ข่าว

นำเทคโนโลยีสู่'เกษตรแมนยำ'แนวคิดสไตล์'วรชัย มโนมัธย์'

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นำเทคโนโลยีสู่'เกษตรแมนยำ'แนวคิดสไตล์'วรชัย มโนมัธย์' :  คมคิดธุรกิจนิวเจน  โดยดลมนัส กาเจ

           จากการที่ “วรชัย มโนมัธย์” กรรมการผู้จัดการบริษัท ธาอัส จำกัด เกิดมาในครอบครัวที่อยู่ในแวดวงนักวิชาการเกษตร ผสมผสานกับที่ตัวเองเคยรับราชการในกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประสบการณ์ในการเรียนมหาบัณฑิตด้านการเกษตรในต่างประเทศ (อังกฤษ) ทำให้เขามองว่า ประเทศไทยซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรม แต่ภาคการเกษตรของไทยยังล้าหลังในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ จึงทำให้ภาคการผลิตยังมีต้นทุนสูง ได้ผลผลิตไม่เต็มที่ และขาดความแม่นยำ ต่างกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ประเทศในแถบยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน และเกาหลีใต้ เป็นต้น

           ในที่สุดเขาตัดสินใจลงทุนกว่า 10 ล้านบาท ตั้งบริษัท ธาอัส จำกัด ตั้งอยู่ย่านซอยคุณวิเวียน ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้าอุปกรณ์สำหรับการเกษตรแม่นยำประกอบด้วยเครื่องบอกตำแหน่งและพิกัดของพื้นเป้าหมายทางการเกษตร หรือจีพีเอส เครื่องวัดระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์เพื่อเก็บข้อมูล และบอกตำแหน่งในพื้นที่กว้างสำหรับแปลงเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ หรือจีไอเอส ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านสัญญาณดาวเทียม สำหรับติดตั้งบนเครื่องจักรกลการเกษตร โดยเฉพาะรถแทรกเตอร์

           ล่าสุดได้นำเครื่องเลเซอร์สำหรับปรับพื้นที่การเกษตรให้เสมออยู่ในระดับเดียวกันทั้งแปลง มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา พร้อมออกแบบและผลิตอุปกรณ์การเกษตรที่เหมาะกับสภาพของประเทศไทย อาทิ อุปกรณ์ปรับหน้าดินจำพวกใบมีดลากหลังของรถแทรกเตอร์ เป็นต้น จากที่ก่อนหน้านี้ได้ลงทุนสร้างห้องแล็บเฉพาะทางสำหรับตรวจดิน ใบพืชสด น้ำ เพื่อดูคุณสมบัติการใช้ธาตุอาหารของพืชในดินที่พืชต้องการ เพื่อนำไปสู่การใช้ปุ๋ยสั่งตัด ในนามบริษัท ครอป เทค เอเซีย จำกัด โดยทดลองใช้กับไร่มันสำปะหลังของตัวเองด้วย ในพื้นที่ 800 ไร่

           วรชัยบอกว่า ที่จริงอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่สำหรับวงการเกษตร แต่มีใช้ในประเทศที่พัฒนามาเป็นสิบๆ ปีแล้ว แต่ภาคการเกษตรในประเทศเราไม่มีนำมาใช้ หรืออาจใช้บ้างแต่น้อยมาก จึงมองว่าปัจจุบันนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ มีความชัดเจนที่จะขับเคลื่อนนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ ขณะที่ภาคการเกษตรในประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ถ้าไม่นำเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานคนการขับเคลื่อนภาคการเกษตรค่อนข้างลำบาก จึงตัดสินใจนำเข้าเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่อุปกรณ์ที่จะใช้จะเป็นผู้ออกแบบและผลิตเอง

           กระนั้นวรชัยยอมรับว่า การที่จะนำของใหม่เข้ามาโดยที่คนอื่นยังไม่ได้ใช้มาก่อน ไม่ใช่เครื่องง่ายเลยสำหรับการเจาะตลาด เบื้องต้นจึงตั้งเป้าหมายลูกค้าคือบริษัทที่ดำเนินกิจการเกษตรแปลงใหญ่ อาทิ บริษัทปลูกอ้อย ผลิตน้ำตาล ไร่มันสำปะหลัง พร้อมประสานกับผู้นำเข้า และผู้ผลิตอุปกรณ์การเกษตร เพื่อเป็นต้นแบบในการติดตั้งเครื่องจีพีเอสและจีไอเอสในเครื่องเดียวกัน

           “การที่เรานำสิ่งใหม่ๆ เข้ามา ปีแรกก็ลำบาก เพราะคนไทยเราไม่เข้าใจ อย่างเปิดแล็บ วิเคราะห์ดิน เกษตรกรก็ถามว่าทำไมต้องมาวิเคราะห์ถึงขนาดนั้น เราต้องทำให้เขาดู ต้องหาแปลงทดลอง หรือต้องไปส่งเสริมเกษตรกรในรูปแบบของคอนแทร็กฟาร์ม หรือเกษตรพันธสัญญา พอได้ผลออกมาให้เห็น ว่าประหยัดจริงเขาจึงจะเชื่อ อย่างพื้นที่บางแห่งขาดธาตุอาหารอะไรก็ใช้เฉพาะที่ขาด ไม่ใช่ว่าใช้ปุ๋ยทุกอย่าง ทำให้เปลืองเงิน แต่พืชที่ปลูกไม่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะไนโตรเจนที่เกษตรกรชอบกันใส่มาก สุดท้ายใบดก ผลผลิตน้อย แถมแมลงมากัดกินใบจนกลายเป็นโรคระบาด เราต้องทำให้ดูเขาจึงจะเชื่อ” วรชัย อธิบาย

           หลังจากดำเนินการไปกว่า 4 ปี วรชัยยืนยันว่าสามารถพิสูจน์ได้ว่า การติดตั้งระบบจีพีเอสที่ควบคู่ไปกับจีไอเอส เครื่องจักรสามารถปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง หลังจากที่ผ่านมาเกษตรกรหรือคนงานในฟาร์มจะทำงานได้เฉพาะกลางวันเท่านั้น เพราะระบบจีพีเอสสามารถควบคุมการทำงานของเครื่องจักรกลการเกษตรได้อย่างแม่นยำ วิ่งไปในแนวร่องเดียวกัน และสามารถปลูกจากเดิมที่ครั้งละ 1 แถว แต่ออกแบบอุปกรณ์ใหม่ที่สามารถปลูกครั้ง 3-5 แถว โดยใช้ระบบจีพีเอส จะควบคุมการทำงานแทนคนทุกอย่าง โดยเฉพาะเส้นทางวิ่งได้สม่ำเสมอ ขณะที่เครื่องจีไอเอสจะเป็นตัวที่เก็บข้อมูลในแปลงทั้งหมด ไม่ว่าให้ปุ๋ย น้ำ ไปเท่าไร เมื่อไร ตรงนี้ที่ทำให้เจ้าของฟาร์มสามารถประหยัดทั้งต้นทุนและเวลาด้วย

           เนื่องจากอุปกรณ์ต่างๆ ราคายังสูง ทำให้กลุ่มค้าของบริษัท ธาอัส จำกัด ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรรายใหญ่ โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาล โรงงานแปรรูปแป้งมันสำปะหลัง ที่นำไปใช้ในแปลงของบริษัท และสนับสนุนลูกไร่ และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นการรับจ้างในการปรับพื้นที่ รวมถึงการเพาะปลูก และเก็บเกี่ยว ให้แก่เกษตรกรรายขนาดกลาง และรายย่อย และอีกส่วนหนึ่งตลาดที่น่าสนใจคือประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมาร์ เนื่องจากเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาด้านการเกษตรและมีนักลงทุนไปทำเกษตรแปลงใหญ่จำนวนมาก ขณะที่เกษตรกรชาวพม่าเองอยู่ในขั้นกำลังเริ่มต้น ยังไม่ดื้อ ไม่มีสิ่งเก่าๆปลูกฝัง สามารถที่จะแนะนำอะไรก็ง่ายกว่าอีกด้วย

           ส่วนเครื่องเลเซอร์ที่ใช้สำหรับปรับพื้นที่ให้เสมอนั้น ถือเป็นเครื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ที่ยังอยู่ในขั้นตอนร่วมกับภาครัฐ-เอกชน-เกษตรกร โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร ทดลองนำร่องในนาข้าวแปลงใหญ่ ภายใต้นโยบายประชารัฐ โดยมีเกษตรกรที่ร่วมโครงการให้พื้นที่นาข้าวหลายแห่งในภาคกลาง อาทิ ชัยนาท นครสวรรค์ โดยระบบเลเซอร์จะยิงแสงชี้พิกัดว่านาข้าวแต่ละจุดมีที่ลุ่ม ดอน จุดใดบ้าง จากนั้นเครื่องจักรกลเกษตรจะใช้อุปกรณ์ที่วรชัยออกแบบ ไปปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบอัตโนมัติ ที่ทำให้สภาพดินเสมอได้ทุกจุดเท่ากันหมด และจากการที่ได้ดำเนินการบางส่วนทำให้เกษตรกรพอใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากการปรับเพียงครั้งเดียวสามารถอยู่นานถึง 10 ปี คาดว่าเครื่องชุดนี้จะออกสู่ตลาดอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้

           “เกษตรเป็นวิทยาศาสตร์ 100% ผมว่าถึงเวลาแล้วที่ภาคเกษตรในบ้านเราต้องหันมาใช้เทคโนโลยี มิฉะนั้นการพัฒนาภาคการเกษตรของเราจะล้าหลัง เพราะหลายประเทศเขาไปไกลแล้ว อย่างระบบเลเซอร์เวียดนามใช้แล้ว ผมไปดูงานที่เวียดนาม คนเวียดนามไม่เชื่อว่าเราไม่มีเครื่องประเภทนี้ใช้ในพื้นที่การเกษตร เพราะเวียดนามมองเราว่า ภาคการเกษตรพัฒนาไปไกลแล้ว ถ้าเราไม่เริ่มต้นวันนี้ ต่อไปเราอาจกลายเป็นประเทศที่ล้าหลัง ที่สำคัญทุกวันนี้บ้านเรากำลังประสบปัญหาด้านแรงงาน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่เพียงแต่จะแทนแรงงานอย่างเดียว หากแต่สามารถช่วยประหยัดต้นทุนได้อีกด้วย”

           “วรชัย มโนมัธย์” นับเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่มองถึงความสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเสนอ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการรวมถึงเกษตรกรที่จะนำไปใช้ในแปลงเพาะปลูกของตนเองในอนาคต

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ