิ้มก่อน เพราะมองว่าจุดเด่นของคนไทยคือรอยยิ้ม เมื่อเจอกันมักยิ้มให้กัน จากนั้นก็มีหน้าอื่นๆ และไส้ใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามา จะเน้นการออกแบบให้น่ารัก เพราะอยากมอบทั้งคุณค่าและรสชาติอร่อยให้แก่ลูกค้า ที่สำคัญอยากให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจตั้งแต่แรกเห็น แค่นี้คนทำก็มีความสุขแล้ว

            เมื่อสร้างสรรค์หน้าตาให้น่ากินแล้ว เรื่องรสชาติก็เป็นสิ่งสำคัญ จึงพยายามทำให้มีความหลากหลายด้วยเช่นกัน เช่น ไส้ลาวาก็มีทั้ง ไข่เค็ม ช็อกโกแลต ชาเขียว ใบเตย โดยจะมีการเปลี่ยนรสชาติใหม่ๆ และหน้าตาไปตามเทศกาลต่างๆ ด้วยเช่นกัน อย่างเทศกาลคริสต์มาส จะปั้นแต่งเป็นซานตาคลอส ถึงเทศกาลกินเจ ต้องปรับเปลี่ยนเป็นรูปผัก หัวไชเท้า แครอท ข้าวโพด รวมทั้งวันวาเลนไทน์ หากลูกค้าต้องการกุหลาบแดงยังสามารถจัดให้ได้ด้วย แม้แต่วันลอยกระทงก็ทำกระทงกุหลาบไปลอยได้จริง

            “แรงบันดาลใจในการออกแบบ มาจากความที่เราชอบกินขนม ผสมกับชอบทำอะไรที่น่ารักๆ ได้ตกแต่งสิ่งสวยๆ งามๆ แค่นี้ก็มีความสุข เมื่อลงมือทำอาหารก็อยากใช้ศิลปะเข้ามาผสมผสาน และเป็นงานที่ทำด้วยมือทั้งหมด ทำให้รู้สึกว่ามีคุณค่ากับคนรับมากกว่าการใช้ของธรรมดาชิ้นหนึ่ง แต่มีอะไรแฝงอยู่มากกว่านั้น อย่างเวลาออกบูธแค่คนชอบ มองว่าน่ารักมาขอถ่ายรูป โดยไม่ซื้อเราก็ดีใจแล้ว บางคนได้ชิมกลับมาซื้ออีกก็ยิ่งมีความสุข”

            ในช่วงเริ่มต้น “ซาลาเปาลาวา” อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่เมื่อโอกาสมาถึงเธอก็รีบฉวยไว้ โดยตอนนั้นไปออกบูธในงานตรุษจีนนครสวรรค์ ซึ่งถือเป็นงานยักษ์ของจังหวัด งานนี้เลยจัดเต็มโชว์บูธสวยงามอลังการเป็นพิเศษ แต่งหน้าซาลาเปาเป็นรูปอาตี๋อาหมวย ลงทุนจัดบูธหมดเงินไป 8 หมื่นบาท แต่ก็คุ้มค่าเพราะมีลูกค้าแวะมาเยี่ยมเยียนเยอะมาก เปิดขาย 5 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม มียอดขายในแต่ละวันอยู่ที่ 800 ลูก เรียกว่าปั้นกันเมื่อย เพราะตอนนั้นยังปั้นกันเอง 

            ครั้งนั้นเองที่เธอได้มีโอกาสโปรโมทซาลาเปาผ่านเคเบิลทีวีช่องหนึ่ง ทำให้คนรู้จักมากขึ้น ทั้งใน จ.นครสวรรค์ และพื้นที่ใกล้เคียง หลังจากนั้นยอดขายจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากวันละ 500 ลูก เป็น 1,000 ลูก ไล่เรียงขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่ 1 หมื่นลูก พอเปิดขายมาได้ปีกว่ามีลูกค้ามาชักชวนให้ทำแฟรนไชส์ ก็คิดว่าแนวคิดนี้น่าจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่ม แต่ต้องศึกษาหาความรู้เรื่องแฟรนไชส์ให้ดีก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมหากต้องการทำธุรกิจในแบบนี้จริงๆ จึงเข้าไปเรียนแฟรนไชส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เป็นเวลา 5 เดือน ซึ่งยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆ การจะเข้าเรียนต้องมีการประเมินกันก่อน และเมื่อจะเรียนจบก็ต้องประเมินกันอีกรอบ

            “การอบรมเป็นการสร้างความรู้ ช่วยให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างมีหลักการและถูกต้อง หากเราจะลงมือทำอะไรก็ต้องศึกษาหาความรู้ก่อน ไม่ใช่ว่าลงมือทำไปเลย ควรเตรียมตัวให้พร้อม เมื่อได้เรียนรู้เราก็สามารถพัฒนาต่อยอด เพิ่มโอกาสทางการค้าได้ จึงมาปรับรูปแบบแฟรนไชส์ใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี ทำให้เหมือนเป็นการสร้างอาชีพให้คนอื่นด้วย ซึ่งเป็นไปตามที่กรมเขาสอนเรา ทำให้เรามีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

            สำหรับการบริหารจัดการนั้น โรสบอกว่าเธอจะรับหน้าที่ฝ่ายการตลาด ส่วนน้องสาวดูแลเรื่องฝ่ายผลิตทั้งหมด ปัจจุบันซาลาเปาลาวามีอยู่ 50 สาขาทั่วประเทศ ส่วนการขายแฟรนไชส์เริ่มต้นที่ราคา 5,900 บาท แต่ถ้าราคาสูงขึ้นเป็น 15,900 บาท จะมีเคาน์เตอร์ให้ และราคา 35,900 บาท มาพร้อมเคาน์เตอร์และตู้อุ่นสินค้า ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์จะมีทั้งต้องการทำเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม โดยบางคนทำแล้วรายได้ดีกว่าอาชีพหลักที่เคยทำ ก็ลาออกจากงานประจำมาขายซาลาเปาก็มี 

            ทั้งนี้ การลงทุนราคาเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าเอง เช่น บางคนมีร้านอยู่แล้วไม่ต้องการเคาน์เตอร์กาแฟ หรือร้านกาแฟที่ต้องการขายซาลาเปาเสริมก็ปรับเป็นชุดเล็ก ส่วนซาลาเปาจะขายปลีกลูกละ 20 บาท และขายส่งลูกละ 10 บาท เพราะเธอมองว่า หากลูกค้าได้กำไรเยอะก็จะทำให้สินค้าออกจากร้านได้เร็วขายหมดเร็ว

            “หัวใจสำคัญของเราคือ การผสมผสานงานฝีมือเข้าไป และการผลิตต้องได้มาตรฐาน มีใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา หรือ อย. ตอนนี้กำลังปรับทำให้ได้หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร หรือ จีเอ็มพี โดยสินค้าเราจะไม่ใส่สารกันบูด เพราะเป็นเรื่องอาหารต้องทำให้ถูกสุขลักษณะ แม้โรงงานที่นครสวรรค์จะยังไม่ใหญ่โตมีคนงานเพียง 12 คนก็ตาม”

            เมื่อถามถึงก้าวต่อไปของซาลาเปาลาวา โรส บอกว่า ภายในปีนี้จะผลิตเพื่อส่งออกไปยังประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพราะเชื่อว่าสินค้าที่ผลิตออกมาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีพอที่จะแข่งขันได้ โดยมีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นที่ปรึกษา ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อก้าวเข้าสู่เวทีระดับอาเซียนต้องมีการพัฒนาระบบให้ดีได้รับจีเอ็มพีเสียก่อน แต่จากการชิมลางไปออกบูธที่เพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ และลาว ก็มีลูกค้าให้ความสนใจพอสมควร โดยสินค้าที่จะส่งออกก็มีการพัฒนาเพิ่มเติม เช่น นำหมั่นโถวมาปั้นแต่งเป็นดอกกุหลาบด้วยฝีมือบวกศิลปะ

            นอกจากนี้ ในเร็วๆ จะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ต่อยอดจากสินค้าเกษตรในบ้านเราที่มีจนล้นตลาดนำมาเพิ่มมูลค่า ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นหลังจากมีเกษตรกรเข้ามาหารือว่า พืชผลขายไม่หมดเหลือทิ้ง แถมราคาก็ไม่ค่อยดีนัก เธอจึงอยากช่วยเหลือ เพราะพืชผลเหล่านั้นมีคุณค่าทางโภชนาการ และเป็นผลผลิตในจังหวัดบ้านเกิด รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียง โดยจะเป็นสินค้าแนวเพื่อสุขภาพตามกระแสนิยม ขั้นตอนขณะนี้ถือว่าคืบหน้ามากแล้ว มีการวิจัยส่วนผสมต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนลวดลายจะยังคงรูปแบบการ์ตูนน่ารักๆ ไว้เหมือนเดิม แม้ช่วงที่ผ่านมาจะเคยลองทำลวดลายอื่นออกมาบ้าง แต่ก็คิดว่าไม่ใช่เอกลักษณ์ของร้าน สำหรับลูกค้ามองว่าจะเป็นคนกลุ่มกับสินค้าซาลาเปาที่เน้นเด็กและวัยรุ่น 

            “แม้เราจะเริ่มต้นจากร้านเล็กๆ แต่ถ้ามีความอดทน มุมานะ ค่อยๆ ทำไปธุรกิจของเราก็เติบโตได้ แต่เราต้องเรียนรู้ ปรับกลยุทธ์ ฟังเสียงลูกค้าด้วย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ต้องปรับกลยุทธ์เยอะทีเดียว ปรับตามช่วงเวลา เพราะแต่ละช่วงเป็นการบริโภคตามเทศกาลตามกระแส แต่ต้องไม่ทิ้งแนวคิดเดิม ไม่ทิ้งเป้าหมาย ยึดมั่นเรื่องสุขลักษณะ เรื่องหน้าตารูปลักษณ์ ดูทุกรายละเอียดที่เป็นอาหาร ถึงวันนี้ก็ยังอยากทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ มีการพัฒนาไปอย่างไม่สิ้นสุด” โรส กล่าวทิ้งท้าย

            เรียนรู้ต่อยอดช่วยพัฒนาธุรกิจ

            กนกลักษณ์ ศรีลา หรือ โรส เชื่อว่า ไม่ว่าการจะลงมือทำสิ่งใด โดยเฉพาะการทำธุรกิจต้องมีความรู้ในสิ่งนั้น หากไม่รู้แต่ต้องการทำก็ต้องใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม ไม่เช่นนั้นความไม่รู้จริงจะทำให้ทั้งตัวเองและผู้ร่วมทำธุรกิจได้รับความเสียหายได้ อย่างตัวเธอนั้น ในช่วงแรกไม่รู้เรื่องการทำธุรกิจเลย เพราะเรียนมาคนสายงาน แต่เมื่อคิดเริ่มต้นจึงต้องเรียนรู้ตั้งแต่การทำซาลาเปาแบบดั้งเดิมจากคุณพ่อ และโชคดีที่น้องสาวร่ำเรียนมาทางด้านคหกรรมมีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่องเกี่ยวกับอาหารอยู่แล้ว เลยทำให้การเริ่มต้นไม่ต้องเริ่มจากศูนย์เสียทีเดียว

            อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดทำธุรกิจอย่างจริงจังมากกว่าการเปิดร้านซาลาเปาเล็กๆ ก้าวเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์เธอก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติม โดยเข้าอบรมกับหน่วยงานที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะอย่างเช่นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าไม่จำเป็น แต่เธอบอกว่า การทำไปแบบไม่รู้หลักการ ลองผิดลองถูก จะทำให้ปัญหาตามมามากมาย และการไปอบรมในครั้งนั้นก็ทำให้ได้เปิดโลกแห่งการเรียนรู้เพิ่มเติม ได้พบว่ามีเรื่องราว ขั้นตอนมากมายที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน ถือว่าเป็นการปูทางให้เธอสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ มีแบบแผน และมีเป้าหมาย

            “นอกเหนือจากความรู้ที่ได้จากการอบรมแล้ว เรายังได้เพื่อนที่ทำธุรกิจ มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ช่วยกันทำกิจกรรม เจอปัญหาก็ช่วยกันแชร์ หน่วยงานภาครัฐก็สนับสนุนให้ความรู้ ทำให้เราสามารถนำมาต่อยอดมาตรฐานแฟรนไชส์ จนสามารถที่จะขยายไปนอกประเทศได้ สอนเทคนิคต่างๆ พอเรามีความรู้มากขึ้น ต่อยอดธุรกิจได้มากขึ้น หน่วยงานรัฐยังช่วยเปิดโอกาสทั้งด้านการตลาดและโรงงานผลิตด้วย”

            โรส บอกว่า การใช้เครื่องจักรเข้ามาแทนแรงงานคนแม้ความรู้สึกจะไม่เหมือนปั้นเองกับมือ แต่ในแง่ของการผลิตแล้วถือว่ามีประสิทธิภาพกว่าแน่นอน จากที่เคยขายไม่เกินวันละ 5 หมื่นบาท สามารถผลิตได้เป็นหมื่นลูกต่อวัน จากที่เคยมีปัญหาสินค้าไม่เพียงพอส่งให้ลูกค้าก็หมดไป รวมทั้งเรื่องเครดิตกับสถาบันการเงินก็ง่ายขึ้น เพราะคนที่เริ่มต้นทำธุรกิจการกู้เงินจากธนาคารนั้นยากมาก

            สำหรับเป้าหมายในการพัฒนาจนถึงจุดนีี้เรียกได้ว่า “พอใจ” แล้ว แต่แน่นอนว่าเธอคงไม่หยุดอยู่แค่นี้ ยังมีก้าวต่อไปที่ต้องพัฒนาไปทีละขั้นอาจจะไม่รวดเร็ว เพราะเน้นความมั่นคง ตอนนี้เป็นปีที่ 3 หวังว่าจะขยายสาขาให้ได้ 100 สาขา และปีหน้าอีก 100 สาขา ก่อนจะค่อยๆ โกอินเตอร์ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ